ตัดสินจากเงินจริงหรือ?

เป็นเรื่องปกติที่คนรายได้สูงจะมีชีวิตที่ดีกว่าคนรายได้ต่ำ ซึ่งในที่นี้หมายถึง การดูแลสุขภาพ การพักผ่อน หรือความมั่นคงทางการเงิน รวมถึงความมั่นคงทางอารมณ์ด้วย แต่การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ใน Frontiers In Psychology วารสารการวิจัยด้านสังคม และมานุษยวิทยา พบว่าเรื่องรายได้ หรือเงินไม่ได้เป็นตัวแปรเดียวที่ตัดสินความเป็นอยู่ที่ดีของเรา

สิ่งที่ทำให้ช่องว่างของความเป็นอยู่ที่ดีระหว่างคนรายได้สูง และรายได้ต่ำขยายออกกว้างอย่างชัดเจน คือการเปรียบเทียบทางสังคมที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบ หรือพูดง่ายๆ ว่า การที่เราเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นนี่แหละที่ทำให้ช่องว่างนี้ขยายใหญ่ขึ้น แล้วกระบวนการทั้ง 3 นี้มีอะไรบ้าง

💭1. การเปรียบเทียบสถานะทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วยความเชื่อ และความรู้สึก

สิ่งนี้คือ ‘อัตวิสัย’ ซึ่งหมายถึงมุมมอง และความคิดเห็นที่ไม่อิงกับข้อเท็จจริง แต่ใช้ความรู้สึกเป็นตัวตัดสิน โดยมักเป็นการ ‘คิดไปเอง’ เช่น เราเจอคนที่แต่งตัวดีกว่า เราคิดในทันทีเลยว่าเขามีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าเรา

นักวิจัยยังพบอีกว่า คนที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าจากการคิดไปเอง จะกระตุ้นความรู้สึกว่าตนนั้นขาดโอกาสกว่าคนอื่น จนรู้สึกคับแค้นข้องใจ แต่ในทางกลับกัน เมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เราคิดว่าด้อยกว่าเรา มักจะทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น เพราะรู้สึกว่าได้อยู่เหนือกว่าคนอื่น แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ว่าจะเป็นทางไหน การคิดไปเองก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตโดยตรง

💭2. เปรียบเทียบตัวเองกับคนใกล้ตัว

การเปรียบเทียบในลักษณะนี้ เรียกว่า ‘Comsim’ (Comparing oneself with similars others) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนที่มีภูมิหลังใกล้ชิดกับตัวเรา เช่น เพื่อนวัยเด็ก หรือพี่น้อง เพราะในขณะที่เราโตมาไปพร้อมๆ กับพวกเขา แต่ทำไมเราไม่ได้ดีเท่าเขาล่ะ?

การเปรียบเทียบในรูปแบบนี้ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการประเมินความเป็นอยู่ของตัวเอง เพราะเราอาจรู้สึกเหมือน ‘ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ จนทำให้การ ‘นับถือตัวเอง’ ต่ำลง โดยการเปรียบเทียบรูปแบบนี้ เกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนทุกระดับรายได้

💭3. เปรียบเทียบกับคาดหวังของตัวเราเอง

การเปรียบเทียบสุดท้าย คือการเปรียบเทียบกับคาดหวังของตัวเราเองนี่แหละ ว่าเราสามารถควบคุมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน

โดยความรู้สึกนี้มักเกิดจากความคาดหวังเรื่องชนชั้นทางสังคม และรายได้ ที่หากไม่เป็นไปตามคาดหวัง เราจะรู้สึกว่าตำแหน่งในระบบสังคมของเราช่างต่ำเตี้ย เช่น อะไรๆ ก็ไม่เป็นไปดั่งใจ เราก็จะเริ่มคิดว่าเราวางแผนไม่เก่งหรือเปล่า กระทั่งว่าเราไม่เคยได้รับการสนับสนุน หรือความช่วยเหลือจากใครเลย นั่นเป็นเพราะความนิยมในตัวเรามันน้อยใช่ไหม

สถานการณ์แบบนี้สามารถนำไปสู่การขาดความมั่นใจ และขาดอิสระทางความคิด สุดท้ายแล้วเราจะรู้สึกหมดศรัทธาในตัวเอง เพราะคิดไปว่าเราเป็นคนไร้ความสามารถ ส่งผลต่อการประเมินความเป็นอยู่ของตัวเองอย่างมากทีเดียว

เห็นได้ชัดแล้วว่าการมีเงิน หรือรายได้สูงไม่ได้รับประกันเลยว่าเราจะมีความสุข หรือมีชีวิตที่ดี การวิจัยนี้ทำให้เราเห็นว่า ‘การรับรู้ตัวเอง’ จากการเปรียบเทียบทางสังคมรูปแบบต่างๆ มีบทบาทมากในการประเมินว่าเรามีชีวิตที่ดีหรือเปล่า ซึ่งการมีรายได้สูงนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่เราใช้เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเท่านั้นเอง

เป้าหมายของงานวิจัยครั้งนี้ คือการเน้นย้ำความสำคัญของการเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะในวันที่เรามองเห็นความสำเร็จของคนอื่นอย่างชัดเจน เราได้มองเห็นคุณค่า และความสำเร็จของตัวเราเองบ้างหรือยัง?

เขียน: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช