สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ผม หมอนัท จะพาผู้อ่าน Investment Idol ทุกคน ตามมารู้จักกับเรื่องราวในบ้านหลังใหญ่อย่าง KAsset วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับทีมผู้บริหารกองทุน KAsset ที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของเอกชนที่บริหารเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยบริหารกองทุนรวม    144 กองทุน รวมมูลค่าสินทรัพย์เกือบ 9 แสนล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 22.52% ด้านจำนวน AUM หรือ สินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการในทุกธุรกิจ  มีมูลค่ารวม 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20.7% ของมูลค่ารวมทั้งอุตสาหกรรมครับ (ข้อมูลจาก AIMC ณ วันที่ 30/09/2015)

น่าสนใจใช่ไหมครับ ว่าการบริหารเงินที่มากมายขนาดนี้ ผู้จัดการกองทุนต้องทำอะไรบ้าง ต้องบริหารอย่างไร และมีหลักคิดแบบไหนในการบริหารกองทุน เพราะว่ายิ่งเป็น บลจ. ที่ใหญ่ ก็ยิ่งจะต้องมีการควบคุมความเสี่ยงที่มีมาตรฐานสูง และต้องไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น

ก่อนจะไปถึงบทสัมภาษณ์ ผมขอเกริ่นเกี่ยวกับ KAsset สักเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความเข้าใจการทำงานของ KAsset  ซึ่งที่นี่มีทีมจัดการลงทุนอยู่ประมาณ 48 คน มี CFA อยู่ 37 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี CFA  Level 3 ซึ่งเป็น level สูงสุด ถึง 18  คน และยังมีทีมนักวิเคราะห์อีก 9 คน โดยผู้จัดการกองทุนมากกว่า 25 คน มีประสบการณ์ในการจัดการกองทุนมากกว่า 10 ปี นอกจากนี้ อัตราการ turnover ของผู้จัดการกองทุนนั้นก็ไม่ได้สูงเลย

จะเห็นได้ว่า ผู้จัดการกองทุนของที่นี่ไม่ธรรมดาเลย ทั้งประสบการณ์ และคุณวุฒิที่ได้รับ การจะผ่าน CFA นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะครับ ในประเทศไทยมี CFA อยู่ประมาณ 300 กว่าคนเท่านั้นเอง

เท่านี้ยังไม่พอที่จะบอกว่าเป็น บลจ. ที่ดีครับ เพราะว่าก็ต้องขึ้นกับการบริหารที่ดีด้วย และที่นี่ก็ได้รางวัลมาเยอะทีเดียวครับ เป็นการการันตีเรื่องการบริหารงานได้อย่างดีทีเดียว

คราวนี้เรามาดูแนวคิดการบริหารงาน และมุมมองทางการลงทุนกันดีกว่าครับ โดยผู้ที่จะให้ความกระจ่างกับเราในวันนี้มี 4 ท่านครับ คือ
    1. คุณพงศ์พิเชษฐ์ นานากุล ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ
    2. คุณนาวิน อินทรสมบัติ ตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศและทางเลือก
    3. คุณธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนในตราสารทุน
    4. คุณชัยพร ดิเรกโภคา, CFA ตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายด้านการลงทุนด้านตราสารหนี้

dr.nut : แนวทางการบริหารของ KAsset ต่อจากนี้คืออะไรครับ นักลงทุนจะได้เห็นอะไรจาก KAsset บ้าง

คุณพงศ์พิเชษฐ์ :  ตอนนี้สิ่งที่เราให้ความสำคัญ จะเป็นเรื่องการจัดพอร์ต หรือ Asset allocation ไปสู่รายย่อยเลย ซึ่งเราพยายามให้รายย่อยกระจายการลงทุนนะครับ

ด้วยความที่ธนาคารกสิกรไทยเรามีความมั่นคงประกอบกับตัวบริษัทเองก็อยู่มาค่อนข้างนาน เราก็เน้นให้ลูกค้าบริหารการลงทุนควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง เพราะว่าจริงๆ แล้ว ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเข้าถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูง แต่เราจะทำอย่างไรให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจว่า กำลังรับความเสี่ยงอะไรอยู่

เราก็จะเน้นให้ความรู้กับนักลงทุนผ่านสาขาของธนาคารต่างๆ และฝึกอบรมพนักงาน เพื่อให้สามารถให้ข้อมูลกับนักลงทุนได้ถูกต้อง ล่าสุดเรามี K-Expert ที่จะยกระดับการให้บริการตามสาขา ให้พนักงานใฝ่หาความรู้มากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อลูกค้าที่มีมากขึ้นได้เป็นอย่างดี ถูกหลักการการวางแผนการเงิน แต่สุดท้ายนักลงทุนจะต้องเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง หน้าที่หลักของเราก็คือโค้ชที่ให้คำแนะนำในเรื่องการลงทุน แล้วก็ทำซุปเปอร์มาร์เก็ตคือมีกองทุนที่หลากหลายให้นักลงทุนเลือกลงทุน

dr.nut : กลยุทธ์ของ KAsset ตอนนี้คืออะไร

คุณพงศ์พิเชษฐ์ : เราเน้นเรื่องของการทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นปัจจุบันเราจัดฟังก์ชันงานแยกตามความเชี่ยวชาญ เราเน้นรูปแบบการบริหารงานที่ดี เพื่อส่งต่อความมั่นใจไปยังนักลงทุนผ่านทีมการตลาด ยิ่งไปกว่านั้นเราให้ความสำคัญกับเสียงสะท้อนจากผู้ลงทุน ความต้องการของผู้ลงทุนที่ส่งผ่านเข้ามานี้ เป็นเรื่องสำคัญมากครับ

คุณธิดาศิริ : เราเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์พื้นฐานที่ดีในแต่ละหลักทรัพย์ และมองว่าธีมการลงทุนในแต่ละปีหรือแต่ละช่วงเวลาเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งในการช่วยคัดสรรหลักทรัพย์ แต่เราจะเน้นคุณภาพของทีมจัดการกองทุนและการทำงานเป็นทีม โดยกระบวนการตัดสินใจลงทุนของเราเน้นการเลือกหุ้นที่พื้นฐานดี และธุรกิจมีการเติบโตเป็นหลัก อีกทั้งเราจะพยายามเฟ้นหาหุ้นที่ดีมาเพิ่มเติม ในส่วนการวิเคราะห์ภาพรวมทางเศรษฐกิจ หรือ ภาพรวมของแต่ละอุตสาหกรรม ก็จะเอาเข้ามาช่วยในการทำ Asset Allocation โดยขั้นตอนนี้ถูกรวมอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ปัจจัยที่มากระทบตัวธุรกิจอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เรามองหุ้นพื้นฐานดีและมองเศรษฐกิจควบคู่กันไป เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี

เราแบ่งการทำงานไปในแต่ละตราสารตามความเชี่ยวชาญ ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และการลงทุนต่างประเทศ  โดยผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์ของแต่ละทีมจะมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก่อน จากนั้นเราจะนำผลสรุปของแต่ละทีมมาวิเคราะห์ร่วมกันในคณะกรรมการการลงทุน (Investment Committee) เพื่อสรุปออกเป็นกรอบใหญ่ของกลยุทธ์การลงทุน (Core House View)

ส่วนในแง่ของการวิเคราะห์ในรายหลักทรัพย์  เนื่องจากว่าทีมของเรามีความได้เปรียบในแง่ทีมที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้มีการแบ่งความผิดชอบการวิเคราะห์เป็นรายอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน  ดังนั้นการวิเคราะห์ของเราจะมีความลึกพอสมควร 

รวมถึงการที่เรามีการติดต่อกับ บลจ. ระดับโลกในต่างประเทศมากกว่า 20  บลจ. เพราะเราไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่หลากหลาย ทำให้เราได้รับการแชร์ข้อมูลการวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนแนวคิดการลงทุนได้ค่อนข้างครอบคลุมในทุกสถานการณ์

เมื่อผ่านการวิเคราะห์เป็นรายหลักทรัพย์แล้ว  หลังจากนั้นก็เป็นการสร้างพอร์ตฟอลิโอ โดยเอาความน่าสนใจของหุ้นมาเรียงลำดับกัน โดยมีการนำเอาปัจจัยเรื่องสภาพคล่องมาร่วมพิจารณาด้วย