หากมีคนถามสูตรความลับความสำเร็จของวอเรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เราจะไม่ได้คำตอบเป็นสูตรคำนวณตัวเลขหรือเคล็ดลับการคาดเดาทิศทางของตลาดหุ้นเหมือนอย่างที่ได้ยินจากนักวิเคราะห์ทั้งหลายในตลาด (ที่ก็เดากันไปคนละทิศละทาง)

แต่สำหรับนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกทุนนิยมคนนี้ เคล็ดลับความสำเร็จอันเรียบง่ายของเขากับเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ (Berkshire Hathaway) คือ ‘การตัดสินใจดีๆ สักครั้งทุกๆ 5 ปี’ แค่เพียงเท่านั้น

สำหรับคนที่ติดตามผลงานของบัฟเฟตต์จะทราบดีว่าทุกปีเราจะมีโอกาสได้อ่านจดหมายถึงนักลงุทนของเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ที่บัฟเฟตต์เป็นคนเขียน ซึ่งในจดหมายนี้ก็มักจะมีข้อคิดและหลักการลงทุนของบัฟเฟตต์ติดมาด้วยเสมอ เป็นแนวคิดที่เขาตกผลึกมาผ่านประสบการณ์ที่สำเร็จและผิดพลาด หลายคนมองว่านี่เป็นบทเรียนสอนเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนที่มีมูลค่าไม่ต่างจากโรงเรียนธุรกิจชั้นดีเลยด้วยซ้ำ

ในจดหมายถึงนักลงทุนปีนี้บัฟเฟตต์ได้เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่บริหารเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์มาตลอด 58 ปี โดยสรุปออกมาเป็นตัวเลขสองตัวที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน ตัวเลขแรกคือการเติบโตของผลตอบแทนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ 3,787,464% ส่วนตัวเลขที่สองอาจจะดูเล็กลงมาหน่อยแต่มันคือเคล็ดลับความสำเร็จของเขา ซึ่งบัฟเฟตต์บอกว่า

“ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจของเรานี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตัดสินใจดีๆสักประมาณโหลหนึ่ง นั่นหมายถึงการตัดสินใจดีๆ สักครั้งทุกๆ 5 ปี”

การตัดสินใจดีๆ สักครั้งทุกๆ 5 ปี? มันไม่น้อยไปเหรอ?

มันอาจจะดูน้อยก็จริงครับ แต่การตัดสินใจเหล่านั้นสร้างมูลค่าที่ตามอย่างมหาศาล บทเรียนจากสิ่งที่บัฟเฟตต์พูดคือ ‘ความสำเร็จไม่ได้มาจากการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องอยู่เสมอ’ แต่เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ๆได้อย่างถูกต้องมากกว่า

ที่จริงแล้วบัฟเฟตต์เคยบอกว่าการลงทุนของเขาส่วนใหญ่นั้นก็ค่อนข้าง “ธรรมดาๆ” แต่การตัดสินใจที่ดีมากๆ สักครั้งหนึ่งทุกๆ 5 ปีก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วในการสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ

คำหนึ่งที่เขากล่าวในจดหมายถึงนักลงทุนและสรุปแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดีคือ

“วัชพืชจะล้มตายไปแล้วดอกไม้จะเบ่งบานแทน เมื่อเวลาผ่านไป หุ้นที่ชนะเพียงสองสามตัวก็สร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยม และแน่นอนว่าการเริ่มลงทุนเร็วๆ และมีชีวิตอยู่จนถึง 90 ก็ช่วยได้เช่นกัน”

จดหมายถึงผู้ถือหุ้นของบัฟเฟตต์เป็นสิ่งที่เรียบง่าย เต็มไปด้วยข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหลักคิดจากนักลงุทนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ หลายครั้งเขาก็จะเอ่ยถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่เคยทำมาอย่างสนุกสนาน (ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่พยายามจะหลีกเลี่ยงการเอ่ยถึงความผิดพลาดของตัวเองด้วยซ้ำ) เขาทำให้การลงทุนเป็นเรื่องที่ดูเรียบง่าย

1. ซื้อหุ้นของบริษัทที่คุณเข้าใจอย่างดี
2. เติบโตและทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ
3. มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน
4. ผู้บริหารมีความซื่อสัตย์
5. ราคาสมเหตุสมผล ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท

นอกจากนั้นเขาก็จะให้เครดิตกับโชคดีของตัวเอง เรื่องของดอกเบี้ยทบต้น การที่เขาเกิดในอเมริกา และการลงทุนที่ไม่มีความเสียหายครั้งใหญ่ๆเกิดขึ้นที่ผ่านมา

อีกบทเรียนหนึ่งที่บัฟเฟตต์เคยแชร์ให้กับนักลงทุนคนอื่นๆ คือการจินตนาการถึงบัตรเจาะรูที่มีช่องให้เจาะเพียง 20 ครั้ง เปรียบเทียบเหมือนกับว่าในชีวิตนี้ถ้าเลือกลงทุนได้เพียง 20 ครั้งจะทำยังไง? เมื่อมองแบบนี้คนที่จะลงทุนก็เริ่มตัดสินใจอย่างระมัดระวัง เลือกมากขึ้น และจะลงทุนก็ต่อเมื่อเจอสิ่งที่คิดว่าใช้จริงๆ เท่านั้น

สำหรับบัฟเฟตต์ เราอาจจะเห็นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลเช่น Coca-Cola และ American Express แต่มันก็มีการลงทุนอื่นๆ ที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงามไม่แพ้กัน

ยกตัวอย่างปี 1967 ในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทประกัน National Indemnity ที่ทำให้ เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ (Berkshire Hathaway ซึ่งตอนนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้วก็มีกำลังถดถอย) เริ่มต้นใหม่ได้และสร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท

ห้าปีต่อจากนั้นก็ซื้อบริษัทลูกกวาด See’s Candies ด้วยเงิน 25 ล้านเหรียญ และที่ผ่านมาก็สร้างรายได้ไปแล้ว 2,000 ล้านเหรียญ หลังจากนั้นในก็มีดีลที่ทำให้เกิด Bershire Hathaway Energy ในปี 1999 ที่เป็นแหล่งรายได้หลักสำคัญของบริษัทในเวลานี้ (ซึ่งตอนนี้ก็มี เกร็ก เอเบล (Greg Abel) เป็นซีอีโออยู่ เขาคือคนที่จะรับช่วงต่อจากบัฟเฟตต์หากวางมือหรือเสียชีวิต)

นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นอย่าง Burlington Northern (ธุรกิจรถไฟ) และ Gillette (ธุรกิจมีดโกน) และอย่าลืมการลงทุนในบริษัท Geico ในปี 1951 ที่เรียกว่าเป็นตัวจุดประกายความรักของบัฟเฟตต์ต่อธุรกิจประกันก็ได้

ตอนนั้นหลังจากรู้ว่าอาจารย์ที่เขานับถืออย่าง เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) เป็นประธานของ Geico บัฟเฟตต์ก็นั่งรถไฟจากนิวยอร์กไปวอชิงตันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทนี้ โชคดีที่วันนั้นแม้จะเป็นวันเสาร์ แต่ผู้บริหารของบริษัทเข้ามาทำงานพอดีและได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจประกันจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

หลังจากนั้นเขาก็เริ่มลงทุนอย่างจริงจังในหุ้น Geico และทยอยซื้อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1995 ก็รวบทั้งบริษัทเข้ามาอยู่ในเครือของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ในปี 1995

ในปี 2011 ขณะที่ตลาดกำลังกังวลเรื่องเพดานหนี้ บัฟเฟตต์ต่อสายไปหาธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Bank of America เพื่อลงทุน 5,000 ล้านหุ้นในหุ้นบุริมสิทธิและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ 700 ล้านหุ้นในราคา 7.14 เหรียญ/หุ้นเมื่อไหร่ก็ได้ในอีกทศวรรษต่อมา ตอนที่เขาตัดสินใจใช้สิทธิ์ภายหลัง หุ้นของ Bank of America ซื้อขายกันอยู่ที่ราวๆ 24 เหรียญเลยทีเดียว

นอกจากหุ้นแล้วเราก็เห็นคนที่มีความสามารถรอบๆ ตัวบัฟเฟตต์อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นพาร์ตเนอร์ ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger), อาจิต เจน (Ajit Jain) ที่ดูแลธุรกิจเกี่ยวกับประกันของบริษัท ซึ่งมังเกอร์เรียกเจนว่าเป็น “การลงทุนที่ดีที่สุดของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์” หรือ ท็อดด์ คอมบ์ส (Todd Combs) และ เท็ด เวชเลอร์ (Ted Weschler) อดีตผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยงที่เข้ามาร่วมทีมการลงทุนของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์และตัดสินใจลงทุนในหุ้นของ Apple เป็นเงินกว่า 1 พันล้านเหรียญในปี 2016

แม้ว่าตอนแรกบัฟเฟตต์จะไม่เห็นด้วยมากนัก แต่ภายหลังก็เริ่มเห็นว่ามันคือการลงทุนที่ยอดเยี่ยม หลังจากนั้นก็ทยอยซื้อเพิ่มมาเรื่อยๆ จนล่าสุดถือหุ้น 5.8% ของบริษัท Apple ไปแล้ว มูลค่าสูงถึงกว่า 180,000 ล้านเหรียญ บัฟเฟตต์ก็ออกมายอมรับว่า “Apple เป็นธุรกิจที่แตกต่างไปจากธุรกิจอื่นๆ ที่เราเป็นเจ้าของ มันเป็นธุรกิจที่ดีกว่า” จนตอนนี้กลายเป็นหุ้นที่มีสัดส่วนมากที่สุดในเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ไปแล้ว

การลงทุนที่ดีที่สุดของบัฟเฟตต์อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนในคนที่ใช่ ที่มีขอบเขตความรู้มากกว่าตัวเขาเอง ซึ่งเปลี่ยนเป็นการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ลงทุนในสิ่งที่ตัวบัฟเฟตต์อาจจะไม่ทำถ้าต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง

ความสำเร็จของบัฟเฟตต์ทำให้เห็นแล้วว่า นักลงทุนไม่จำเป็นต้องตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอไปเพื่อจะประสบความสำเร็จ แต่การตัดสินใจที่ดีมากๆ อาจจะไม่ต้องบ่อยนัก สามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีในอนาคตครั้งต่อไปและสร้างผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมได้เช่นกัน