ถ้าใครรู้จักวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ก็น่าจะรู้จัก ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) คู่หูนักลงทุนคนสนิทด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งคู่เป็นมหาเศรษฐีและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ อยู่ในตลาดหุ้นมานานหลายสิบปี ผ่านร้อนหนาวมาแล้วแทบจะเรียกว่าทุกรูปแบบ

มังเกอร์ (ที่เสียชีวิตด้วยวัย 99 ปี) เคยพูดเอาไว้ว่า

“ชีวิตในบางส่วนก็เหมือนการเล่นเกมโป๊กเกอร์ ที่บางครั้งคุณต้องเรียนรู้ที่จะถอยแม้จะถือไพ่ในมือดีแค่ไหน คุณต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความผิดพลาดและความจริงใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น”

ประเด็นที่เขามักจะพูดเสมอคือความอดทนในการลงทุน และความสำคัญของการลงทุนอย่างฉลาดคือรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะถอยออกไปจากตลาดก่อน เป็นปรัชญาการลงทุนที่พยายามป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ที่ถืออยู่ ไม่เสี่ยงมากเกินไปโดยไม่จำเป็นในสถานการณ์ที่ยังไม่เหมาะสม เขาเคยกล่าวว่า

“เราได้รับประโยชน์ในระยะยาวอย่างน่าเหลือ โดยไม่ต้องพยายามเป็นคนฉลาดมากนัก แค่พยายามไม่โง่บ่อย ๆ ก็พอ”

ประโยคนี้ทำให้เห็นแนวคิดที่สำคัญในการลงทุนของมังเกอร์ได้เป็นอย่างดี คนที่พยายามฉลาดมักจะมองหาหนทางที่ซ่อนอยู่เพื่อสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้มากขึ้น แต่มันก็ไม่ได้หมายความพยายามเป็นคนฉลาดจะสร้างผลตอบแทนที่ดีเสมอไป บางครั้งก็เป็นการลงทุนที่ผิดพลาด ซึ่งพอพลาดบ่อย ๆ นั่นก็จะส่งผลเสียต่อทรัพย์สินของเราด้วย

อีกอย่างหนึ่งคือเราต้องมองการลงทุนเป็นเรื่องของระยะยาว และถ้าเราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการลงทุนหรือมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการคัดเลือกหุ้น การจะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในระยะยาวเหมือนมังเกอร์หรือบัฟเฟตต์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ดูอย่างเหตุการณ์ของ STARK ในบ้านเราที่เคยเป็นหุ้นมูลค่าหลักหมื่นล้าน ด้วยงบการเงินหรือตัวเลขแล้วหน้ากระดาษเป็นบริษัทที่น่าลงทุน แต่สุดท้ายก็มีเรื่องการตบแต่งงบบัญชีเข้ามา ทำให้เกิดความเสียหายให้นักลงทุนมากมายเช่นกัน

(หรือกรณีคลาสสิกของต่างประเทศอย่างของ Enron ก็มีความคล้ายคลึงกัน)

ความผิดพลาดในการลงทุนที่แย่ ๆ เพียงไม่กี่ครั้งอาจจะทำให้แผนการเงินที่เราวางเอาไว้ล้มไปเลยก็ได้ แค่คิดดูว่าเอาเงินไปทุ่มกับ STARK หรือหุ้นเพียงไม่กี่ตัวที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คิด เงินที่อุตส่าห์หามาได้อาจจะหายไปหมดเลย

การเลือกหุ้นแบบรายตัว ลงทุนในคริปโตฯ หรืออะไรก็ตามที่เป็นการลงทุนแบบเชิงรุก (Active Investing) คนกลุ่มนี้จะคิดว่าถ้าเลือกหุ้นได้ดี หาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดได้ ก็จะเอาชนะตลาดได้ กล้าเสี่ยงเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่เยอะขึ้น บางคนก็ทำได้จริง (แต่ก็ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ) และ หลายต่อหลายคนก็ล้มหายตายจากไประหว่างทาง

เราต้องถามตัวเองด้วยว่าเรารู้ไหมว่ากำลังทำอะไรอยู่?​ ลงทุนในบริษัทนี้เพราะอะไร? หรือแค่ทำเพราะคนนั้นคนนี้ในกลุ่มลับต่าง ๆ บอกมา? สิ่งที่เราลงทุนเป็นอะไรที่มีมูลค่าแบบยั่งยืนรึเปล่า? หรือเป็นแค่กระแสที่ผ่านมาวูบวาบแล้วก็ผ่านไป?

เราทุกคนอยากจะร่ำรวยทั้งสิ้น ไม่มีใครเข้ามาในตลาดหุ้นหรือลงทุนแล้วคิดว่า “โอ้ววว...วันนี้จะเอาเงินไปละลายกับอะไรดี?” มันไม่มีครับ เราทุกคนอยากเป็นผู้ชนะ อยากมีเงินกันทั้งสิ้น แต่การลงทุนเชิงรุกเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ในการประสบความสำเร็จ

เพราะมันอาศัยความรู้ ความมีวินัย ต้องทุ่มเทเวลาอย่างมากในการศึกษาอย่างจริงจัง ติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา คอยตรวจสอบผู้บริหาร งบการเงิน หรือแนวทางการลงทุนของธุรกิจแต่ละบริษัทที่ไปลงทุน ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจเป็นยังไง ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนทำได้ (หรืออยากทำ) ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นการลงทุนแบบเชิงรับ (Passive Investing) ที่ลงทุนในกองทุนรวมดัชนีหรือกองทุนรวมหุ้น อย่าง ETFs พวกนี้ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเรายังอยู่ในตลาดแต่ไม่กินเวลาชีวิตมากจนเกินไป

บัฟเฟตต์กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งสำหรับคนที่อยากลงทุนแล้วยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินหรือการลงทุนมากนัก ก็แนะนำว่าลงทุนในกองทุนรวมดัชนีก็สร้างผลตอบแทนที่ดีได้

ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 1993 บัฟเฟตต์บอกว่า

“ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนในกองทุนรวมดัชนี นักลงทุนที่ไม่รู้อะไรเลยสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีมากกว่านักลงทุนมืออาชีพซะอีก มันดูย้อนแย้ง แต่เมื่อ ‘เงินโง่ๆ’ รู้ว่าขอบเขตมันอยู่ตรงไหน มันก็ไม่โง่อีกต่อไป”

ในหนังสือ “The Little Book of Common Sense Investing” ที่วางขายในปี 2007 บัฟเฟตต์ก็บอกว่า

“กองทุนรวมดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำเป็นการลงทุนในตราสารทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่”

ซึ่งเขาก็เน้นย้ำอีกทีในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2020 ว่า

“ในมุมมองของผมแล้วสำหรับคนส่วนใหญ่ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือการเป็นเจ้าของกองทุนดัชนี S&P 500”

แน่นอนไม่ได้หมายความว่าบัฟเฟตต์จะไม่เห็นด้วยกับการลงทุนแบบเชิงรุก เพียงแต่เขามองว่าสำหรับคนทั่วไปแล้วการลงทุนแบบเชิงรุกนั้นอาจจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่เราจะไม่ลงทุนเลยก็ไม่ได้ เงินเฟ้อทำให้การฝากเงินไว้ในธนาคารจะทำให้มูลค่ามันลดลงเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำในฐานะนักลงทุนทั่วไปคือ

1. เลือกกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับเรา อาจจะลองมองหากองทุนดัชนีที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวเป็นที่น่าพอใจ อาจจะเป็นกองทุนรวมดัชนีตลาดหุ้นต่างชาติก็ได้ถ้ามองว่าตลาดของไทยยังไม่น่าสนใจ
2. อดทนรอ ต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อยู่เฉยให้ได้ อยู่นิ่งให้เป็น แม้ตลาดจะหวือหวาหรือบางทีดูน่าหอมหวานแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรตามตลาดหรือคนรอบข้าง

ลองปรับมุมมองว่าการลงทุนเป็นเส้นทางสู่ช่วงวัยเกษียณที่เราจะมีเงินใช้ได้อย่างไม่ขัดสน ใช้ชีวิตโดยไม่ลำบากมาก แทนที่จะเป็นเครื่องมือการสร้างรายได้มหาศาล มังเกอร์บอกว่า

“การรอให้เป็นนี่แหละที่จะช่วยคุณในฐานะนักลงทุน และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะทนรอได้”

อย่างที่บอกครับว่าการลงทุนต้องมองในระยะยาว การเลือกเส้นทางที่ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยไม่หวือหวาแต่มั่นคงจะสร้างความมั่งคั่งในชีวิตที่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าดูแค่วันนี้พรุ่งนี้ มันอาจจะขึ้นบ้าง ลงบ้างไม่เป็นไร แต่ระยะยาวแล้วมันจะเติบโต มันคือศิลปะของไม่ทำอะไร ไม่พยายามเป็นคนฉลาดมากนัก แค่พยายามไม่โง่บ่อย ๆ ก็พอเหมือนอย่างที่มังเกอร์บอกก็พอ