“เด็กวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า” ประโยคหนึ่งของเพลงวันเด็กแห่งชาติ แสดงถึงเด็กจะเป็นกำลังสำคัญที่ต้องเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า ซึ่งการที่จะเป็นเด็กดีได้ก็ต้องได้รับคำสั่งสอน ข้อมูลที่ดีจากคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู และองค์ประกอบสำคัญที่เด็กๆ ขาดไม่ได้ คือ การปลูกฝังนิสัย รู้จักคุณค่าของเงิน หมายความว่า ผู้ใหญ่จะต้องสอน เป็นตัวอย่างที่ดีด้านการเงินให้กับเด็กๆ

ในวัยเด็ก เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสอนพื้นฐานการวางแผนเงิน เพราะเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมถือเป็นก้าวสําคัญ ที่ทำให้เมื่อเติบขึ้นก็จะสามารถจัดการกับการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้สบายๆ และจากในวัยเด็กที่กำลังเรียนรู้ ขี้เล่น การให้ความรู้ด้านการเงินก็ต้องให้เหมาะกับวัยเด็ก

✅สอนการเงินผ่านการเล่น

แม้เด็กๆ ที่กำลังเติบโตขึ้น แต่การเล่นยังมีความสำคัญ จึงควรให้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานเกี่ยวกับแนวความคิดทั่วไปเกี่ยวกับการทำงานของเงิน เช่น

เล่นเกมกระดานร่วมกัน

เช่น เกมเศรษฐี (Monopoly) หรือ The Game of Life ซึ่งเป็นการจำลองสถานการณ์การเงินในชีวิตจริง ช่วยให้เด็กเข้าใจหลักการเกี่ยวกับการซื้อขายและการจัดการเงิน

เล่นเกมออนไลน์ที่เหมาะสมตามวัย

โดยเน้นเกมการจัดการเงิน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับรายได้ ออมเงิน และการใช้จ่ายเงินอย่างถูกต้อง

การนับเหรียญด้วยมือ

โดยให้เด็กนำเงินที่เป็นเหรียญไปหยอดกระปุกลูก เมื่อกระปุกเต็มก็พาไปธนาคาร เพื่อแลกเป็นธนบัตร วิธีการนี้สอนให้เด็กเห็นถึงคุณค่าของการออมเงินและการจัดการเงิน

การคำนวณเงินทอน

คุณพ่อคุณแม่เล่นเกมกับลุก ด้วยการให้ลูกรู้จักคำนวณเงินทอนผ่านเหรียญแล เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการคำนวณพื้นฐานและการทำธุรกรรมทางการเงิน

✅ส่งเสริมคุณค่าของการทํางานและค่าจ้างด้วยงานเล็กๆ น้อยๆ

คุณพ่อ คุณแม่ ควรสอนให้ลูกเห็นถึงคุณค่าของการหาเงินผ่านประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้ลูกเห็นว่าการทํางานจะช่วยให้เกิดการพัฒนาความรับผิดชอบ เช่น ช่วยงานครัว ช่วยกวาดใบไม้ ล้างรถ ดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นต้น และเมื่อจ่ายเงินให้ลูก ควรแนะนําให้นําเงินส่วนหนึ่งไปเก็บออมระยะยาวด้วย

เปิดบัญชีออมทรัพย์

เมื่อเด็กเรียนรู้เรื่องเงินถึงระดับหนึ่งก็มีความพร้อมในการก้าวต่อไปสู่ความเป็นอิสระทางการเงิน ด้วยการเปิดบัญชีออมทรัพย์ และทุกๆ เดือนก็พาไปฝากเงินเอง เพราะการได้เห็นสมุดบัญชีเงินฝากที่มีตัวเงินเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ภาคภูมิใจ พร้อมๆ กับสอนเรื่องของดอกเบี้ยเงินฝากควบคู่ไปด้วย

เป็นตัวอย่างที่ดีเด็ก

คุณพ่อ คุณแม่ จะเป็นแบบอย่างที่สําคัญที่สุดในชีวิตของเด็กและยังอยากเรียนรู้จากคุณพ่อ คุณแม่ ดังนั้น ตัวอย่างที่สร้างในตอนนี้จะกําหนดวิธีการที่เด็กจะนำไปบริหารเงินของตัวเองในอนาคต พูดง่ายๆ ลูกไม้มักหล่นไม่ไกลต้น เช่น ถ้าชอบเก็บออมเงิน เมื่อลูกเติบโตก็จะมีความรับผิดชอบด้านการเงินตามไปด้วย พูดง่ายๆ ควรเป็นตัวอย่างที่ดีทางด้านการเงินให้กับลูก

เรียนรู้การเงินผ่านเทคโนโลยี

จากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการวางแผนการเงินมากขึ้น ถึงแม้จะเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว แต่ในอีกมุมก็อาจเป็นโทษหากไม่ได้เรียนรู้อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเด็กๆ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินในยุคเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้งานต่างๆ โดยอาจเลือกแอพพลิเคชั่นการวางแผนการเงินที่เหมาะสำหรับเด็กมาสอนเป็นตัวอย่าง เช่น การใช้จ่าย สร้างงบประมาณพื้นฐาน ตั้งเป้าหมายการออม ติดตามความคืบหน้าการเงินต่างๆ จากนั้นก็คอยดูแลพฤติกรรมเกี่ยวกับการเงินสม่ำเสมอ

3 เรื่องที่ไม่ควรลืม ถ้าอยากให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่วางแผนการเงินดีในวันหน้า

🚫อย่าลืม เตรียมตัวให้พร้อมกับแรงกดดันจากเพื่อน

เด็กอายุประมาณ 8 ปี เป็นช่วงเวลาที่กำลังได้รับแรงกดดันจากเพื่อน ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องเตรียมรับมือ เป็นตัวอย่างที่ดีและยอมรับมุมมองของลูกตัวเอง เช่น

• พูดคุยเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าและอิทธิพลของแบรนด์ต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจในการใช้จ่ายเงิน

• ส่งเสริมเพื่อให้ลูกเห็นถึงความเชื่อมั่นของตัวเอง โดยอิงจากความสามารถพิเศษและคุณค่าที่มีอยู่ของลูก ไม่ใช่เกิดข้าวของ เสื้อผ้า

• รับฟังและพูดคุยเปิดเผยกับคำขอของลูกอย่างเปิดเผยและอดทน และเมื่อถึงเวลาก็ทำการตกลงกันด้วยเหตุผล พร้อมยอมรับกับคำตกลงนั้น เช่น อธิบายถึงการตัดสินใจว่าเงินสำคัญกับครอบครัวอย่างไร เช่น การออมเงินเพื่อให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัย การท่องเที่ยวประจำปี ซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น

🚫อย่าลืม ปลูกฝังความแตกต่างอย่างมีเหตุผล

จากเด็กเติบโตจากยุคเทคโนโลยี อาจทำให้มีความสนใจกับการเลือกวิถีชีวิตหลากหลายและอิสระมากขึ้น เช่น เลือกซื้อเสื้อผ้า การทำกิจกรรม อุปกรณ์เทคโนโลยี ที่สำคัญการตัดสินใจจะมาจากสื่อออนไลน์หรืออินฟูเอ็นเซอร์ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ก็ต้องให้ข้อมูลอย่างระมัดระวังกับการตัดสินและความคาดหวัง เช่น

• คิดก่อนพูดเมื่อต้องพูดถึงคำว่า “สิ่งที่อยากได้” กับ “สิ่งที่จําเป็นต้องมี” ก็ต้องอธิบายให้ลูกได้เห็นถึงความแตกต่างและความสำคัญของสองประโยคนี้

• ไม่ควรวิจารณ์คนอื่นในแง่ลบ เช่น การแต่งตัวหรือการเลือกใช้ชีวิตของใครบางคน เพื่อทำให้ลูกได้รู้จักความแตกต่างของไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน

🚫อย่าลืม ให้อิสระเล็กน้อย

เมื่อเด็กเริ่มเข้าใจถึงการทำงานของเงินมากขึ้น ย่อมหมายถึง มีความพร้อมรับผิดชอบและซื้อข้าวของอย่างอิสระมากขึ้น หน้าที่คุณพ่อ คุณแม่ คือ การแนะนำในการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล การวางแผนการเงินล่วงหน้า และวิธีการเรียนรู้จากความผิดพลาด เช่น

• เพิ่มเงินเดือนให้ลูกทุกปี รวมถึงเพิ่มความรับผิดชอบการซื้อข้าวของมากขึ้น เช่น การจ่ายค่าของเล่น ขนมหรือของกินตอนออกไปเที่ยว

• ถึงแม้เด็กๆ กำลังโตขึ้น แต่ยังต้องการคำแนะนำต่อไป เช่น อธิบายถึงแผนการตลาดของสินค้าต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย, แนะนำในการตัดสินใจซื้อของอย่างมีสติ โดยพิจารณาราคา มูลค่า คุณภาพ ความคุ้มค้า หรือทำการเปรียบเทียบสินค้าก่อนตัดสินใจ, ช่วยเหลือให้ติดตามการใช้จ่ายและการซื้อข้าวของจากงบประมาณที่มี

• หากลูกใช้เงินไปหมดในการซื้อข้าวของ ควรส่งเสริมและคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการเงินล่วงหน้า

• หากลูกต้องการเงินเพิ่มเพื่อซื้อข้าวของ ควรให้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นรายได้เสริม เช่น ทำงานบ้าน

• อนุญาตให้ใช้บัตรเดบิตสำหรับการซื้อข้าวของ เพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่ สามารถตรวจสอบพฤติกรรมในการใช้จ่ายของลูกได้

ถึงแม้ว่าการสอนการวางแผนการเงินให้เด็กอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำให้เด็กรู้จักจัดการเงินอย่างรับผิดชอบตั้งแต่อายุน้อยก็จะสามารถช่วยนำไปสู่ความสำเร็จด้านการเงินในอนาคตได้