สมัยตอนที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ยังเป็นเด็กอายุเพียง 9 ขวบ เขามักจะไปนั่งเล่นหน้าบ้านของ บ๊อบ รัสเซลล์ เพื่อนสนิทอยู่เป็นประจำ นั่งนับรถที่ผ่านไปผ่านมา จดทะเบียนรถทำเป็นสถิติ บางทีเพื่อนของเขาก็จะลองทดสอบพูดชื่อเมืองแล้วให้บัฟเฟตต์บอกตัวเลขประชากร ซึ่งเขาก็ตอบได้ไม่เคยพลาด

บัฟเฟตต์หลงใหลเรื่องตัวเลข การเงิน และการทำธุรกิจมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

บางวันก็จะเดินไปยังปั๊มน้ำมันที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเพื่อเก็บฝาขวดน้ำอัดลมมานั่งนับ ฝาโค้กกี่ฝา? ฝารูตเบียร์กี่ฝา? หรือ ฝาออเรนจ์ครัชกี่ฝา? เพราะอยากรู้ว่าแบรนด์ไหนขายดีที่สุดและน่าสนใจ

คุณแม่ของเพื่อนเขาเล่าย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์หนึ่งหลายสิบปีก่อนเอาไว้ในหนังสือ "Buffett อภิมหาเศรษฐีใจบุญ" ว่า เย็นวันนั้นขณะที่บัฟเฟตต์นั่งอยู่บนชิงช้าหน้าบ้านกับเพื่อน นั่งมองรถที่วิ่งผ่านไปมาบนท้องถนน บัฟเฟตต์ในวัยเพียง 9 ขวบพูดกับเธอว่า

“ผู้คนสัญจรเยอะขนาดนั้น น่าเสียดายเหลือเกินที่คุณไม่อาจทำเงินสร้างรายได้จากคนผ่านหน้าบ้านของคุณ น่าเสียดายเหลือเกินนะ คุณนายรัสเซลล์”

เหมือนว่าบัฟเฟตต์ในวัย 9 ขวบกำลังมองหาวิธีสร้างธุรกิจ ‘สะพานเชื่อม’ ที่ต้องจ่ายค่าผ่านทาง (Toll-Bridge) ยังไงยังงั้นเลย

ถึงแม้ว่าในตอนนั้นบัฟเฟตต์จะไม่ได้สร้างด่านเก็บเงินขึ้นมาจริงๆ แต่เขานำแนวคิดมาใช้ในการ ‘เลือกธุรกิจ’ ที่จะลงทุนตอนที่โตขึ้นจนกลายเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

แมรี บัฟเฟตต์ (Mary Buffett) อดีตลูกสะใภ้ของบัฟเฟตต์และผู้เขียนหนังสือ Buffettology อธิบายไว้ในหนังสือว่าบัฟเฟตต์มองหาธุรกิจชั้นเลิศที่เปรียบเสมือนเจ้าของ ‘สะพานเชื่อม’ แบบนี้อยู่ 3 ประเภท

1. ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งมีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง เป็นแรงดึงดูด และบรรดาผู้ขายต่างก็ต้องมีไว้เพื่อจำหน่าย

ร้านค้าทั่วไป (ไม่ว่าจะซูเปอร์มาร์เก็ต, โชห่วย, ร้านสะดวกซื้อ หรือ ร้านค้าท้องถิ่น) สร้างกำไรจากการขายสินค้าด้วยการซื้อมาถูกแล้วขายในราคาที่สูงขึ้น ทำกำไรจากส่วนต่างตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องซื้อสินค้าจากผู้ผลิต (ยกตัวอย่างโคคา-โคล่า) มาในราคาที่ต่ำที่สุด แล้วขายในราคาที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในกรณีที่มีผู้ผลิตเยอะ มากมายหลายแบรนด์และทดแทนกันได้อย่างไม่แตกต่าง ร้านค้าเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้ขายก็สามารถเลือกได้เลยว่าสินค้าจากผู้ผลิตเจ้าไหนที่ราคาต่ำสุด ความได้เปรียบก็จะไปตกอยู่ที่คนขาย

แต่ถ้าสินค้านั้นมีผู้ผลิตไม่กี่เจ้า และผู้ผลิตบางเจ้าคือคนที่ครองตลาดอย่างแข็งแกร่งอย่างเห็นได้ชัด ผู้ขายต้องยอมซื้อตามราคาที่ผู้ผลิตกำหนด ความได้เปรียบในการกำหนดราคาจึงไปอยู่กับผู้ผลิต นั่นหมายความว่าอัตรากำไรที่สูงขึ้นสำหรับผู้ผลิตด้วย (Apple ก็ถือว่าเข้าอยู่ในหมวดนี้เช่นกัน)

บัฟเฟตต์เคยให้สัมภาษณ์ตอนที่เขาเข้าซื้อหุ้นของบริษัท Moody’s ว่า

“และโดยพื้นฐานแล้ว การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวในการประเมินธุรกิจคืออำนาจในการกำหนดราคา หากคุณมีอำนาจที่จะขึ้นราคาโดยไม่สูญเสียธุรกิจให้กับคู่แข่ง แสดงว่าคุณมีธุรกิจที่ดีมาก และถ้าคุณต้องสวดมนต์ก่อนที่จะขึ้นราคาสัก 1/10 ของเซนต์ แสดงว่าคุณมีธุรกิจที่แย่มาก ผมเคยถือทั้งสองแบบแล้วและรู้ถึงความแตกต่างดีเลย”

ผู้ขายหลายๆ รายอาจจะแข่งกันลดราคา แต่นั่นไม่ได้กระทบกับผู้ผลิตที่แข็งแกร่ง เพราะผู้ผลิตก็ยังขายสินค้าให้ผู้ขายแต่ละคนในราคาเดิมอยู่

นี่คือธุรกิจสะพานเชื่อมประเภทหนึ่ง สามารถกำหนดราคาสินค้าของตัวเองได้ ผู้ขายต้องการ เพราะผู้บริโภคต้องการ ถ้าอยากได้กำไรก็ต้องหาสินค้าแบบนี้มาขาย ผู้ขายในที่นี้ก็เหมือนคนที่เก็บค่าผ่านทางให้กับผู้ผลิตนั่นเอง (ในหนังสือยังยกตัวอย่าง McDonald’s ด้วยเช่นกัน)

2. ธุรกิจสื่อสารมวลชนที่บรรดาผู้ผลิตก็ต้องใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจกลุ่มผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าของพวกเขา

ไม่ว่ายุคสมัยไหนผู้ผลิตต้องโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการของพวกเขาไปสู่ลูกค้า

ในสมัยก่อนอาจจะเป็นการทำผ่านสื่อหลักๆ อย่างวิทยุ โทรทัศน์ หรือ หนังสือพิมพ์

แต่สมัยนี้การโฆษณานั้นมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นและเฉพาะเจาะจงกลุ่มลูกค้าของตัวเองมากขึ้นด้วย สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว “โฆษณา” ก็เหมือนกับสะพานเชื่อมระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต ผู้ผลิตจำเป็นต้องโฆษณาเพื่อให้สามารถสร้างความต้องการให้กับสินค้าของตัวเอง

เป็นธุรกิจสะพานเชื่อมด้วยการโฆษณา (Advertising Toll Bridge) นั่นเอง ซึ่งทำกำไรให้กับบริษัทโฆษณารวมทั้งเครือข่ายโทรคมนาคมต่างๆ ด้วย

ในสมัยก่อนที่โทรทัศน์ยังมีเพียงแค่ 3 สถานี แต่ละสถานีก็กำไรมหาศาล เพราะใครๆ ก็อยากมาลงโฆษณาเก็บค่าผ่านทางได้สบาย บัฟเฟตต์ก็เคยซื้อหุ้นของ Capital Cities และ ABC ด้วย แต่ภายหลังมาก็ขาย เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น กำไรของบริษัทเหล่าก็หดหายไปด้วย

แน่นอนว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป สื่อเองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่เราก็จะเห็นว่าบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยโฆษณาเจ้าใหญ่ๆ ในเวลานี้อย่าง Google หรือ Facebook ล้วนสร้างกำไรได้มหาศาลขนาดไหน (แม้บัฟเฟตต์จะไม่ได้ถือหุ้นของสองตัวนี้ก็ตาม อาจจะเพราะมันยังมีธุรกิจส่วนอื่นที่ไม่ใช่โฆษณาและซับซ้อนมากกว่าในนั้นด้วยก็ได้)

3. ธุรกิจที่ให้บริการซึ่งเป็นที่ต้องการอยู่เสมอในหมู่ผู้บริโภค ทั้งที่เป็นบุคคลและภาคธุรกิจ ซึ่งต่างก็ต้องใช้บริการอยู่เป็นประจำ

ในหนังสืออธิบายว่าธุรกิจสะพานเชื่อมแบบนี้คือบริการที่จำเป็นไม่ว่าจะสำหรับบุคคลหรือธุรกิจ ทำงานที่เฉพาะเจาะจงเช่นบริษัทอย่าง Service Master ที่ให้บริการกำจัดแมลง ทำความสะอาด แม่บ้าน ดูแลสวน หรืออย่างบริษัท Rollins ที่ให้บริการจัดหารักษาความปลอดภัยตามบ้านหรือสำนักงาน

นอกจากนั้นแล้วยังมีหุ้นในดวงใจอีกตัวของบัฟเฟตต์ที่อยู่ในหมวดนี้ด้วยอย่าง American Express ที่ทุกครั้งเวลาลูกค้าใช้บัตรเครดิตเหล่านี้ บริษัทก็จะได้ค่าธรรมเนียมหรือค่าผ่านทางอยู่เสมอและถ้าค้างจ่ายก็จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอีก

แม้จะเป็นจำนวนเงินเล็กน้อยในแต่ละครั้ง แต่พอรวมๆ กันแล้วก็เยอะมาก

การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นน้อยมากๆ ในธุรกิจกลุ่มนี้ กำไรที่ได้มาก็จะเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถนำไปขยายการดำเนินงานหรือจ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืนได้ด้วย

สรุป

วิธีการเฟ้นหาธุรกิจ/บริษัทสะพานเชื่อมชั้นยอดที่หนังสือแนะนำคือแทนที่จะอ่านหนังสือแนะนำหุ้น ให้ไปยืนหน้าร้านซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วก็พยายามนึกชื่อสินค้ายี่ห้อที่ทุกร้านจะต้องมีไว้เผื่อขายให้กับลูกค้า

หลังจากนั้นก็เอารายชื่อสินค้าเหล่านั้นที่นึกได้มานั่งทบทวนดูอัตราผลตอบแทน ผลกำไร ไปดูงบการเงินของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของตลาด อย่าลืมพวกบริษัทโฆษณาหรือบริการต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย

บางทีคุณอาจจะพอกับสะพานเชื่อมที่สามารถเก็บเงินค่าผ่านทางได้จนร่ำรวยเหมือนอย่างบัฟเฟตต์ก็ได้นะครับ