ในปี 2012 นักเรียน MBA ที่ Richard Ivey School of Business ถาม วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ว่า “ทำไมมีคนไม่ค่อยเยอะเลยที่เลียนแบบกลยุทธ์การลงทุนของเขา?”

เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดีว่าบัฟเฟตต์คือหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก

บัฟเฟตต์ตอบได้อย่างน่าสนใจว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ! มันไม่ได้เกี่ยวกับไอคิวที่สูง ดูเหมือนสำหรับบางคนมันก็แค่ไม่โดนใจสักเท่าไหร่ การพูดคุยหรือแสดงผลการดำเนินงาน/ผลลัพธ์ให้ดูก็ไม่ช่วยอะไรด้วย พวกเขาแค่ไม่รู้สึกดีกับมัน ผมก็งงเหมือนกันว่าทำไมการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) ถึงไม่แพร่หลาย […] พวกเขาเลือกสิ่งที่น่าพอใจทางอารมณ์มากกว่า แม้คุณจะแสดงผลลัพธ์ให้ดู พวกเขาก็ยังไม่เชื่อคุณ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดหลักฐานก็แสดงออกมาทางผลลัพธ์นั่นแหละ”

ในหนังสือ “เทคนิคพิชิตหุ้น” ที่เขียนโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแนว VI ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของบ้านเราบอกว่า “ถ้ารักจะเป็น Value Investor แล้วจะต้องรู้จัก ‘ทำใจ’ ในหลายๆ เรื่อง ใหม่ๆ อาจจะรู้สึกกระวนกระวายใจและอาจทำไม่สำเร็จ แต่ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ จะทำได้ และจะทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผลดีจะตามมาเอง”

การ ‘ทำใจ’ ที่ ดร.นิเวศน์ กล่าวถึงคือหลักแนวคิดพื้นฐานที่นักลงทุน VI ควรเข้าใจและฝึกฝนอยู่เป็นประจำ หากอยากจะประสบความสำเร็จ

มีอยู่ด้วยกัน 10 ข้อ

1. อย่าตื่นเต้นหรือดีใจเกินไป

เมื่อหุ้นขึ้นแรงเร็ว เช่นเดียวกันเมื่อหุ้นร่วงหนักในช่วงเวลาสั้นๆ ก็อย่าไปเสียขวัญ อารมณ์จะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อขายที่บ่อยเกินไป และที่สำคัญคือซื้อขาย ‘ผิดเวลา’

2. อย่าเฝ้าจอ

การติดตามราคาหุ้นมากเกินไป ดร.นิเวศน์บอกว่า ‘จะทำให้เราตาลายและสับสน’ อย่าไปฟังข่าวในห้องข่าว (ห้องไลน์กลุ่ม) มากเกินความจำเป็นเพราะข้อมูลจะตีกัน หูอื้อได้ ถ้าตาลายและหู้อื้อพร้อมกัน มีโอกาสที่เราจะทำอะไรโดยไม่คิดได้ง่ายขึ้น

3. เราไม่สามารถคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นได้

มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) นักเขียนหนังสือขายดีอย่าง “Psychology of Money” เคยกล่าวว่า “ลองอ่านการคาดการณ์ตลาดของปีที่แล้ว แล้วคุณจะไม่มีทางมองการคาดการณ์ของปีนี้อย่างจริงจังอีกต่อไป”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าตลาดจะไปทางไหน ไม่มีใครสามารถทำได้ถูกต้องเสมอ 100% ดร.นิเวศน์บอกว่า “การลงทุนโดยอิงกับการคาดการณ์ภาวะตลาดจึงไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้”

ตรงนี้ต้องระวัง เพราะบางครั้งเราอาจจะรู้สึกเข้าข้างตัวเอง เมื่อคิดถูกมากกว่าผิด เราจะภูมิใจและเชื่อว่าเราสามารถเอาชนะตลาดได้ ส่วนที่ผิดคาดก็จะไปคิดว่ามันเป็น ‘ความผิดปกติ’ ของตลาด และพยายามลืม เก็บแต่สถิติที่เราเดาถูกเอาไว้เท่านั้น

4. อย่าไปสนใจมากกับการซื้อหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ

แม้ว่าการลงทุนจากต่างประเทศจะมีผลให้หุ้นขึ้นลงได้ แต่ ดร.นิเวศน์บอกว่า “เราไม่รู้ว่าวันไหนฝรั่งจะซื้อหรือขายมากน้อยแค่ไหน เรารู้ต่อเมื่อเขาซื้อหรือขายเรียบร้อยแล้ว”

5. การลงทุนในหุ้นนั้นจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไป

ในระยะสั้นมันอาจจะเหวี่ยงขึ้นลง “แต่ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม การลงทุนในหุ้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คนรวยในชั่วข้ามคืน” ถ้าอยากรวยต้องค่อยๆ ศึกษาและลงทุนอย่างต่อเนื่อง “การคิดหวังรวยทางลัดในตลาดหุ้นนั้น ผมคิดว่า 99% ขาดทุนเสียหายหนัก”

6. อย่าเปรียบเทียบกับคนที่ประสบความสำเร็จช่วงสั้นๆ

ผลตอบแทนเฉลี่ยการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 10-15% แม้คนอื่นอาจจะทำได้มากกว่านั้น ก็อย่าไปเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เราเข้าใจผิด คิดว่าวิธีของเราผิดได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องระวัง

อย่าโลภหวังรวยด้วยการเสี่ยงเพราะอยากได้ผลตอบแทนเยอะๆ การเป็นนักลงทุน VI ที่คำว่า ‘รวยไว’ ไม่มีอยู่ในพจนานุกรม ต้องรู้จักความพอใจ และเพียงพอในการลงทุน

7. ราคาหุ้นนั้นจะขึ้นลงตามกำไรของกิจการในระยะยาว

ดีหรือเลวก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทที่เราลงทุน อย่าไปกระวนกระวายหรือตกใจเมื่อตลาดกำไรเต็มไปด้วยอารมณ์

8. การลงทุน = การเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ

คิดดูว่ามันเป็นไปไม่ได้ขนาดไหนที่กิจการจะมีมูลค่ามากขึ้นหรือน้อยลงอย่างมหาศาลในเวลาไม่กี่วัน เพราะฉะนั้นการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นของธุรกิจ โดยอ้างอิงจากความผันผวนของราคาจึงไม่ใช่การตัดสินใจที่ดี

9. หุ้นร้อนอย่าเข้าไปยุ่ง

หุ้นที่ ‘เหมือน’ จะสามารถทำกำไรได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่มีพื้นฐานอะไรรองรับ ไม่มีความคุ้มค่าที่จะซื้อ อาจจะเป็นหุ้นที่กำลังมี “ข่าวดี” หรือ “เจ้ากำลังปั่น” อยู่

การเห็นหุ้นร้อนที่ขึ้นเอาๆ เป็นเรื่องที่อดใจได้ยาก แต่ ดร.นิเวศน์บอกว่า “จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าที่จะทำ บางครั้งเราอาจจะได้กำไรมากกว่าขาดทุน แต่มันจะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดของพอร์ตอย่างมีนัยสำคัญ แต่เราทำบ่อยๆ เราจะ ‘หลงทาง’” และนั่นจะกลายเป็นปัญหาตามมาในระยะยาวได้

10. อย่าเพิ่งดีใจเมื่อประสบความสำเร็จ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าคือการลงทุนแบบระยะยาว ที่เราอาจจะรู้สึกว่าหลังจากทำมา 2-3 ปีแล้วกำไร นั่นแสดงว่าเราทำสำเร็จแล้ว ที่จริงอาจจะไม่ใช่ เพราะถ้าเราลงทุนในช่วงที่ตลาดขาขึ้น หุ้นส่วนใหญ่แทบทั้งตลาดขึ้นหมด ความสำเร็จอาจจะไม่ได้มาจากความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นของเราก็ได้

เมื่อประสบความสำเร็จ ให้ลองวิเคราะห์แบบไม่มีอคติดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะอะไร เราพัฒนายังไงได้ต่อ มีความรู้ตรงไหนเติมได้อีกบ้างเพื่อจะสำเร็จในระยะยาวและสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอจริงๆ

ชาลี มังเกอร์ (Charlie Munger) อดีตคู่หูของบัฟเฟตต์ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยวัย 99 ปี เมื่อปลายปี 2023 เคยกล่าวไว้ว่า “คุณต้องเป็นเหมือนคนยืนถือหอกอยู่ริมลำธารที่ไม่ทำอะไรเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่พอปลาแซลมอนตัวโตว่ายผ่านมา เขาก็พุ่งหอกลงไป จากนั้นก็กลับมาทำอะไรเหมือนเดิม โดยอาจต้องรอถึง 6 เดือนกว่าแซลมอนตัวถัดไปจะว่ายมา”

สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าแล้ว กลยุทธ์ที่สำคัญมากๆ คือการไม่เร่งรีบและมีวิจารณญาณที่ดี นิ่งให้พอ รอให้เป็น เมื่อจังหวะมาถึง ตัดสินใจให้เฉียบขาด และก็รอจังหวะครั้งต่อไป...ซึ่งอาจจะอีกนานกว่ามันจะกลับมาอีกครั้ง

ในการพูดคุยกันระหว่างบัฟเฟตต์กับเด็กนักเรียน MBA ที่ Richard Ivey School of Business ครั้งนั้น บัฟเฟตต์ยังถูกถามอีกว่าแล้วการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคืออะไรละ? แน่นอนว่ามันต้องใช้หลักการวิเคราะห์บริษัท หาบริษัทที่มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน และมีความได้เปรียบทางการ

แต่โดยพื้นฐานแล้ว บัฟเฟตต์บอกว่าหลักปรัชญาของมันก็คือ

“นักลงทุนเน้นคุณค่าไม่ได้กังวลว่าจะต้องรวยวันพรุ่งนี้ คนที่อยากรวยเร็ว จะไม่มีทางรวยเลย มันไม่มีอะไรที่ผิดนะที่รวยอย่างช้าๆ จำเอาไว้ว่าทุกคนนอนบนเตียงเหมือนกัน กินข้าวเหมือนกันนั่นเแหละ”