ถ้าพูดถึงความรักหลายคนคงจะมองว่า “ความรักเป็นสิ่งสวยงาม” แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก อาจจะไม่ได้มีแค่ความรักที่มอบให้กันเพียงอย่างเดียว นั่นอาจรวมไปถึงเรื่องเป้าหมายในชีวิตที่ต้องมีร่วมกัน หรือการที่ “เงิน” เข้ามาเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของชีวิต เพราะถึงแม้เงินจะซื้อความรักไม่ได้ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การอยู่ร่วมกันจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน” และด้วยสาเหตุนี้อาจทำให้คู่รักบางคู่ต้องจบความสัมพันธ์ลงเพราะเรื่องเงิน..

วันก่อนมีลูกเพจ inbox มาเล่าให้ฟังว่า.. เขาคบกับแฟนมาได้ปีกว่า และแฟนเป็นคนที่มีหนี้สินแถมยังติดการพนัน พอทำงานได้เงินมาก็ต้องนำไปใช้หนี้จนหมด เมื่อไหร่ที่ไม่พอใช้เราก็ต้องไปยืมเงินมาตลอด จนตอนนี้เงินทั้งหมดกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ เราเองก็เป็นแค่มนุษย์เงินเดือนที่ต้องใช้เงินอย่างจำกัด และทุกครั้งที่ทะเลาะกันก็จะเป็นปัญหาเรื่องเงินตลอด พอเตือนก็หาว่าเรากำลังเข้าไปก้าวก่ายในชีวิตเขา ทั้งที่เราแค่หวังดีไม่อยากให้ในอนาคตต้องลำบาก เลยอยากทราบว่า “เงินเป็นปัญหาในชีวิตคู่ไหม?” และใครกำลังเจอกับปัญหาเหล่านี้อยู่บ้าง บ.ก.จึงอยากหยิบประเด็นนี้มาเล่าให้ฟังว่า ถ้าเรามีวิธีการจัดการเรื่องเงินให้ดี เงินก็จะไม่เป็นปัญหากับชีวิตคู่แน่นอนครับ

ถ้าจัดการเรื่องเงินให้ดี.. รักก็รุ่ง เงินก็พุ่งได้!

1. พูดคุยเรื่องเงินก่อนใช้ชีวิตคู่

เรื่องเงินจำเป็นที่จะต้องคุยกันให้เคลียร์ก่อนเริ่มใช้ชีวิตคู่ พูดคุยด้วยเหตุผลและความเข้าใจ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาค้างคาใจของทั้งคู่ ไม่ให้เกิดปัญหาที่แก้ไขได้ยากในภายหลัง เช่น เปิดใจคุยกันว่าเป็นหนี้อยู่เท่าไหร่ มีทรัพย์สินอะไรบ้าง จะได้รับรู้ร่วมกัน และช่วยกันตัดสินใจว่าคู่เราควรวางแผนการใช้เงินร่วมกันอย่างไรดี

2. รู้จักแบ่งปันทุกข์สุขให้กัน

การเงินเป็นเรื่องที่ควรเปิดเผยให้คู่ชีวิตได้รับรู้ เวลาที่เรามีปัญหาจะได้ช่วยกันแก้ไข ซึ่งบางคู่ไม่ค่อยบอกถึงปัญหาของตัวเองให้คนรักฟังสักเท่าไหร่ ด้วยสาเหตุนี้อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะกันได้ ดังนั้น ควรพูดคุยกันตรง ๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้ช่วยกันหาทางออก เพราะคงไม่มีคนรักที่ไหนอยากเห็นแฟนตัวเองลำบากหรอกครับ

3. ช่วยกันหาเงินเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว

การช่วยกันทำงานเพื่อหาเงิน ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำ เพราะการหาเงินเลี้ยงครอบครัวไม่ควรตกเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น เราจึงต้องช่วยทำงานหาเงินด้วยกันทั้งคู่ จะได้สร้างฐานะทางการเงินให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวของกันและกัน

4. วางแผนภาระค่าใช้จ่าย

เมื่อใช้ชีวิตคู่ร่วมกันความรับผิดชอบทางการเงินก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถ้าไม่มีการตกลงหรือวางแผนร่วมกันให้ชัดเจนตั้งแต่แรก ภาระค่าใช้จ่ายอาจเทไปอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเมื่อไหร่ที่เอ่ยปากขอความช่วยเหลือ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งที่กระทบกับความสัมพันธ์ในระยะยาวได้ ดังนั้น ควรแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามความพอใจของแต่ละคู่ให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

5. ไม่นำเรื่องเงินมาคิดเล็กคิดน้อย

ไม่ควรพูดบั่นทอนความรู้สึกของกันและกัน เช่น ทำไมคู่อื่นเขาจ่ายให้กัน แต่เรากลับต้องแชร์กันตลอด คำพูดเหล่านี้ไม่ควรพูดอย่างยิ่ง เพราะแต่ละคู่ก็มีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป และไม่ควรเก็บเรื่องเงินมาคิดเล็กคิดน้อยจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี ดังนั้น ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผลจะดีกว่า

คำแนะนำจาก aomMONEY : ควรเปิดบัญชีกลางไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ร่วมกัน อย่างค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน เป็นต้น ดังนั้น เราควรเปิดบัญชีไว้สำหรับเงินกองกลาง โดยนำเงินจากรายได้ของแต่ละฝ่ายแบ่งเข้าบัญชีจำนวนเท่ากัน ประมาณ 40 - 50% ของรายได้ และในส่วนที่เหลือถือเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัวของแต่ละคน เพื่อป้องกันปัญหาการเงินในชีวิตคู่ จะได้ไม่ต้องกังวลว่าเป็นการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน หรืออาจทำให้อีกฝ่ายเกิดความไม่สบายใจได้ครับ

อย่างไรก็ตาม “เงิน” อาจจะไม่ใช่ปัญหาในชีวิตคู่ของทุกคนเสมอไป เพราะเงินไม่ใช่ตัวกำหนดความสัมพันธ์ของคู่ที่วางแผนเป้าหมายร่วมกันมาอย่างดี เพียงแค่เราต้องมีความขยันและมีวินัยในการเก็บออม รวมถึงการวางแผนการเงินที่ดี จะได้เป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงิน และเพื่อให้ชีวิตคู่ของเรามีความสุขและมั่นคงยิ่งขึ้น สำหรับใครที่มีประสบการณ์เรื่องเงินกับชีวิตคู่มาแชร์ให้ฟังกันได้นะครับ ครั้งหน้า aomMONEY จะหยิบเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟังอีก ฝากติดตามกันด้วยนะครับ