เคยมั้ย? คิดว่า ถ้าชิงลงมือก่อน แล้วเราจะได้เปรียบจากคนที่ด้อยกว่า

ถ้าคำตอบ คือ เคย…คุณอาจมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย ทฤษฎีคนโง่กว่า ก็เป็นได้...

ทฤษฎีคนโง่กว่า หรือ The Greater Fool Theory เป็นทฤษฎีหนึ่งที่มักใช้ในแวดวงการลงทุน

หมายถึง คนๆ หนึ่ง ยอมจ่ายเงินซื้อสินทรัพย์ในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมัน อาจจะเพราะความโลภ หรือ หวังเก็งกำไร คนๆ นี้ จะถูกเรียกว่า Fool หรือ คนโง่

ถ้ามีคนที่ยอมซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวต่อในราคาที่แพงขึ้นอีก เพื่อหวังผลกำไรที่มากขึ้นในอนาคต คนถัดมานี้ก็จะถูกเรียกว่า Greater fool หรือ คนโง่กว่านั่นเอง

มีบทความของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิบาย ทฤษฎีคนที่โง่กว่า ว่า มักเกิดขึ้นในภาวะฟองสบู่ จะมีคนที่ยอมซื้อสินทรัพย์หนึ่งๆ โดยไม่สนใจว่ามันมีราคาแพงกว่ามูลค่าพื้นฐานหรือไม่

เพราะเชื่อว่าราคาจะแพงขึ้นได้อีก และสามารถทำกำไรได้ ถ้าขายแพงกว่าให้กับคนที่มีความเชื่อแบบเดียวกัน

บทความนี้หยิบยกหายนะของ “ วิกฤตทิวลิป” มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยว่า…

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.1637 ตอนนั้นเนเธอร์แลนด์ยังไม่มีดอกทิวลิป ต่อมามีพ่อค้านำดอกทิวลิปจากตุรกีมาขาย กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ สวยงาม เป็นดอกไม้หายากที่ผู้คนอยากครอบครอง

ความนิยมนี้เริ่มต้นในหมู่ชนชั้นสูง และค่อยๆ แผ่กระจายไปถึงชนชั้นกลาง ผู้คนต้องการซื้อไว้เพื่ออวดสถานะ เรียกได้ว่าแพงเท่าไรก็ซื้อ

แต่ปัญหา คือ ดอกทิวลิปเป็นดอกไม้ที่ใช้ระยะเวลานานกว่าจะโต เมื่อความต้องการสูงขึ้น แต่ทรัพยากรมีจำกัด จึงเกิดการเก็งราคาดอกทิวลิป มีการ “ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า”

ว่ากันว่า ช่วงแรกราคาของทิวลิป 1 หัวอยู่ที่ 5-15 กิลเดอร์ (ค่าเงินของชาวดัตซ์ในเวลานั้น) แต่ราคาของมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเก็งกำไรของพ่อค้า

เดือนถัดมา ราคาทิวลิปพุ่งขึ้นแตะระดับ หัวละ 200 กิลเดอร์

ไม่น่าเชื่อว่า ตอนนั้น มีคนนำที่ดินถึง 12 เอเคอร์ หรือ 49,000 ตารางเมตร มาแลกกับทิวลิป เพียง 1 หัว ตีราคาเป็นตัวเลขกลมๆ ก็ประมาณหัวละ 30,000 ดอล์ลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9 แสนบาท

สุดท้ายการเก็งกำไรก็มาถึงจุดที่ฟองสบู่แตก แม้เสนอขายทิวลิปเพียงหัวละ 10 กิลเดอร์ ก็ไม่มีใครซื้อ เพราะผู้คนเริ่มตระหนักว่ามันเป็นเพียงแค่การซื้อทำกำไรเกินมูลค่าที่แท้จริง

ผลที่ตามมาทันที คือ บรรดานักเก็งกำไรพากันการล้มละลายกันเพียงชั่วข้ามคืน

เหตุการณ์นี้ทำให้เศรษฐกิจของดัตซ์ถึงกับซบเซาต่อเนื่องไปหลายปี แล้วยุคทองของดัตช์ก็ได้สิ้นสุดลงเช่นกัน

กลับมาสู่ยุคปัจจุบัน….

ทฤษฎีคนโง่กว่า ถูก มหาเศรษฐีระดับโลกนำมาเปรียบเปรยกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง Cryptocurrency และ NFTs

มหาเศรษฐีคนนี้ คือ Bill Gates เจ้าพ่อแห่ง Microsoft บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก

Bill Gates ประกาศกลางงานสัมมนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดโดยสำนักข่าวเทคครันว่า จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือ ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

พร้อมกล่าวโจมตี Cryptocurrency และ NFTs ว่า เป็นสิ่งหลอกลวงบนพื้นฐานทฤษฎีของคนที่โง่กว่าแบบ 100%”

สอดคล้องกับมุมมอง ของ Warren Buffett นักลงทุนระดับโลก ที่เห็นว่า Cryptocurrency เป็นเพียงการเก็งกำไรและไม่มีมูลค่าที่แท้จริงเลย เห็นได้จากความผันผวนของราคาในตลาดและค่อยๆ ร่วงลงมา ทำเอาหลายคนขาดทุนไปตามๆ กัน

แท้จริงแล้ว ทฤษฎี The Greater Fool Theory ต้องการชี้ว่า ความโง่นี้ เกิดขึ้นจากความโลภล้วนๆ

และสิ่งที่ต้องระวัง คือ การที่นักลงทุนกลุ่มนี้ ไม่ได้คิดว่าตัวเองโง่ จึงขาดความระมัดระวัง ไม่ได้วิเคราะห์สถานการณ์ให้รอบด้าน เพียงแต่คาดหวังว่าจะรวยแบบง่ายๆ สุดท้ายกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว

The Greater Fool Theory ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวด เพราะคงไม่มีใครอยากเป็นคนโง่ เป็นคนที่ขาดทุน หรือเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากแชร์ลูกโซ่

ดังนั้น หากไม่อยากเป็นคนโง่ตามทฤษฎีนี้ ก็ควรศึกษา วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์การลงทุนให้รอบด้าน และรอบคอบ ที่สำคัญ อย่าทำตามฝูงชน หรือ ตกเป็นเหยื่อของอุปทานหมู่ดีที่สุด