ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) หนึ่งในนักลงทุนเน้นคุณค่าในตำนานที่เพิ่งเสียชีวิตไปเคยบอกว่า

“การลงทุนไม่ควรจะเป็นเรื่องง่าย
มีแต่คนโง่เท่านั้นแหละที่คิดว่ามันจะง่าย...”

เชื่อว่าใครก็ตามที่เป็นนักลงทุนคงไม่สามารถโต้แย้งกับคำกล่าวนี้ได้ เพราะมันจริงซะยิ่งกว่าจริง การลงทุนบางครั้งก็ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในพื้นที่สงครามการเงินที่เต็มไปด้วยทุ่นระเบิด ไม่รู้มันจะ ‘บึ้ม’ ขึ้นมาตอนไหนบ้าง

ตลาดเหวี่ยงไปมา การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญคนนั้น นักวิเคราะห์คนนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมายที่ชวนให้เวียนหัว (พร้อมกับคำเชิญชวนที่ดูสวยงามเกินจริง)

มันง่ายมากที่จะหลงทาง ตื่นเต้นไปกับการขึ้นลงของตัวเลขในพอร์ต ดีบ้างร้ายบ้าง เจ็บตัวมากน้อยต่างกันไป

แต่จะดีกว่าไหมหากเราสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่สามารถเติบโตในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น และต้านทานพายุกระหน่ำช่วงตลาดขาลงได้ ไม่ต้องมากังวลคาดเดาว่าพรุ่งนี้ตลาดจะเป็นยังไง

นี่คือแก่นหลักของหนังสือการลงทุนคลาสสิก “The Four Pillars of Investing Lessons for Building a Winning Portfolio” ที่เขียนโดย วิลเลียม เจ. เบิร์นชไตน์ (William J. Bernstein)

หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงแนวคิดการลงทุนที่ไม่ต้องพึ่งพาสูตรลับหรือการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นหลักการลงทุนที่ใช้ได้ทุกยุคสมัยตกผลึกจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความผิดพลาดของนักลงทุนคนอื่นๆ เพื่อช่วยให้เราเห็นเส้นทางการลงทุนของเราได้ชัดเจนและตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

โดยหนังสือเล่มนี้แบ่งหลักการลงทุนออกเป็น 4 เสาหลัก (Pillars)

Pillar 1 : ใครก็ตามที่ไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์มักพลาดจะซ้ำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ตลาดหุ้นถือว่าอยู่กับเรามานานแล้วหลายร้อยปี การเรียนรู้/อ่านเรื่องราวการเงินในอดีตถือว่าเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรจะทำ (แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งของ Ray Dalio ชื่อว่า “The Changing World Order” ที่พูดถึงวงจรการเกิดขึ้น เติบโต และดับลงของวัฏจักรทางเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ๆ ของประวัติศาสตร์โลก)

เราเห็นข่าวเรื่องการเก็งกำไร ฟองสบู่ ความวุ่นวาย โกลาหล ตลาดหุ้นตก นักลงทุนตื่นตระหนก ฯลฯ อยู่เป็นประจำบนหน้าสื่อต่างๆ

ซึ่งถ้าย้อนดูตามประวัติศาสตร์ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่, มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกยุคสมัย

แม้เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับหลักจิตวิทยาหรือทฤษฎีการลงทุนมากแค่ไหน ถ้ามองข้ามเรื่องประวัติศาสตร์ โอกาสที่คุณจะตัดสินใจพลาดก็ยังมีเยอะอยู่ดี

โดยพื้นฐานแล้ว นวัตกรรมทางเทคโนโลยีคือปัจจัยหลักของการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรือง มันคือเครื่องยนต์เบื้องหลังการเติบโตของตลาดหุ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่เรื่องของระดับของนวัตกรรม แต่เป็นอัตราความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นซะมากกว่า

สมมุติว่าวันหนึ่งนวัตกรรมหยุดนิ่งไม่มีการพัฒนาเลย กำไรและหุ้นของบริษัทก็จะผันผวนและเมื่อเวลาผ่านไปก็จะหยุดนิ่งไปด้วย อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญและต้องจำไว้เสมอคือก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความเร็วที่เท่าเดิมไปตลอด มันมาเป็นระลอกใหญ่ๆ ซะมากกว่า (ให้ลองนึกการปั๊มน้ำด้วยปั๊มน้ำแบบโยกมือ)

ยกตัวอย่างในช่วงปี 1820 - 1850 ที่ในช่วงเวลาเพียง 30 ปีการเดินทางถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการขยายของอุตสาหกรรมเดินทางด้วยรถไฟ การสื่อสารด้วยโทรเลขทำให้คนติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ความใช้จ่ายในการเดินทางหรือสื่อสารก็ถูกลงอย่างมาก

เอาตัวอย่างที่ใกล้ตัวและเพิ่งเกิดขึ้นก็ได้อย่าง AI เพราะที่จริงแล้วคือเทคโนโลยีที่มีมาหลายปีแล้ว เพียงแต่ช่วงปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเพราะคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงและดึงมันมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงแค่ในกลุ่มเฉพาะอีกต่อไป

การลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป ไม่ว่าผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีนั้นจะยอดเยี่ยมแค่ไหนหากมันยังไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ สุดท้ายก็จะเงียบหายไป แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเริ่มได้รับความสนใจจากคนหมู่มากและคนเริ่มใช้งาน นั่นแหละที่จะทำให้เกิดผลตอบแทนที่สวยงามตามมา

Pillar 2 : การลงทุนที่ดีคือเกมที่ต้องอาศัยความอดทน

ตลาดหุ้นสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17 เหล่าโบรกเกอร์นั่งจิบกาแฟ พูดคุย และซื้อขายหุ้นกัน ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของตลาดการเงินสมัยใหม่ที่ซับซ้อนเหมือนอย่างทุกวันนี้

การกลับมาของนักลงทุนชื่อวิลเลียม ฟิปส์ (William Phips) จากการเดินทางขุดสมบัติเรือสเปน จุดประกายความสนใจของประชาชนชาวอังกฤษอย่างมากในช่วงปี 1687

บริษัทมากมายแห่ไปจดสิทธิบัตรระฆังสำหรับดำน้ำ (Diving Bells) เพื่อค้นหาซากเรือใต้ท้องทะเล นักลงทุนแห่ซื้อหุ้นในบริษัทดำน้ำเหล่านี้ กลายเป็นฟองสบู่เทคโนโลยีลูกแรกของอังกฤษ แต่สุดท้ายแล้วบริษัทเหล่านั้นก็ล้มหายตายจากกันไปเพราะไม่สามารถสร้างผลกำไรได้

ราคาหุ้นของบริษัทพุ่งทะยานโดยไม่เคยดำเนินการใดๆ เลยด้วยซ้ำ (ฟังคุ้นๆ ไหม) วาดฝันบนกระดาษ แล้วก็หายไป สร้างความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนมาก

นี่คือวิกฤติฟองสบู่ที่เราคุ้นเคยกันดี มันเคยเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน มันไม่ใช่เรื่องใหม่ และมันก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไปตราบใดที่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นยังไม่หมดไป

เอาแบบนี้ก็ได้ครับ ลองจินตนาการว่านาย A เพื่อนบ้านของคุณเชื่อว่าพื้นดินใต้บ้านของเขามีแร่ลิเทียมซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่ออนาคต เขาต้องการเงินเพื่อขุดเจาะ แม้โอกาสน้อยนิด แต่คุณก็หวังว่านี่มันจะเป็นโอกาสหนึ่งในล้านที่ทำให้คุณรวยเป็นมหาเศรษฐีได้ หลังจากคำนวณความเสี่ยงแล้วคุณก็อาจจะลงเงินไปสักพันหนึ่งเผื่อว่าจะได้ผลกำไรตอบแทนกลับมาบ้าง

ประเด็นคือแม้เป็นการลงทุนที่มีความเป็นไปได้ต่ำมันก็มีราคาของมัน ขึ้นลงตามความเสี่ยงและความอยากเสี่ยงของผู้ลงทุน สิ่งที่ผิดปกติคือ เมื่อนักลงทุนละทิ้งเหตุผลและปล่อยให้ความตื่นเต้นครอบงำ ปั่นราคาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นฟองสบู่ต่างหาก

ไฮแมน มินสกี้ (Hyman Minsky) นักเศรษฐศาสตร์ ได้ระบุเงื่อนไขเบื้องต้นของการเกิดฟองสบู่ทางเศรษฐกิจว่าเกิดจาก

เทคโนโลยีใหม่หรือนวัตกรรมทางการเงินที่ไม่มั่นคง​ + การเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย + หลงลืมเรื่องฟองสบู่ในอดีตไปแล้ว + นักลงทุนหน้าใหม่เข้าครองตลาด

เมื่อเติมความตื่นเต้นไร้เหตุผลเข้าไปอีก จะกลายเป็นสูตรแห่งความหายนะทางการเงินทันทีเลย

ลองนึกถึงฟองสบู่ดอทคอมในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ก็ได้ครับ

เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น กู้เงินง่าย ความทรงจำเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ปี 1929 จางหายไปแล้ว นักลงทุนที่เคยรอบคอบก็หลงไปกับสภาวะที่ตื่นเต้นของตลาดด้วยเช่นกัน มีคนบอกว่าเมื่อคุณอยู่ในฟองสบู่ คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าตัวเองอยู่ในฟองสบู่ นี่คงเป็นเรื่องจริง

คลิฟฟ์ แอสเนส (Cliff Asness) ผู้จัดการกองทุน บรรยายถึงเสน่ห์ชวนหลงใหลของช่วงฟองสบู่ว่าเหมือนเล่นวิดีโอเกมไพ่โป๊กเกอร์ที่ออกแบบมาให้ได้เงินเสมอและล่อลวงผู้คนสู่หายนะทางการเงินครั้งใหญ่

วัฏจักรของฟองสบู่เศรษฐกิจที่ชัดเจน : เทคโนโลยีใหม่ๆ เปลี่ยนโลก + สินเชื่อเข้าถึงง่าย + บทเรียนเก่าถูกละเลย + ตลาดไร้เหตุผล ความโลภเข้าครอบงำ

“บึ้ม”

นักประวัติศาสตร์ ชาร์ลส์ คินเดลเบิร์ก (Charles Kindleberg) เคยกล่าวอย่างแหลมคมว่า "ไม่มีอะไรน่าปวดร้าวไปกว่า การเห็นเพื่อนรวยไปต่อหน้าต่อตา"

ความบ้าคลั่งในตลาดพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเชื้อเพลิงที่เกิดจากเงินที่กู้ก็หมดลง กลายเป็นความล่มสลาย วัฏจักรขาขึ้น-ขาลงแบบนี้วนซ้ำตัวเองมาซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายศตวรรษ สกุลเงิน และสินทรัพย์

แม้รายละเอียดจะแตกต่างกัน แต่กลไกทางจิตวิทยาภายในนั้นยังเหมือนเดิม

เบิร์นชไตน์เขียนเอาไว้ว่า

“สิ่งที่ทำกำไรได้มากที่สุดที่เราสามารถเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของความรุ่งเรืองและช่วงตกต่ำก็คือในช่วงเวลาที่มีการมองโลกในแง่ดีอย่างมาก ผลตอบแทนในอนาคตจะต่ำที่สุด เมื่อสิ่งต่างๆ ดูสิ้นหวัง ผลตอบแทนในอนาคตก็จะสูงที่สุด เนื่องจากความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นเพียงสองด้านของเหรียญเดียวกัน จึงไม่สามารถเป็นอย่างอื่นไปได้เลย”

การเข้าใจเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักลงทุนในยุคปัจจุบัน การลงทุนอย่างยั่งยืนอาศัยทั้งความอดทนและมุมมองที่รอบด้านเพื่อต้านทานความบ้าคลั่งในช่วงเวลาที่ตลาดกำลังตื่นเต้น

การประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างรอบคอบจะปกป้องเราเมื่อคนอื่นไร้ซึ่งเหตุผล ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เพียงพอ แม้จะไม่ใช่การมองเห็นอนาคตได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็เป็นเสาหลักสำคัญสำหรับการเดินทางไปบนเส้นทางลงทุนที่เต็มไปด้วยอันตรายของนักลงทุนทุกคน

Pillar 3 : พอเป็นเรื่องการลงทุน มนุษย์ไม่ได้มีเหตุผลขนาดนั้น

เราอาจจะเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ตัดสินใจทำอะไร (โดยเฉพาะเรื่องเงิน) เพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง แต่ที่จริงแล้วมันไม่ถูกต้องนัก หลักฐานมากมายบ่งบอกว่า หลายต่อหลายครั้งมนุษย์ตัดสินใจอย่างไร้เหตุผล ซึ่งส่งผลเสียต่อตัวเอง/การลงทุนในท้ายที่สุดแล้ว

เหมือนอย่างที่ เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์และบิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า เคยพูดเอาไว้ว่า

“ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของนักลงทุนและศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของพวกเขาก็คือตัวของพวกเขาเอง”

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผล (irrational behavior) นี่แหละ ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้บุกเบิกสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในช่วงปี 70’s ซึ่งศึกษาว่ามนุษย์เราจัดการเงินอย่างผิดๆ และไร้เหตุผลยังไงบ้าง

[เธเลอร์ คือผู้เขียนหนังสือ ‘Nudge’ และ ‘Misbehaving’ ที่มีชื่อเสียงอย่างมากด้วย]

เธเลอร์เริ่มสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ที่ดูขัดแย้งกับหลักการและแนวคิดที่มีเหตุผล ยกตัวอย่างเช่นคนที่ฝ่าพายุหิมะเพื่อจะไปงานคอนเสิร์ตเพียงเพราะจ่ายเงินซื้อตั๋วไปแล้ว ซึ่งตามหลักเหตุผลแล้วการขับรถฝ่าพายุหิมะนั้นอันตรายมากๆ เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาไม่เพียงเสียหายต่อทรัพย์สินเท่านั้น ถึงขั้นตายได้เลยทีเดียว แต่เงินค่าตัวเพียงหลักพันก็เพียงพอที่จะให้คนยอมเสี่ยงเพราะไม่อยากเสียเงินตรงนั้นไป

นอกจากนี้ในทศวรรษ 1970 นักจิตวิทยา แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) และ เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) ก็เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับอคติทางการรับรู้ที่บิดเบือนในการตัดสินใจ (Bias - อคติ) จนสรุปออกมาเป็นข้อผิดพลาดทางความคิดอย่างเป็นระบบที่เราทำในการประมาณความน่าจะเป็นและความเสี่ยง ถึงแม้ว่าการศึกษาเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับโลกการลงทุนโดยตรง แต่มันแสดงให้เห็นว่าโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ตัดสินใจได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก

โดย 3 พฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อการลงทุนของเราได้มากเป็นอันดับต้นๆ คือ

1.Herd Behavior

เห็นฝูงชนไปไหน ก็แห่ตามเข้าไปด้วย ซึ่งเราทราบกันดีครับว่ามันอันตรายแค่ไหนในโลกการลงทุน เพราะหากตามตลาดโดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

พอคนแห่ไปดันราคาหุ้นสักตัวหนึ่ง หุ้นพุ่งเราก็ดีใจ แต่สุดท้ายปัจจัยพื้นฐายของหุ้นขึ้นไม่ทันราคา หุ้นก็ร่วง ทีนี้ตัวใครตัวมัน วิ่งหนีตายกันเลยทีเดียว การวิ่งตามเทรนด์จะทำให้เราติดดอยได้ง่ายๆ เลย

แล้วทำไมเราเป็นแบบนั้น ก็เพราะว่าการวิ่งตามคนอื่นๆ มันรู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องใช้ความพยายามในการคิดวิเคราะห์เยอะแยะ แต่ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

2.Regret Avoidance

เมื่อตัดสินใจไปแล้ว เรามักรู้สึกยึดติดกับสิ่งที่เราได้เลือกไป และเรามักกลัวการรู้สึกเสียดายถ้าเราเกิดเปลี่ยนใจ มนุษย์เกลียดการยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาด เพราะฉะนั้นแม้จะรู้ว่าหุ้นที่ถืออยู่ไม่มีอนาคต แต่กลับยึดติดคำว่า ‘ไม่ขาย ก็ไม่ขาดทุน’ เลี่ยงการเผชิญหน้ากับความล้มเหลว​ ไม่ยอมตัดขาดทุนโดยหวังว่ามันจะเด้งกลับขึ้นมาสักหน่อย (ซึ่งส่วนใหญ่จะลงลึกกว่าเดิม)

การขึ้นลงของราคาหุ้นไม่ควรเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อ-ขาย-ถือหุ้นของบริษัทนั้น แต่เป็นการคำนวณและวิเคราะห์ถึงอนาคตการเติบโตและผลกำไรของบริษัทต่างหาก

ยิ่งเรายึดติดทางอารมณ์มากเท่าไหร่ เรายิ่งเพิ่มโอกาสในความผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ใส่เงินเข้าไปถัวบ้าง ทำให้ขาดทุนหนักกว่าเดิมก็มี

3.Mental Accounting

เรามักจะแบ่งเงินในสมองเป็นก้อนๆ และตีมูลค่าของเงินแต่ละก้อนไม่เท่ากัน เราอาจจะไปโฟกัสหุ้นที่ได้กำไรเล็กน้อย และมองข้ามตัวที่ขาดทุนอยู่ ทั้งๆ ที่ยอดเงินก็เท่ากัน แต่เราให้คุณค่ามันไม่เหมือนกัน

การเลือกมองเพียงแค่ส่วนที่ดีสร้างภาพลวงตาว่าเป็นการลงทุนที่สำเร็จ ทั้งๆ ที่พอหักลบทุกอย่างแล้วกลยุทธ์การลงทุนของเราอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิดก็ได้

ที่จริงแล้วยังมีอีกเยอะมากแต่พฤติกรรมทั้งสามอย่างที่กล่าวมาสามารถส่งผลเสียต่อพอร์ตลงทุนของเราในระยะยาวได้อย่างแน่นอน เส้นทางสู่ความสำเร็จเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่ามนุษย์เรามีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว บางครั้งก็ตัดสินใจได้อย่างไม่มีเหตุผล เมื่อเข้าใจตรงนี้เราถึงจะใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อจัดการกับอคติที่เกิดขึ้นได้

กุญแจสำคัญคือ การติดตามผลตอบแทนของพอร์ตทั้งหมดอย่างเป็นกลาง เรียนรู้จากความผิดพลาดโดยห้ามนำอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง สร้างวินัยอย่างเป็นระบบ และหลีกเลี่ยงเรื่องราวชวนฝันที่เราสร้างขึ้นมาในหัวเพียงจะพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าเราจะเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้ แต่การเข้าใจอุปสรรคของมัน เราสามารถเดินเรือในตลาดได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น การต่อสู้การลงทุนที่แท้จริงเกิดขึ้นในใจของเราเอง

เบิร์นชไตน์บอกว่า

“การเงินไม่ใช่วิทยาศาสตร์แบบตรงๆ อย่างฟิสิกส์หรือวิศวกรรม ค่อนข้างจะเป็นสังคมศาสตร์มากกว่า ความแตกต่างก็คือ: สะพาน วงจรไฟฟ้า หรือเครื่องบินจะตอบสนองในลักษณะเดิมทุกครั้งกับสถานการณ์ที่กำหนด ในขณะที่ตลาดการเงินไม่ตอบสนองแบบนั้น”

Pillar 4 : ด้วยประสบการณ์และการฝึกฝน เราสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมแรงกระตุ้นที่ไม่มีเหตุผลได้

การเอาชนะข้อบกพร่องทางการลงทุนที่ติดตัวเรามานั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่ง ลองมาดูกลยุทธ์ 7 ข้อที่จะเป็นเครื่องมือช่วยในการลงทุนกันบ้างดีกว่า

1. หลีกเลี่ยงความมั่นใจเกินไป

* ยอมรับก่อนว่าความคิดที่ว่าคุณสามารถเอาชนะมืออาชีพและตลาดได้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากๆ
* แม้แต่ผู้จัดการลงทุนที่ชาญฉลาดที่สุดก็ไม่สามารถทำผลตอบแทนชนะ (หรือแม้แต่เทียบเท่า) ตลาดได้ตลอดเวลา
* จริงใจกับตัวเองกับเรื่องนี้ แล้วหาวิธีการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด (ในหนังสือแนะนำกลุ่มกองทุน Index Funds ต่างๆ)

2. อย่ายึดติดกับผู้ชนะในอดีต

* การลงทุนที่ทำผลงานยอดเยี่ยมในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้การันตีว่าจะดีตลอดไป
* การซื้อสินทรัพย์ที่เคยชนะใหญ่เมื่อวานคือการเดินตามฝูงชน (Herd Behavior)
* เมื่อเวลาผ่านไปในระยะยาว เส้นแนวโน้มจะกลับไปสู่ค่าเฉลี่ย นั่นหมายความว่าผู้ชนะในวันนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้แพ้ในวันพรุ่งนี้ ผลงานในอดีตระยะสั้นไม่ค่อยคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคตได้

3. ปลูกฝังความเรียบง่ายในการลงทุน

* สินทรัพย์ที่น่าตื่นเต้น เช่น หุ้นที่ร้อนแรง ในระยะยาวอาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีนัก
* ในโลกการลงทุน ความน่าเบื่อคือสิ่งที่สวยงาม ความผันผวนเป็นศัตรูของการเติบโตแบบทบต้น การลดความผันผวนผ่านการกระจายความเสี่ยงและการจัดสรรสินทรัพย์จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้พอร์ตเติบโตได้

4. บอกตัวเองซ้ำๆ ว่า “เราจะไม่มีทางได้ซื้อหุ้น Microsoft ตัวต่อไป"

* มนุษย์ยึดติดกับความสำเร็จและเพิกเฉยต่อความล้มเหลว กว่าบริษัทหนึ่งจะยิ่งใหญ่เติบโต สตาร์ตอัปอีกหลายพันแห่งต่างล้มเหลวไม่เป็นท่า
* อคติของผู้รอดชีวิต (Survivorship bias) ที่ทำให้เราเห็นแต่ผู้ชนะบิดเบือนการรับรู้ความเสี่ยงของเราอย่างมาก
* ยอมรับเถอะว่าคุณไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสตาร์ตอัปยากตัวไหนจะเป็นผู้ชนะคนต่อไป มันมีตัวแปรมากมายเกินไป

5. หลีกเลี่ยงการคาดการณ์ที่ดึงดูด

* การคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตัวแปรที่ไม่สิ้นสุดและเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นอย่างที่เราไม่ทันตั้งตัว ไม่มีใครคาดการณ์ผลลัพธ์ในระดับมหภาค อัตราดอกเบี้ย หรือการเคลื่อนไหวของตลาดได้อย่างแท้จริง

6. ควบคุมความกลัวต่อความสูญเสีย (Loss Aversion)

* หมายถึงการติดตามผลตอบแทนพอร์ตโฟลิโอโดยรวมอย่างเป็นกลาง ตัดสินกลยุทธ์การลงทุนของตัวเองโดยรวมว่ามันกำลังเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเงินที่วางเอาไว้ บางทีเห็นหุ้นตัวหนึ่งในพอร์ตร่วง ตกใจเทขายทั้งหมดเลยเพราะอยากรักษาเงินต้นไว้ ทั้งที่บางทีมันอาจจะเป็นเพียงแนวโน้มระยะสั้นเท่านั้น

7. อดทน

* ไม่มีกลยุทธ์การลงทุนใดประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืนหรือแม้แต่ในช่วงไม่กี่ปี
* ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นจะค่อยๆ ทำงานไปเรื่อยๆ ในช่วงปีแรกๆ อาจจะยังไม่เห็นผล แต่พอผ่านไปสัก 10-15 ปี ผลลัพธ์ก็จะเริ่มชัดขึ้น เหมือนต้นไม้ที่เติบโตช้าๆ แต่เติบโตอย่างแน่นอนเมื่อเวลาผ่านไป

สรุป

หนังสือการเงินเล่มนี้เผยให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การเงินเต็มไปด้วยวงรอบของความบ้าคลั่งและความล่มสลาย อันตรายทางการเงินที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นคุณค่าของการสร้างความมั่งคั่งผ่านการสร้างพอร์ตที่ยืดหยุ่นและการลงทุนระยะยาว แทนที่จะพึ่งพาการคาดการณ์อนาคตการเงินระยะสั้น

บทเรียนจากความบ้าคลั่งทางการเงินในอดีต ช่วยให้เรามีมุมมองที่สงบมากขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดกำลังตื่นเต้น และตัดสินใจลงทุนอย่างชาญฉลาดในช่วงเวลาที่ตลาดดูไร้ความหวัง การยอมรับว่าการคาดการณ์อนาคตของตลาดเป็นเรื่องยาก ควบคุมอัตตาและการตัดสินใจแบบชั่ววูบ หลีกเลี่ยงเรื่องราวชวนเพ้อฝัน และอย่าปล่อยให้สิ่งเร้าทางจิตใจควบคุมการลงทุน ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการลงทุนของเราทุกคน

และอีกเรื่องหนึ่งที่ เบิร์นชไตน์กล่าวไว้คือ

“การเงินส่วนบุคคลก็เหมือนกับทุกด้านในชีวิต มันเป็นการผจญภัยที่ไม่มีที่สิ้นสุด นักลงทุนที่มีความสามารถไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้”

มาสร้างพอร์ตที่แข็งแรงไปด้วยกันครับ