เคยคิดไหมว่า...นอกจากการมีเงินก้อนเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณแล้ว เราจะต้องบริหารจัดการเงินก้อนนั้นอย่างไร เพื่อให้สามารถมีเงินที่ใช้ได้ไปตลอดชีวิต

รูปแบบหนึ่งของการจัดการเงินก้อนที่น่าสนใจ คือ หลักการลงทุนที่ช่วยสร้างรายได้ตลอดชีวิต หรือ "The Income for Life Model" ซึ่งเป็นแนวคิดของ ฟิลลิป ลูบินสกี นักวางแผนทางการเงินชาวอเมริกัน

โดยวิธีการจัดพอร์ตลงทุนจะแบ่งออก เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกของการเกษียณ โดยเน้นลงทุนสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและสร้างรายได้ประจำ (ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) ช่วงที่ 2 คือ การลงทุนระยะยาว (ส่วนที่ 3 - 6) ที่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้น เพื่อสร้างโอกาสผลตอบแทน โดยแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 6 ส่วน

ส่วนที่ 1 :

⏰การลงทุนสำหรับปีที่ 1 - 5 หลังเกษียณ
💰แบ่งเงินออกมา 26% ของเงินลงทุนทั้งหมด

แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่รับประกันผลตอบแทน เช่น ตราสารหนี้ ด้วยการลงทุนแบบขั้นบันได คือ แบ่งเงินจำนวนเท่าๆ กันไปลงทุนตราสารหนี้ 5 ช่วงอายุ เริ่มจากตราสารหนี้อายุ 1 ปี, 2 ปี, 3 ปี, 4 ปี และ 5 ปี เมื่อถึงปีที่ 2 ตราสารหนี้อายุ 1 ปี จะครบกำหนดไถ่ถอนพอดี

ดังนั้น นอกจากจะนำเงินลงทุนที่ทยอยครบกำหนดมาใช้จ่ายในแต่ละปีแล้วก็ยังได้ดอกเบี้ยที่ดีกว่าลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

ส่วนที่ 2 :

⏰การลงทุนสำหรับปีที่ 6 - 10 หลังเกษียณ
💰แบ่งเงินออกมา 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด

แล้วนำไปลงทุนในตราสารหนี้เป็นรูปแบบขั้นบันไดเพื่อสร้างรายได้ในปีที่ 6 - 10 เช่น ตราสารหนี้อายุ 6 ปี, 7 ปี, 8 ปี, 9 ปี และ 10 ปี ซึ่งการครบกำหนดอายุก็จะไล่ลำดับปีกันไป

แต่หากไม่สะดวกลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว อาจนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในตราสารหนี้อายุ 5 ปีก่อน เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนให้นำไปลงทุนต่อในตราสารหนี้อายุ 1 ปี, 2 ปี, 3 ปี, 4 ปี และ 5 ปี

ส่วนที่ 3 :

⏰การลงทุนสำหรับปีที่ 11 - 15 หลังเกษียณ
💰แบ่งเงินออกมา 20% ของเงินลงทุนทั้งหมด

แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อสร้างรายได้และการเติบโตให้กับเงินลงทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุนรวมหุ้นปันผล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ส่วนที่ 4 :

⏰การลงทุนสำหรับปีที่ 16 - 20 หลังเกษียณ
💰แบ่งเงินออกมา 13% ของเงินลงทุนทั้งหมด

แล้วนำไปลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนที่เติบโตขึ้น เช่น กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่

ส่วนที่ 5 :

⏰การลงทุนสำหรับปีที่ 21 - 25 หลังเกษียณ
💰แบ่งเงินออกมา 7% ของเงินลงทุนทั้งหมด

แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น หุ้นขนาดเล็กที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินปันผลระหว่างทาง

ส่วนที่ 6 :

⏰การลงทุนสำหรับปีที่ 25 เป็นต้นไป
💰แบ่งเงินออกมา 6% ของเงินลงทุนทั้งหมด

แล้วนำไปการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ซึ่งจะลงทุนเพียง 6% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ถึงแม้จะความเสี่ยงสูงแต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

การจัดพอร์ตการลงทุนตามรูปแบบนี้ จะช่วยให้คนวัยเกษียณลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้โดยไม่ต้องเป็นกังวลมากเกินไป เพราะระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานจะทำให้ความเสี่ยงลดลง

นอกจากนี้ต้องไม่ลืมกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉิน อย่างน้อย 6 - 12 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำและเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้เบิกถอนออกมาใช้ได้อย่างทันท่วงที และหมั่นตรวจสอบพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์การลงทุนที่วางไว้ จะสามารถทำให้มีเงินพอใช้ไปตลอดชีวิต