คำถามหนึ่งที่เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต้องประสบคือเราจะสอนเรื่องเงินกับลูกเมื่อไหร่ดีและต้องสอนเรื่องไหนและยังไงบ้างล่ะ? มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนไม่น้อยเลย

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนไม่มีใครอยากจะให้ลูกรู้สึกกังวลหรือกดดันเกี่ยวเรื่องเงิน อยากให้พวกเขามีโอกาสได้เป็นเด็กและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เลยไม่แปลกที่หลาย ๆ คนเลือกที่จะเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเงินกับลูก ๆ ของตนเอง

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายคนก็บอกว่าการทำให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจทางการเงินและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินก็เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่มีความสุขและสะดวกสบายให้กับพวกเขาเช่นกัน เพราะฉะนั้นการเพิ่มความมั่นใจทางการเงินให้กับลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ

ซูเซิน เฮิร์ชแมน (Susan Hirshman) ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารความมั่งคั่งของ Schwab Wealth Advisory กล่าวว่า

“การมีความรับผิดชอบทางการเงินที่ดีเป็นสิ่งสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะทักษะทางการเงินส่งผลต่อเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น การแต่งงาน การงาน หรือการซื้อบ้าน”

บริษัทใหญ่ ๆ อาจจะเช็กประวัติการเงินของพนักงานก่อนที่จะเข้าทำงาน หรือ การซื้อบ้านหรือลงทุนต่าง ๆ ล้วนกระทบกับเครดิตการเงินของเราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการมีนิสัยทางการเงินที่ดีนั้นจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาภายหลังได้

เซท วันเดอร์ (Seth Wunder) หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของ Acorns (บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินและบริการทางการเงินสัญชาติอเมริกัน) และ เอริค ลันโดลท์ (Eric Landolt) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านครอบครัวและการสะสมศิลปะของ UBS Global Wealth Management ต่างเห็นตรงกันว่าความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงิน (Financial Literacy) นั้นจำเป็นอย่างมาก

“ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินควรจะเป็นทักษะพื้นฐานเลย เหมือนกับการอ่านหรือเขียน”

เพราะการตัดสินใจเรื่องการเงินจะมีผลกระทบในวงกว้างไม่ใช่แค่ต่อตัวเองเท่านั้น แต่ในระดับสังคมและประเทศด้วย หากประชากรไม่มีความรู้เรื่องการเงิน ใช้แบบผิด ๆ สร้างหนี้เสียที่จ่ายคืนไม่ไหว ไม่มีความรู้ในเรื่องการลงทุน หรือการเก็บออมเพื่อการเกษียณ ปัญหาเหล่านี้จะลุกลามไปทั่วเลยทีเดียว

แล้วควรสอนเมื่อไหร่ดี?

สำหรับพ่อแม่แล้วการคุยกับลูกเรื่องเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก ๆ แต่ควรพูดเมื่อไหร่ดี? แม้ผู้เชี่ยวชาญเห็นต่างกันในเรื่องนี้แต่ส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่าควรเริ่มตั้งแต่เนิ่น ๆ

วันเดอร์บอกว่าอายุประมาณ 6 ขวบคือช่วงเวลาที่เด็ก ๆ เริ่มเข้าใจคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับเรื่องการเงินแล้ว เขาบอกว่า

“นี่คือช่วงอายุที่เด็ก ๆ เริ่มเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนและเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ‘ถ้าหมดก็คือหมด’ และเริ่มเก็บเงินไว้สำหรับของที่ตัวเองอยากได้จริงๆ”

พอถึงอายุ 7 ขวบนิสัยทางการเงินส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นมาแล้ว โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่าเด็ก ๆ นั้นทราบและสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเงินเร็วกว่าที่พ่อแม่คาดเอาไว้ซะอีก

ในส่วนของเฮิร์ชแมนกลับมองว่าหกขวบอาจจะช้าไปสักหน่อย เธอกล่าวว่าต้องเริ่มให้เร็วกว่านั้นอาจจะ 3-5 ขวบเลยด้วยซ้ำ “นี่คือตอนที่พวกเขาเริ่มมีทักษะในการที่จะเลือกและมีเหตุผล” เริ่มให้ง่าย ๆ และค่อยๆพัฒนาไปเป็นการส่งต่อแนวคิดเรื่องการเงินของพ่อแม่จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ

ลันโดลท์อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝั่ง บอกว่าสัก 5 ขวบถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี เมื่อเด็กเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าของครอบครัวที่พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายถ่ายทอดออกมาในตอนนั้น เขาแนะนำให้สอนเด็กวัย 5-8 ขวบ “เรื่องพื้นฐานมาก ๆ” เช่น เงินนั้นมีค่าและทางเลือกในการใช้เงินมีผลกระทบอย่างไร

พออายุได้สัก 8-12 ขวบ ลันโดลท์เชื่อว่านี่คือช่วงที่จะคุยประเด็นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น “คุณสามารถพูดคุยเกี่ยวกับการใช้เงินประเภทต่าง ๆ เรื่องการออม เรื่องการใช้จ่าย แนวคิดบางอย่างเช่นการหาเงินและการลงทุน”

เมื่อเด็กโตเป็นวัยรุ่น อายุระหว่าง 12 ถึง 15 ปี คุณสามารถมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องเงินของตัวเองมากขึ้น เช่น การให้ทำงบการเงินของตัวเอง การใช้จ่าย การออม และการทำความเข้าใจว่าการตัดสินใจใช้เงินจะส่งผลต่อจำนวนเงินที่เหลือในภายหลังยังไง ซึ่งช่วงเวลานี้พ่อแม่ก็เริ่มคุยอย่างจริงจังเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเงินของครอบครัว การลงทุน การบริจาคเงิน การทำธุรกิจ ฯลฯ และขอความเห็นของเด็ก ๆ ได้ด้วย

ช่วงอายุ 16-18 ปี ตอนนี้พ่อแม่ต้องเริ่มคุยเกี่ยวกับระบบการเงิน ธนาคาร หนี้ประเภทต่าง ๆ ดอกเบี้ย และความรับผิดชอบทางการเงินในแบบของผู้ใหญ่เพื่อเตรียมให้เขาออกไปเผชิญโลกภายนอก

สิ่งที่ต้องคำนึงไว้เสมอเมื่อพูดเรื่องเงินกับเด็ก

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า 3 อย่างที่สำคัญที่สุดในการคุยเรื่องเงินกับเด็กก็คือ

1. ความเสมอต้นเสมอปลาย

ไม่ใช่วันนี้พูดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้พูดอีกอย่างหนึ่ง วันนี้บอกให้ลูกเก็บออม เก็บเล็กผสมน้อย วันพรุ่งนี้บอกว่าชีวิตของที่อยากได้ก็ซื้อไปเลยถ้าซื้อได้ ความไม่เสมอต้นเสมอปลายจะทำให้เด็กสับสนได้

2. โฟกัสไปที่การลงมือทำ

พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ อย่าเอาแต่สอนแล้วตัวเองไม่ทำ

3. คุยกันอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อมีโอกาสก็หยิบประเด็นนี้มาคุย สร้างเป็นนิสัยการเงินที่ดีให้ลูก

เฮิร์ชแมน กล่าวว่า

“คุณปล่อยให้เด็ก ๆ ทำพลาดเพื่อเป็นบทเรียนให้พวกเขาได้เรียนรู้ก็ได้”

วิธีหนึ่งคือการให้เงินค่าขนมแล้วสอนเรื่องความรับผิดชอบ การจัดงบ ใช้เงิน เก็บเงิน และคุยให้เหมาะกับช่วงอายุของเด็ก ๆ

“การคุยเรื่องนี้กับเด็กอายุ 6 ขวบจะแตกต่างจากเด็กในวัยรุ่น แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือการสอนเด็ก ๆ ให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นและอะไรคือสิ่งที่อยากได้”

ที่สำคัญที่สุดคือเหมือนกับการสอนทุกอย่างในครอบครัว พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ ก่อน มันถึงจะได้ผล การสอนอย่างหนึ่งแล้วทำอีกอย่างหนึ่งจะยิ่งทำให้เด็ก ๆ สับสน พ่อแม่บอกไม่มีเงิน แต่ซื้อของออนไลน์มาส่งที่บ้านกล่องไม่เว้นวัน กด F ของกันกระหน่ำ แบบนี้ลูกสับสน หรือบอกลูกให้เก็บเงิน ประหยัดอดออม แต่เวลาพ่อแม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายจนเงินในบัญชีไม่มีเหลือ

เฮิร์ชแมนเชื่อว่า “มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่พ่อแม่ต้องทำในส่ิงที่ตัวเองพร่ำสอน ไม่ใช่ทำอย่างพูดอย่างส่งสัญญาณที่สับสนให้กับลูกด้วย”