“ถ้านึกถึงคนวัยเกษียณ ใช้เงินหรือใช้ชีวิตแบบไหน” คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้นการใช้เงินไม่ฟุ่มเฟือย เน้นลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ หรือใช้ชีวิตระมัดระวัง

คำถามต่อมา คือ ถ้าคนที่ยังไม่เกษียณ แต่ต้องการทดลองวางแผนการเงินหรือใช้ชีวิตเหมือนคนเกษียณจะได้หรือไม่ คำตอบ คือ ทำได้และควรทำ เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่ตัวเองจะเกษียณอย่างเต็มตัว เพื่อทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น

ลดค่าใช้จ่าย

ตามทฤษฎีแล้ว คนเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น ก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณก็จะอยู่ราว ๆ 14,000 บาทต่อเดือน

หมายความว่า ควรทดลองใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 14,000 บาทต่อเดือน ด้วยการสำรวจว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายประเภทไหนที่สามารถปรับลดได้ เช่น ช้อปปิ้ง ค่าสันทนาการ ค่ากินอาหารนอกบ้าน ซึ่งเทคนิคที่น่าสนใจที่ทำให้เกิดการประหยัด คือ ค่อย ๆ ปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้การใช้ชีวิตไม่ติดขัดหรือตึงตัวจนเกินไป

ลดภาระหนี้สิน

โดยปกติแล้วผู้ที่ถึงวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณไปแล้ว จะมีภาระหนี้สินลดลงหรือเคลียร์หนี้ได้ทั้งหมด เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือส่งลูกเรียนจนจบมหาวิทยาลัยเรียบร้อย ดังนั้น ควรทดลองก่อหนี้ให้น้อยที่สุดหรือเท่าที่จำเป็น จากนั้นก็สำรวจตัวเองว่าสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่หรือว่ามีอะไรขาดหายไป เพราะบางคนอาจใช้ชีวิตด้วยการก่อหนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ควรทดลองหยุดก่อหนี้บางประเภท เช่น หนี้เพื่อการบริโภค ขณะเดียวกันควรทดลองวางแผนพืชิตหนี้ที่ก่อเอาไว้ ด้วยการตั้งเป้าหมายปลดหนี้ให้หมดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

วางแผนประกันสุขภาพ

เมื่ออายุยังไม่มาก ส่วนใหญ่มักมองว่าการซื้อประกัน โดยเฉพาะประกันสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องด่วน เพราะมั่นใจว่าสุขภาพแข็งแรง จึงมองว่าเป็นประกันที่ควรซื้อเมื่อใกล้เกษียณ เช่น 50 ปี ดังนั้น อยากให้คิดว่าตัวเองกำลังถึงวัยใกล้เกษียณ ด้วยการแบ่งเงินไปซื้อประกันสุขภาพ เพื่อปิดความเสี่ยงค่ารักษาพยาบาล เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ขณะเดียวกันจะทำให้เกิดความมั่นคงกับชีวิตในระยะยาวและเป็นการเตรียมพร้อมเมื่อเกษียณด้วยความสบายใจ

จัดพอร์ตลงทุน

เมื่อเกษียณไปแล้ว ก็จะมีเงินก้อนสุดท้ายและส่วนใหญ่ก็จะนำไปลงทุนในสินทรัพน์ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อต่การจัดพอร์ตลงทุนต้องมีความรัดกุม เพราะเป้าหมายหลักอยู่ที่การมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต (ไม่ใช่ผลตอบแทนสูง ๆ)

ดังนั้น ควรทดลองจัดพอร์ต ด้วยการแบ่งเงินก้อนหนึ่ง (ให้คิดว่าเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต) ให้เหมือนคนวัยเกษียณ คือ กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นความมั่นคง เพื่อรักษาเงินต้น เช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงิน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนเป็นเรื่องรองลงมา แต่พอร์ตลงทุนควรเป็นบวก (ไม่ขาดทุน) ดังนั้น เพื่อลดผลขาดทุนจึงควรลงทุนในระยะยาว และสามารถลงทุนในรูปแบบ DCA หรือทยอยลงทุนสม่ำเสมอ

ลดการท่องเที่ยว

การเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องหลัก ๆ ของคนวัยทำงาน หลายคนวางแผนท่องเที่ยวในประเทศเดือนละ 1 ครั้ง ไปต่างประเทศปีละ 1 ครั้ง แน่นอนว่าต้องใช้เงินมากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนวัยเกษียณ หมายถึง ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้งก็ต้องดูกำลังเงินด้วยว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น คนวัยทำงานควรทดลองด้วยการลดการท่องเที่ยว เช่น ท่องเที่ยวในประเทศไตรมาสละ 1 ครั้ง ส่วนต่างประเทศก็ไปปีเว้นปี ซึ่งการทดลองแบบนี้เพื่อลดความอึดอัดในวันที่ต้องเกษียณจริง ๆ

ออกกำลังกาย

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น สุขภาพร่างกายก็เสื่อมไปตามวัย โรคภัยไข้เจ็บก็ถามหาบ่อยขึ้น ดังนั้น นอกจากการวางแผนการเงินและประกัน ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคอัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะทำให้วัยเกษียณมีสุขภาพแข็งแรง สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้

ดังนั้น ควรเตรียมพร้อมทุกด้านแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ชีวิตบั้นปลายมีความสุขกาย สุขใจ และสบายเงินในกระเป๋า