คำถามหนึ่งที่มักจะพบเสมอสำหรับตัวแทนประกันชีวิตที่เสนอ “Unit-Linked” (ประกันควบการลงทุน) ให้ลูกค้า ก็คือ เทียบระหว่างซื้อ “กองทุน + ประกัน” กับ ซื้อ “unit linked” อย่างไหนดีกว่ากัน

ตัวแทนที่เจอคำถามนี้ อย่างน้อยก็ดีใจได้นะว่า ลูกค้าเห็นถึงประโยชน์ของประกันและการลงทุน เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าระหว่างซื้อ “ประกันชีวิต + กองทุนรวมแยกกัน” กับซื้อ “ประกันแบบ Unit-Linked” อย่างไหนดีกว่ากัน

ในการบริหารการเงินเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงิน คนเราควรจะต้องมีการลงทุนอยู่แล้ว เพื่อให้ทรัพย์สินที่มีอยู่เติบโตสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกวันตามอัตราเงินเฟ้อ และเพื่อบรรเทาความเสี่ยงทางการเงินที่อาจพบในอนาคต อย่างเช่น ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับคนที่ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ หรือ ไม่มีข้อมูล ก็คือ กองทุนรวม ในเมื่อทุกคนควรลงทุนอยู่แล้ว

ดังนั้น คำถามนี้จริงๆ แล้ว ควรถามว่า ซื้อ “ประกันแบบปกติ” กับ “ประกันแบบ Unit-Linked” อย่างไหนดีกว่ากัน งั้นเราลองมาพิจารณาข้อกังวลของการซื้อประกันชีวิตแบบปกติ และ ประกันแบบ Unit-Linked กันนะว่าประกันทั้ง 2 แบบ มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร

การซื้อประกันชีวิตแบบปกติ

(1) ประกันแบบปกติผลตอบแทน (IRR) ต่ำ

• เบี้ยประกันที่เราจ่ายให้บริษัทประกัน จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนความคุ้มครอง ส่วนการออม และส่วนค่าใช้จ่าย ใน 3 ส่วนนี้มีแค่ส่วนการออมเท่านั้นที่สร้างผลตอบแทน แผลว่าเบี้ยที่เราจ่าย 100 บาท ไม่ได้เอาไปสร้างผลตอบแทนทั้งก้อน ในประกันแบบปกติสัดส่วนของเงินทั้ง 3 ส่วนนี้ถูกกำหนดคงที่โดยบริษัทประกัน ผู้เอาประกันไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้นเมื่อเทียบกับเงินทั้งก้อนที่เราซื้อเบี้ยก็ทำให้เข้าใจว่าผลตอบแทนต่ำ

• บริษัทประกันจะกำหนดผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากกรมธรรม์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปเงินคืนหรือเงินครบกรมธรรม์ หมายความว่า บริษัทประกันรับความเสี่ยงจากการลงทุนแทนเรา ดังนั้น บริษัทประกันก็จะเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งก็ส่งผลให้ผลตอบแทนต่ำด้วย

ประกันแบบ Unit-Linked เบี้ยประกันแบ่งเป็น 3 ส่วนเช่นกัน แต่ที่ต่างกัน คือ ผู้เอาประกันสามารถกำหนดสัดส่วนของเงินที่จ่ายในแต่ละส่วนได้ ทำให้เรารู้ได้แน่ชัดว่าผลตอบแทนของส่วนการลงทุนของเราได้เท่าไหร่ หากเราต้องการผลตอบแทนจากเบี้ยที่จ่ายสูง เราก็สามารถจัดสรรเบี้ยไปในส่วนของการลงทุนมากขึ้นได้ นอกจากนี้ในส่วนของการลงทุน ประกันแบบ unit-linked เราเลือกกองทุนรวมเอง หมายความว่าเราสามารถเลือกโอกาสของผลตอบแทนได้เอง แต่การลงทุนที่ให้โอกาสของผลตอบแทนสูง ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน คือเราต้องรับความเสี่ยงของการลงทุนเช่นกัน

สรุป

หากซื้อ “ประกัน + กองทุนรวมแยกกัน” ประกันที่เราซื้อจะเป็นประกันแบบปกติที่เราจะพบปัญหาผลตอบแทนต่ำ แต่ถ้าเราซื้อประกันแบบ Unit-Linked จะตอบข้อกังวลนี้ได้

(2) ความคุ้มครองต่ำเมื่อเทียบกับเบี้ยทั้งหมดที่ชำระ

(ยิ่งถ้าเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ความคุ้มครองจะยิ่งต่ำเมื่อเทียบกับเบี้ยทั้งหมดที่ชำระ)

เช่นเดียวกับเหตุผลที่กล่าวข้างต้น เงินส่วนความคุ้มครองเท่านั้นที่เอาไปซื้อความคุ้มครองให้ผู้เอาประกัน ถ้าผู้เอาประกันเลือกประกันที่มีส่วนการออมมากๆอย่างเช่น ประกันสะสมทรัพย์ และในประกันแบบปกติ เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องการให้เป็นส่วนความคุ้มครองเท่าไหร่ ทุกอย่างจะกำหนดมาแล้วโดยบริษัทประกัน แต่ถ้าเป็นประกันแบบ Unit-Linked บนเบี้ยที่เราจ่าย เราสามารถกำหนดความคุ้มครองได้สูงกว่าประกันแบบปกติ เพราะเราสามารถเลือกได้ว่า เบี้ยที่เราจ่ายจะไปจ่ายในส่วนความคุ้มครองเท่าไร ถ้าอยากได้ความคุ้มครองสูง ก็จัดสรรเบี้ยไปส่วนของความคุ้มครองมากขึ้นเท่านั้น

สรุป

หากซื้อ “ประกัน + กองทุนรวมแยกกัน” ประกันที่เราซื้อจะเป็นประกันแบบปกติที่เราจะพบปัญหาความคุ้มครองต่ำเทียบกับเบี้ยที่ชำระและขาดความยืดหยุ่นในการกำหนดความคุ้มครอง แต่ถ้าเราซื้อประกันแบบ Unit-Linked จะตอบข้อกังวลนี้ได้

(3) ภาระผูกพันยาว

ประกันชีวิตคือสัญญาที่ผูกพันระหว่างผู้เอาประกันกับบริษัทประกัน โดยผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องชำระเบี้ย บริษัทประกันมีหน้าที่ต้องให้ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ กรมธรรม์ประกันชีวิตจึงคล้ายหนี้สินที่ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องชำระตามกำหนด ยิ่งกรมธรรม์อายุยาว ภาระผูกพันก็จะยาว

หากเราไม่มีเงินชำระเบี้ย แต่ยังอยากได้ความคุ้มครองเหมือนเดิม

• กรณีประกันชีวิตแบบปกติ เราสามารถกู้กรมธรรม์ประกันชีวิต หรือนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยได้ โดยบริษัทประกันจะคิดอัตราดอกเบี้ยทบต้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ระบุในกรมธรรม์ + 2% ข้อดีคือเรายังคงได้รับความคุ้มครองเช่นเดิม แต่การจะกู้กรมธรรม์ได้เราต้องมีมูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์ หรือชำระเบี้ยประกันต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 ปี หากเราปล่อยไม่ชำระเบี้ยประกันต่อ บริษัทประกันจะกู้เงินจากกรมธรรม์อัตโนมัติเพื่อนำมาชำระค่าเบี้ยประกันแทนจนกว่ามูลค่าเวนคืนจะเหลือไม่พอสำหรับการกู้เงินจากกรมธรรม์ เนื่องจากมูลค่าเงินสดมาจากส่วนการออมของเบี้ยประกันที่ผลตอบแทนมักจะไม่สูงจึงทำให้มูลค่าเงินสดมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรได้

• กรณีประกันชีวิตแบบ Unit-Linked เราสามารถใช้สิทธิ premium holidays คือ การให้สิทธิบริษัทประกันชีวิตในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆภายใต้กรมธรรม์ อาทิเช่น ค่าการประกันภัย ค่าธรรมเนียมการบริหารกรมธรรม์ ค่าธรรมเนียมการรักษากรมธรรม์ โดยการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งขายหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ โดยผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องส่งคำสั่งเอง และถือว่าเป็นเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัย เพื่อให้กรมธรรม์ยังมีผลบังคับอยู่ในขณะที่ผู้เอาประกันไม่ชำระเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาที่กำหนด ข้อดี คือ เราไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้บริษัทประกัน และมูลค่าการลงทุนมีโอกาสที่จะเติบโตสูงกว่ามูลค่าเงินสดของประกันแบบปกติ แต่ข้อเสียก็คือ หากกองทุนขาดทุน ก็ทำให้มูลค่าการลงทุนเติบโตน้อยกว่าที่ควรเป็นหรือลดน้อยลงได้

สรุป

ทั้งการซื้อประกันแบบปกติ หรือ ประกันแบบ Unit-Linked สามารถเอาเงินส่วนการออมของเรามาชำระเบี้ยแทนได้ ดังนั้นหากซื้อ “ประกัน + กองทุนรวมแยกกัน” เงินจากส่วนการออมที่เอามาชำระเบี้ยแทนเหมือนเรากู้จากบริษัทประกันโดยมีเงินในส่วนการออม (มูลค่าเงินสด) เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เราต้องจ่ายดอกเบี้ยให้บริษัทประกัน แต่ถ้าเราซื้อประกันแบบ Unit-Linked เราใช้เงินจากส่วนการลงทุนของเราเองจ่ายเบี้ย เท่ากับเราไม่ได้กู้จากบริษัทประกัน เราก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้บริษัทประกัน แต่ก็มีความเสี่ยงที่มูลค่าการลงทุนอาจลดน้อยลงจากผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เราลงทุน

(4) จ่ายเบี้ยคงที่ตลอด โดยเบี้ยปีแรก (FYP) จะแปรผันตามอายุ ทุน ฯลฯ

• เป็นจุดแข็งของประกันแบบปกติ เพราะภาระของผู้เอาประกันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประกันแบบ Unit-Linked ค่าการประกันภัยจะเพิ่มขึ้นตามอายุ เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงของผู้เอาประกันก็ยิ่งสูงขึ้น บริษัทประกันก็ยิ่งคิดค่าการประกันภัยเพิ่มมากขึ้น แสดงว่า ประกันแบบปกติดีกว่าประกันแบบ Unit-Linked ใช่หรือไม่ “ของฟรีไม่มีในโลก”

จริงๆ แล้ว ทั้งประกันแบบปกติและประกันแบบ Unit-Linked ใช้หลักการบริหารความเสี่ยงแบบเดียวกัน ค่าการประกันภัยคิดในอัตราไม่ต่างกัน แต่ที่ประกันแบบปกติสามารถกำหนดเบี้ยจ่ายคงที่ได้ตลอดอายุกรมธรรม์แม้ว่าอายุของผู้เอาประกันจะเพิ่ม ก็เพราะประกันแบบปกติจะให้ผลตอบแทนกรณีเสียชีวิตเท่ากับทุนประกัน โดยในทุนประกันที่จ่ายให้ผู้รับประโยชน์นั้นมี มูลค่าเงินสดอยู่ด้วย เท่ากับมูลค่าความเสี่ยงภัยที่บริษัทประกันรับจริง คือ ทุนประกัน – มูลค่าเงินสด ยิ่งถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วงท้ายปของอายุกรมธรรม์ มูลค่าเงินสดยิ่งมาก ส่วนที่บริษัทประกันรับความเสี่ยงจริงๆจะยิ่งน้อย

ดังนั้น เมื่อส่วนที่บริษัทประกันรับความเสี่ยงน้อยลงเมื่อมูลค่าเงินสดเพิ่มขึ้น แม้ว่าอายุจะเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการรับความเสี่ยงของบริษัทประกันลดลง บริษัทประกันจึงสามารถลดค่าเบี้ยสำหรับส่วนความคุ้มครองลงได้ แต่ประกับแบบ Unit-Linked เรากำหนดทุนประกันแยกต่างหากจากส่วนการลงทุน เมื่อเราไม่เปลี่ยนทุนประกัน ค่าการประกันก็เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

สรุป

หากเราต้องการความคุ้มครองเท่ากับ ทุนประกัน + ส่วนการลงทุน ประกันแบบ Unit-Linked จะตอบโจทย์ แต่หากเราต้องจ่ายจำนวนเงินคืนกรณีเสียชีวิตเท่ากับที่ทุนประกัน ประกันแบบปกติจะตอบโจทย์ จะเลือกแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและเงื่อนไขของแต่ละบุคคล

การซื้อประกันชีวิตแบบ Unit Linked

➡️ประกันแบบ Unit-Linked ค่าใช้จ่ายสูง จริงๆแล้ว ทั้งประกันแบบปกติและประกันแบบ Unit-Linked ก็มีการคิดค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน (หากสัดส่วนของความคุ้มครองและส่วนของการออมไม่ต่างกัน) สังเกตุได้จากหากเราขอเวนคืนประกันแบบปกติโดยเฉพาะประกันที่เน้นความคุ้มครองสูง เช่น ประกันแบบคุ้มครองตลอดชีพ ในช่วงปีแรกๆของกรมธรรม์ เราแทบไม่ได้เงินคืน (มูลค่าเงินสดต่ำมาก) เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะค่าใช้จ่ายสูงนั้นเอง แต่ที่หลายคนรู้สึกว่าประกันแบบ Unit-Linked คิดค่าใช้จ่ายแพง เพราะประกันแบบ Unit-Linked มีความโปร่งใสมากกว่า มีการประกาศค่าใช้จ่ายให้ทราบอย่างละเอียด ขณะที่ประกันแบบปกติไม่มี

➡️ประกันแบบ Unit-Linked ในส่วนการลงทุน เลือกกองทุน RMF หรือ SSF ไม่ได้ เป็นข้อกังวลของผู้ที่สนใจจะซื้อประกันต่อแบบประกัน unit-linked ซึ่งจริงๆแล้ววัตถุประสงค์ของประกันแบบ Unit-Linked กับ RMF หรือ SSF ต่างกัน นอกจากนี้จากรูปแบบของประกันแบบ Unit-Linked ที่ให้ความยืดหยุ่นในการขายกองทุน เพื่อเอาเงินคืน หรือ เพื่อชำระเบี้ย ทำให้ส่วนการลงทุนของประกันแบบ Unit-Linked ไม่สามารถมีกองทุนประเภท RMF, SSF ได้ เพราะมีเงื่อนไขในการขายคืนหน่วยลงทุนเพื่อจะไม่เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สรุป

ระหว่างซื้อ “ประกัน+กองทุน แยกจากกัน” กับ “ประกันแบบ Unit-Linked” แบบไหนดีกว่า คงตอบยาก แต่สำคัญกว่าก็คือ เราควรเลือกแบบไหน เลือกอย่างไร ถึงจะได้แบบประกันที่เหมาะสมกับเรามากกว่า