อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะบนท้องถนน เพราะมักจะสร้างความเสียหายมากกว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่น อุบัติเหตุจากแผ่นปูนบริเวณถนนพระราม 2 เมื่อไม่นานมานี้ หรืออย่างปีก่อนๆ ที่มีกรณีพายุถล่ม แล้วป้ายโฆษณาหล่นมาทับใส่รถพังเสียหาย เสาเหล็กจากการก่อสร้างถนนหล่นทับรถยนต์ รวมทั้งที่พบเจอได้บ่อยที่สุด คือ ต้นไม้โค่นหล่นทับรถยนต์ ซึ่งสร้างความสูญเสียและเสียหายมากมายนับครั้งไม่ถ้วน

แล้วถ้าวันหนึ่ง คนโชคร้ายเป็นเรา ใครจะรับผิดชอบ?

ก่อนอื่นเราต้องมาดูตัวบทกฎหมายที่จะช่วยให้เราคลี่คลายสถานการณ์แบบนี้กันก่อน ไม่ว่าจะเป็น “การเรียกค่าสินไหม” หรือ “การเรียกร้องความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420

“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย สิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดนึง กล่าวไว้ว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

- อย่างกรณีแผ่นปูนทางด่วนหล่นทับคนเสียชีวิต และรถเสียหายนี้ เท่าที่ทราบจากข่าวผู้ที่ต้องรับผิดชอบ คือ การทางพิเศษฯ หรือ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้เสียหายสามารถไปเรียกค่าเสียหายจากผู้รับผิดชอบได้โดยตรง

- ส่วนกรณีรถเสียหาย การเรียกร้องค่าเสียหาย “ถ้ารถเรามีทำประกันไว้” การเรียกร้องความเสียหายกับบริษัทประกันรถเราขึ้นอยู่กับ “ทุนประกัน” กับประเภทประกันภัยรถยนต์ที่เราทำไว้

“ทุนประกัน” คือ ค่าสินไหมที่บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีเกิดความเสียหายต่อรถยนต์ตามเงื่อนไขของประเภทประกันภัยรถยนต์ ซึ่งการคำนวณทุนประกันจะเริ่มต้นที่ 80% จากราคากลางตลาด วิเคราะห์ทุนประกันจากยี่ห้อ ปีรุ่นที่ผลิต (อนุโลมเป็นปีจดทะเบียน) รุ่นรถยนต์เป็นหลัก!”

โดยทั่วไปแล้ว บริษัทประกันภัยจะประเมินทุนประกันภัยจากราคากลางที่ซื้อขายในตลาดเป็นหลัก ขณะที่รถป้ายแดงจะคิดจากราคาซื้อเป็นหลัก เราสามารถดูราคาประเมินรถยนต์ ได้ที่เว็บไซต์กรมขนส่งทางบก อย่างไรก็ดี มูลค่ารถยนต์ของเราจะลดลงเรื่อย ๆ ปีละ 10% หรือตามราคากลางรถยนต์ในปีนั้น ๆ (ทั้งนี้ประวัติการเคลมประกันไม่มีผลต่อมูลค่ารถยนต์นะครับ)

ทั้งนี้ ประเภทประกันรถในตลาดมีหลักๆ จะมี 4 ประเภท คือ ชั้น 1, ชั้น 2+, ชั้น 2, ชั้น 3+ และชั้น 3 โดยให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป

ยกตัวอย่าง กรณีแผ่นปูนหล่นใส่ เราเป็นฝ่ายถูก และมีคู่กรณี คือ การทางพิเศษฯ แบบนี้ ประกันชั้น 1, ชั้น 2+, ชั้น 3+ จะคุ้มครอง โดยทางบริษัทประกันจะไปเรียกค่าเสียหายกับทางอาคารสถานที่ บริษัทรับเหมา หรือบุคคลที่มาทำละเมิดกับรถของเราต่อไป

แต่หากประกันที่เราทำเป็นประกันชั้น 2 หรือ ประกันชั้น 3 ความคุ้มครองจะไม่ครอบคลุมกรณีอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณี ถ้าเราทำประกันชั้น 2 หรือ 3 เราต้องไปเรียกร้องความเสียหายจากคู่กรณีเอง

ถ้าเราทำทุนประกันน้อยกว่าราคากลางที่ซื้อขายกันในตลาดเยอะ หรือทำประกันชั้น 2 หรือ 3 ที่ไม่คุ้มครองอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณี หรือ เราไม่ได้ทำประกันเลย อย่างนี้แนะนำให้ไปเรียกร้องค่าเสียหายกับการทางพิเศษ หรือ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรงจะดีกว่า

หลายคนอาจสงสัย กรณีนี้รู้ตัวผู้กระทำผิด แต่ถ้าเป็นกรณีกิ่งไม้หล่นใส่รถเสียหายล่ะ ใครรับผิดชอบ ยิ่งช่วงนี้ พายุฤดูร้อนก็มาบ่อยๆ ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากกิ่งไม้หล่นใส่รถหรือไม่?

หากประกันรถที่เราเป็นประกันชั้น 1, 2+ หรือ 3+ ที่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น กิ่งไม้ร่วงใส่รถ ต้นไม้ล้มทับรถ เราก็จะได้รับความคุ้มครองนะ แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับรายละเอียดและข้อตกลงในกรมธรรม์ ต้องไปดูให้ละเอียดอีกที

แล้วถ้าเราไม่ได้ทำประกันไว้ หรือ ประกันไม่คุ้มครอง แล้วกิ่งไม้หล่นใส่รถ เราจะทำยังไง? เรื่องนี้ต้องดูว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย” รึเปล่า ถ้าเป็น ก็โทษใครไม่ได้

เหตุสุดวิสัย คืออะไร?

ตามมาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น…

ถ้าลมพายุพัดต้นไม้ล้มมาทับรถ เป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น จึงโทษใคร หรือเรียกร้องเอาค่าเสียหายไม่ได้เลย เว้นแต่ได้ทำ ประกันรถคุ้มครองภัยธรรมชาติไว้

แต่ถ้าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เราก็สามารถเรียกร้องความเสียหายได้ ดังตัวอย่างคำพิพากษาข้างล่างนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5205/2550

วันเกิดเหตุฝนตกไม่มากและลมพัดไม่แรง การที่ต้นจามจุรีริมทางหลวงล้มทับผู้ตายขณะขับรถจักรยานยนต์ไปตามทางหลวงจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความบกพร่องของกรมทางหลวงจำเลยที่ไม่โค่นหรือปล่อยปละละเลยไม่สั่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยไปโค่นต้นจามจุรีที่มีสภาพผุกลวงเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3593/2528

ต้นไม้ของจำเลยล้มเอนเข้าไปในที่ดินของโจทก์บอกกล่าวให้ จำเลยตัด จำเลยก็ไม่ยอมตัดและไม่ยอมให้โจทก์ ตัดแสดงว่าจำเลย ยังครอบครองและแสดงความหวงแหนเป็นเจ้าของต้นไม้นั้นอยู่ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงปล่อยให้ต้นไม้ของจำเลยล้มเอนเข้าไปในที่ดิน ของโจทก์โดยไม่ยอมค้ำจุนหรือตัดออกเพื่อระงับความเสียหาย อันจะเกิดแก่โจทก์ต่อไป ย่อมถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ติดต่อกันมาอยู่ตราบนั้นโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปีย้อนหลังไปนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2538

ต้นสนที่อยู่ข้างถนนซึ่งเทศบาลจำเลยที่1มีหน้าที่ดูแลมีสภาพผุกลวงแม้จะมีฝนตกและฟ้าคะนองในวันเกิดเหตุแต่ก็เป็นฝนตกเล็กน้อยและปานกลางในช่วงสั้น ๆ และความเร็วของลมก็เป็นความเร็วลมปกติการที่ต้นสนล้มลงทับรถยนต์โจทก์จึงมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัยเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนแต่เป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ยอมโค่นหรือค้ำจุนต้นสนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเพราะเหตุที่โจทก์ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตโดยระบบประสาทไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เสียสมรรถภาพทางเพศและไม่สามารถเดินได้กับค่าเสียหายที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานจากการทุพพลภาพตลอดชีวิตเป็นค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินทั้งสองกรณีอันเนื่องมาจากเหตุที่ต่างกันจึงแยกจำนวนให้ชดใช้ตามเหตุที่แยกออกจากกันเป็นแต่ละเหตุได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เราอย่าเกิดเรื่องดีกว่า ปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุด เดินทางก็อย่าใกล้แถวๆก่อสร้าง จอดรถก็จอดใต้ต้นไม้ หรือ ใต้ป้าย ฝนตกก็อย่าออกจากบ้าน ฯลฯ พูดแล้ว รู้สึกว่าชีวิตนี้ยากจัง แต่ก็อย่าเครียดกับชีวิตจนเกินไปนะ