เครดิตสวิส (Credit Suisse) ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ในยุโรปอายุ 167 ปี กำลังสั่นคลอนจนเกือบจะล้มละลายเมื่อช่วงคืนวันพุธที่ 15 มีนาคม 2023 ตามเวลาในประเทศไทย กลายเป็นชนวนกระตุ้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของระบบการเงินโลก เป็นรถไฟเหาะของอารมณ์ที่แทบปรับตัวไม่ทันกันเลย

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตลาดหุ้นบ้านเรา
จันทร์เช้าทุกคนเริ่มตื่นตระหนกเทขายกันบางส่วน
วันอังคารเลวร้ายเหมือนโลกจะแตกตลาดแดงเถือก
วันพุธกลับมาบวกคืนสดในหลายคนบอก ‘เฮ้ย...อย่าตกใจไป’
วันพฤหัสบดีดิ่งพสุธาอีกรอบ แตกตื่นกันอีกครั้ง

หลังจากการเทขายหุ้นของธนาคารเครดิตสวิสครั้งใหญ่ที่สุดภายในวันเดียว ผู้นำของเครดิตสวิสก็อยู่เฉยไม่ได้ เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสวิสเพื่อหารือเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์ตรงนี้ พร้อมหาทางสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพให้กับธนาคารอีกครั้งหนึ่ง

ช่วงบ่าย ๆ ของวันตามเวลาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของประเทศก็ออกมาแถลงการณ์ร่วมกันโดยระบุว่าพวกเขาจะมอบสายป่านต่อชีวิตให้กับเครดิตสวิส “หากจำเป็น” โดยอ้างถึงความสำคัญของธนาคารต่อระบบการเงินในวงกว้างว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำแบบนี้

ระหว่างนั้นตลาดหุ้นทางฝั่งอเมริกาก็กำลังหมดวันและสุดท้ายตลาดหุ้นก็ปิดตัวกันอยู่ในแดนลบ โดยเฉพาะหุ้นของกลุ่มแบงก์น้อยใหญ่ที่เลือดอาบไปตาม ๆ กัน และในขณะที่เขียนบทความนี้เราก็ไม่รู้เลยว่าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง วิกฤติตรงนี้จะลามไปต่อรึเปล่า จะลากทุกอย่างให้ร่วงไปอีกไกลไหม

ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบระดับโลก

ประเด็นสำคัญที่เราควรทราบก็คือว่าเครดิตสวิสมีความสำคัญต่อเป็นระบบการเงินอย่างมาก มีทรัพย์สินกว่า 500,000 ล้านเหรียญและพนักงานกว่า 50,000 คนทั่วโลก ถ้าล้มขึ้นมาจริง ๆ จะกลายเป็นโดมิโนชิ้นใหญ่ที่สามารถสร้างความปั่นป่วนต่อระบบการเงินของทั้งโลกได้เลยทีเดียว

ลองดูสัปดาห์ก่อนที่ธนาคารอย่าง Silicon Valley Bank และ Signature Bank ปิดตัว แม้ขนาดของทั้งสองแห่งจะเล็กกว่ามากเพราะเป็นธนาคารระดับภูมิภาค มันยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกได้ทั่วโลกเลย ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับเครดิตสวิสมันจะเลวร้ายกว่านั้นหลายเท่าตัว

แอนดรูว์ เคนนิงแฮม (Andrew Kenningham) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภาคส่วนยุโรปของ Capital Economics (บริษัทวิจัยเศรษฐกิจอิสระที่ตั้งอยู่ในลอนดอน) กล่าวว่า เครดิตสวิสซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดในยุโรป “เชื่อมโยงกับทั้งโลก โดยมีบริษัทสาขาหลายแห่งอยู่นอกสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วย เครดิตสวิสไม่ใช่แค่ปัญหาของสวิสเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลกเลยทีเดียว”

เครดิตสวิสเป็นหนึ่งในธนาคารที่รู้จักในฐานะ “ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบระดับโลก” (Global Systemically Important Banks หรือ “G-SIB” - เจ้าอื่น ๆ อย่าง Bank of China, Bank of America, Barclays ฯลฯ) เมื่อหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่เหล่านี้ประสบปัญหา ผู้คนเริ่มตั้งคำถามต่อครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบและเริ่มคาดเดาว่าใครที่จะล้มเป็นรายต่อไป

ตอนนี้แม้ว่าธนาคารกลางและรัฐบาลของสวิสจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแล้วก็ตาม ความเสี่ยงของเหตุการณ์นี้ก็ยังจะมีอยู่ นักลงทุนจับตาดูความเคลื่อนไหวและผลกระทบที่จะเกิดต่อจากนี้อย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครดิตสวิสแสดงให้เห็นว่าวิกฤตยังไม่สงบง่าย ๆ อาร์เธอร์ วิลมาร์ธ (Arthur Wilmarth) ศาสตราจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์จอร์จวอชิงตันบอกว่า

“ผมคิดว่ามันไร้เดียงสาไปสักหน่อยที่คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเรื่องนี้จะจำกัดอยู่ในธนาคารท้องถิ่นสองสามแห่งเท่านั้น เพราะเห็นได้เลยว่าความตกใจยังคงสะท้อนให้เห็นในระบบธนาคารของเรา และนั่นก็สามารถชี้ให้เห็นได้ว่ามันจะลามไปยังแบงก์ที่ขนาดใหญ่มาก ๆ ด้วย”

แล้ว Silicon Valley Bank กับ Credit Suisse เกี่ยวข้องกันไหม?

ในเชิงเทคนิคแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่ในเชิงจิตวิทยาแล้วเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Herd Psychology’ หรือการทำตามฝูงหรือกลุ่มคนส่วนใหญ่ เป็นแรงผลักอยู่เบื้องหลังความกลัวและความโลภที่ทำให้เราตัดสินใจทำตามคนอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยและอยู่รอด (สมัยก่อนเจ้าสิ่งนี้แหละที่ทำให้เราวิ่งหนีเมื่อเห็นคนอื่น ๆ วิ่ง เพื่อเอาตัวรอด)

เครดิตสวิสนั้นมีปัญหาเรื่องการดำเนินการและขาดทุนมาได้สักพักแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาที่ค้างคาเปราะบางที่ทำให้สถานการณ์ของแบงก์ไม่ค่อยสู้ดีอยู่แล้ว ปีเตอร์ บูกค์วาร์ (Peter Boockvar) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Bleakley Financial Group กล่าวว่า "เครดิตสวิสเป็นรถยนต์ที่พร้อมจะชนแบบช้า ๆ มาหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้ข่าวที่เกิดขึ้นก็อยู่หนีไม่พ้นเรื่องของ SVB”

กลายเป็นว่าตอนนี้ระบบธนาคารเลยถูกตั้งคำถามอย่างหนักไม่ว่าที่ใดในโลก

ถ้าให้ตอบอย่างชัด ๆ คือ SVB ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เครดิตสวิสสั่นคลอน แต่มันทำให้นักลงทุนหันไปเพ่งเล็งปัญหาที่เกิดขึ้นภายในมาหลายปีแล้วมากกว่า และการปิดตัวของ SVB ก็เป็นตัวเร่งให้คนขายหุ้นเครดิตสวิสจนร่วงหนักจนแทบล้มละลายเลยทีเดียว

ตอนนี้ธนาคารทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่างกำลังเผชิญกับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่คล้ายคลึงกัน หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ หลายปี (และในกรณีของยุโรปติดลบด้วยซ้ำ) ตอนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรวมถึงตั๋วเงินคลังก็พุ่งสูงขึ้น กัดเซาะมูลค่าของสินทรัพย์ที่ธนาคารต่าง ๆ ถือเอาไว้อยู่ให้ลดลง

สุดท้ายคำถามก็กลายมาเป็นว่าแล้วแบบนี้ธนาคารใหญ่ ๆ ระดับโลก (หรือแม้แต่ขนาดกลางอย่าง SVB) เมื่อล้มแล้วก็ไม่เป็นไรอย่างนั้นเหรอ? ถ้าใหญ่จนสร้างผลกระทบได้ในวงกว้างไม่ว่าจะบริหารงานแย่ ขาดทุน หรือแม้แต่ฉ้อโกง สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุ้มเพราะไม่อยากให้เกิดความเสียหาย แบบนี้ถูกต้องแล้วจริง ๆ ใช่ไหม? หรือมันควรมีการวางกฎและตรวจสอบให้เข้มงวดกว่านี้รึเปล่า?