ถึงแม้ว่า Warren Buffett นักลงทุนระดับโลก จะมีกฏการลงทุนที่เคร่งครัดอยู่ 2 ข้อ คือ

ข้อที่ 1 ห้ามขาดทุน
ข้อที่ 2 อย่าลืมกฎข้อที่ 1

ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การปฎิเสธการขาดทุนเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะการลงทุนกับการขาดทุนเป็นของคู่กันเสมอ บรรดานักลงทุนระดับโลกต่างก็เคยขาดทุนมาแล้วทั้งนั้น เพียงแต่พวกเขามีวิธีจัดการกับมันอย่างชาญฉลาด

สถิติการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ว่ากันว่า “ มีนักลงทุนเพียง 20% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ที่เหลืออีก 80% ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยัง “ขาดทุนหนัก” อีกต่างหาก

แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ถึงขาดทุน?

บอกเลยสาเหตุสำคัญก็น่าจะเหมือนกันทั่วโลก คือ คนส่วนใหญ่ เน้นทำกำไรเร็ว ได้กำไรเพียง 2% - 3% ก็ขาย แต่เวลาขาดทุนกลับไม่รู้วิธีจัดการที่ถูกต้อง บางคนคิดว่าไม่ขายไม่ขาดทุน ปล่อยให้ขาดทุนลึกลงไปเรื่อยๆ

แต่บางคนเสียแล้วอยากได้คืน โดยเลือกที่จะเสี่ยงมากขึ้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Trying-to-Break-Even Effect”

เคยมีการสำรวจพฤติกรรมนักลงทุน พบว่า หากพวกเขาขาดทุนในตอนเช้า พวกเขามีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับความเสี่ยงในการลงทุน ตอนบ่าย เพื่อพยายามเอาทุนคืน

แม้โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขาจะขาดทุนมากกว่ากำไร แต่หากใช้เหตุผลทางจิตวิทยามาไขคำตอบ จะพบว่า ลึกๆ แล้ว คนกลุ่มนี้แค่รู้สึกอยากเอาคืนมากกว่า

วิธีหนึ่งที่นักลงทุนกลุ่มนี้ชอบใช้ คือ ทบ หรือ เบิ้ลเงินลงทุนทุกครั้งที่เสียไปเพื่อจะได้เงินคืน เช่น

ขาดทุน 100 บาท คราวหน้าจะลงเพิ่มเป็น 200 บาท

ขาดทุน 200 บาท คราวหน้าจะเพิ่มเป็น 400 บาท

พวกเขาเชื่อว่า วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่มีทางแพ้ เพราะไม่มีใครจะขาดทุนทุกครั้ง ขอชนะแค่ครั้งเดียว ก็จะคืนทุน แถมได้กำไรด้วย

คำถามที่ตามมา…แล้วเมื่อไหร่จะมีโชค และจะมีเงินลงทุนเบิ้ลถึงเมื่อไร ซ้ำร้าย หลายคนที่เลือกใช้วิธีนี้มักจะขาดทุนหนักกว่าเดิม เหมือนกำลังหอบเงินเข้ากองไฟร้อนๆ

ทั้งนี้ บอกได้เลยว่า…ถ้าเราสูญเสียเงินลงทุนไปแล้ว การจะทำให้เงินลงทุนกลับมาเป็นเท่าเดิมนั้นยากยิ่งกว่า

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ยิ่งกว่าการลงทุนให้ได้กำไรก็คือ “การพยายามรักษาเงินต้นเอาไว้ และหยุดการขาดทุนให้ได้เร็วที่สุด”

ส่วนวิธีหยุดขาดทุนที่ง่ายที่สุดซึ่งบรรดานักลงทุนส่วนใหญ่เลือกใช้ ได้แก่

1. ลดความเสี่ยงด้วย Stop Loss

เป็นการขายหลักทรัพย์เพื่อไม่ให้ราคาหลักทรัพย์ในพอร์ตลดลงไปมากกว่านี้ สามารถทำได้ทั้งในภาวะที่ขาดทุนแล้ว เพื่อป้องกันการขาดทุนหนัก หรือภาวะที่กำไรอยู่ แต่ไม่อยากให้กำไรลดลงไปมากกว่านี้

2. ลดความสูญเสียด้วย Cut Loss

กรณีนี้ เราได้เจอกับขาดทุนเรียบร้อยแล้ว การ Cut Loss จึงเป็นการขายหลักทรัพย์ออกไปเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด ก่อนที่จะขาดทุนมากไปกว่าเดิม ซึ่งจุดในการ Cut Loss ของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่สามารถรับได้

การลงทุนก็เหมือนกับการแข่งกีฬา มีแพ้บ้าง ชนะบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อแพ้แล้ว สิ่งที่ควรทำ คือ มีสติ ไม่ตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบ หรือความโลภเด็ดขาด เพราะจะนำมาซึ่งความเสียหายที่รุนแรงกว่าเดิม

ต้องพยายามตัดใจ เลือกเจ็บให้น้อยที่สุด แล้วถอยออกมาศึกษาใหม่ เอาประสบการณ์ที่ได้มาถอดบทเรียน แล้วฝึกฝนใหม่อีกครั้ง เชื่อว่า ถ้าเตรียมความพร้อมมาดีแล้ว ชัยชนะก็คงอยู่ไม่ไกลนะครับ