การเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน ตามกฏหมายเป็นเรื่องของการทำ “ละเมิด” กล่าวคือ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ผู้ที่ทําละเมิด หรือ ผู้ก่อเหตุนั้น จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หากเกิดกรณีที่เราขับรถไปชนกับรถของผู้อื่นจนได้รับความเสียหายไม่ว่าจะด้วยความ “จงใจ” หรือ “ประมาท” ผู้ก่อเหตุมีหน้าที่ที่จะต้อง “ชดใช้และรับผิด” ให้สิ่งที่เสียหายไปกลับมาอยู่ใน “สภาพเดิม”

โดย “มูลค่าความเสียหาย” ที่เกิดขึ้นจะถูกประเมินตามจริงว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไร และผู้ก่อเหตุก็ต้องรับผิดชอบตามจำนวนเงินที่เป็นค่าเสียหายนั้น โดยอาจแบ่งเป็นกรณีได้ดังนี้

1. กรณีมีประกันรถยนต์

การเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ถือเป็น “ความเสี่ยง” ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเผชิญ แต่ความเสี่ยงนี้สามารถโอนย้ายได้ด้วยการ “ทำประกัน” โดยให้ “บริษัทประกัน” เป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแทนเรา

แต่ความเสี่ยงที่โอนไปให้บริษัทประกันนั้นก็จำกัดด้วยเงื่อนไขของ “วงเงินคุ้มครอง” ซึ่งจะระบุไว้ในกรมธรรม์ว่าจะมีการรับผิดชอบต่อทรัพย์ของผู้อื่นสูงสุดเป็นวงเงินเท่าใด

1.1 กรณี “ค่าเสียหาย” น้อยกว่า “วงเงินคุ้มครอง”

ในกรณีนี้บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด เนื่องจากเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงซึ่งอยู่ภายใต้วงเงินที่ได้รับความคุ้มครอง

1.2 กรณี “ค่าเสียหาย” มากกว่า “วงเงินคุ้มครอง”

ถึงแม้ว่าเราจะโอนย้ายความเสี่ยงให้บริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบแล้ว แต่ทั้งนี้ เรายังคงเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพราะฉะนั้น “ค่าเสียหาย” ที่เกินว่า “วงเงินคุ้มครอง” หากเราเป็นผู้ก่อเหตุให้เกิดความเสียหายก็ต้องรับผิดจ่ายเพิ่มไป

แต่ถ้าผู้ก่อเหตุไม่มีเงินจ่ายค่าเสียหายในส่วนที่เกินวงเงินคุ้มครอง ต้องทำอย่างไร?

จริงๆ แล้ว “ค่าเสียหาย” ถือเป็น “หนี้” อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำละเมิด ดังนั้น ผู้เสียหายก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของผู้ก่อเหตุไปขายเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ คู่กรณีสามารถเจรจาต่อรองกันได้ เช่น การขอผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ เป็นต้น

2. กรณีไม่มีประกันรถยนต์

ในเรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ “การทำประกันภาคบังคับ” กับ “ประกันภาคสมัครใจ”

ประกันภาคบังคับ ก็คือ “ประกัน พ.ร.บ.” ที่รถทุกคันต้องมี แต่ความคุ้มครองจะคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวคนเท่านั้น ส่วนประกันภาคสมัครใจ ก็คือ “ประกันรถยนต์ทั่วไป” ที่ผู้ใช้รถสามารถซื้อเพิ่มเติมได้ โดยจะมีความคุ้มครองค่าเสียหายที่เกิดจากทรัพย์สินด้วย

ดังนั้น การมีประกัน พ.ร.บ. เพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีประกันรถยนต์ และมีความเสียหายเกิดขึ้นกับรถคู่กรณี เราจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการจ่ายค่าเสียหายทั้งหมด

แต่ถ้าไม่มีเงินที่จะจ่าย ค่าเสียหายก็จะกลายเป็น “หนี้” ให้คู่กรณีฟ้องร้องในสินทรัพย์ของเราได้เช่นเดียวกันกับกรณีที่วงเงินคุ้มครองไม่พอจ่ายค่าเสียหายนั่นเอง

สรุปได้ว่า ส่วนที่ผู้ก่อเหตุจะต้องรับผิดชอบ คือ “มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง” ซึ่งถ้ามีประกันรถยนต์ และวงเงินคุ้มครองเพียงพอ กรณีนี้สบายใจเราไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ถ้าไม่มีประกันหรือวงเงินคุ้มครองไม่เพียงพอ เราจะต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือนั้น และหากไม่มีเงินจ่าย ผู้เสียหายก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องได้

ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล เจ้าของเพจ Dr. Pete Peerapat