พีระมิดทางการเงินนี้ ประยุกต์มาจากทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ โดยอับราฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาระดับโลก เขาแบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็นลำดับขั้น ซึ่งคล้ายๆ กับการวางแผนการเงิน และลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่าย ดังนั้นพีระมิดนี้จึงเป็นไกด์ไลน์ในการสร้างความแข็งแรงทางการเงิน ตั้งแต่ฐานรากไปจนถึงปลายยอด แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้

(1) Cash Flow & Risk Management

ส่วนฐานของพีระมิด คือ "การวางแผนค่าใช้จ่าย+หนี้สิน และการวางแผนป้องกันความเสี่ยง" เพื่อจัดการกระแสเงินสดให้คล่องตัว เราจำเป็นต้องบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน มีเงินออมสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน และจัดการให้หนี้สินไม่เกิน 40-50% ของรายรับ จากนั้นค่อยวางแผนป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เพื่ออุดรอยรั่วค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นในทุกปี

(2) Saving & Investment

ส่วนกลางของพีระมิด คือ "การวางแผนออมและการลงทุน" โดยแบ่งตามเป้าหมายและระยะเวลา

➤ เป้าหมายระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ควรออมในที่ไม่เสี่ยงขาดทุน อย่างบัญชีออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน

➤ เป้าหมายระยะกลาง 1-5 ปี ก็อาจจะลงทุนในที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้น แลกกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อย่างกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมอสังหาฯ

➤ เป้าหมายระยะยาวมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ก็อาจลงทุนในหุ้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน RMF เพื่อสะสมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

(3) Wealth Distribution

ส่วนยอดของพีระมิด คือ "การวางแผนเพื่อส่งต่อมรดก" หากเสียชีวิต อาจไม่มีใครรู้ว่าเรามีเงินออมและพอร์ตลงทุน ดังนั้นการเขียนพินัยกรรมขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อบอกลูกหลาน จึงเป็นการส่งต่อมรดกให้คนข้างหลังได้ดีที่สุด

สุดท้ายสิ่งที่จะลืมไม่ได้ ซึ่งครอบคลุมพีระมิดทั้งหมดอยู่ก็คือ “ภาษี” เราควรทราบรายได้ต่อปีทั้งหมด รวมถึงสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ ประกัน RMF SSF เป็นต้น เพื่อสามารถนำมาคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายในปีนั้นๆ

พีระมิดทางการเงิน คือไกด์ไลน์ของการวางแผนการเงินที่เข้าใจง่ายและเห็นภาพชัดเจน โดยเน้นความสำคัญตั้งแต่เงินออมฐานราก ไปจนถึงการส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน เหมาะสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นวางแผนการเงินให้มั่นคง ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะครับ