ในการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคเพื่อการซื้อขายหุ้นนั้น ระดับราคาที่เป็นแนวรับ-แนวต้านเป็นข้อมูลจากกราฟที่มีความสำคัญอย่างมากในการหาจังหวะเทรดหุ้นที่ดี ผมเชื่อว่าแทบทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “แนวรับ-แนวต้าน” มาก่อนอย่างแน่นอน แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าแนวรับ-แนวต้านที่นักเทคนิคพูดกันความหมายมันคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีหน้าตากราฟเป็นแบบไหน แล้วจะเอาแนวรับ-แนวต้านไปใช้งานเพื่อซื้อขายหุ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ผมตั้งใจเขียนซีรี่ย์ “ใช้แนวรับ-แนวต้านอย่างมืออาชีพ”  เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักแนวรับ แนวต้าน และทำความเข้าใจวิธีการใช้งานเครื่องมือชนิดนี้อย่างมืออาชีพ โดยบทความนี้จะเป็นตอนที่ 1 ซึ่งจะแนะนำ คำนิยาม และที่มาของการเกิดแนวรับ-แนวต้านทางจิตวิทยให้ได้รู้จักกันก่อนครับ

จุดเริ่มต้นในการวิเคราะห์แนวรับ-แนวต้าน

จากสมมุติฐานการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลง  เกิดจากความแตกต่างระหว่างความต้องการซื้อหุ้นและความต้องการขายหุ้นของคนใจตลาด ถ้าช่วงใดที่มีคนอยากซื้อมากกว่าคนอยากขายหุ้นจะเป็นเหตุให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น  แต่ถ้าช่วงใดมีคนอยากขายมากกว่าคนอยากซื้อราคาก็จะปรับตัวลง

คำนิยามของแนวรับ

คำนิยามของแนวรับ คือ ระดับราคาที่ต่ำกว่าราคาในปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการซื้อเข้ามาอย่างมากหรือมีคนสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก

ถ้าความต้องการซื้อมีเข้ามาจำนวนมากพอ ก็จะสามารถหยุดไม่ให้ราคาปรับตัวลดต่ำลงไปกว่าระดับราคาแนวรับ และอาจจะทำให้ราคากลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้น โดยการหาแนวรับนิยมหาตอนที่ราคากำลังปรับตัวลดลง

แนวรับในทางจิตวิทยาเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ลองจินตนาการว่าเรากำลังจด ๆ จ้อง ๆ อยากซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 8 บาท แต่ราคากลับดีดตัวสูงขึ้น โดยที่เรายังไม่ทันได้ซื้อหุ้นตัวนั้นเลย สมมุติว่าเวลาต่อมา ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลงมาแถว ๆ 8 บาทอีกครั้ง สิ่งที่คุณอยากจะทำคืออะไร ?

คนส่วนใหญ่มักจะตอบว่า เมื่อราคาหุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาที่ 8 บาทอีกครั้ง ก็จะมีความรู้สึกอยากซื้อหุ้นตัวนี้ เนื่องจากครั้งที่แล้วเราพลาดโอกาสซื้อหุ้นตัวนี้ไป และไม่อยากจะพลาดโอกาสอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งความรู้สึกลักษณะนี้ก็จะเกิดขึ้นกับคนเป็นจำนวนมากในตลาด ดังนั้นถ้าราคาหุ้นกลับลดต่ำลงมาที่ 8 บาทจริง ก็จะมี “ความต้องการซื้อ” เป็นจำนวนมากเหมือนกับมีกำแพงหนา ๆ ที่มากั้นไม่ให้ระดับราคาลดต่ำลงไปกว่านี้ เราจึงสรุปว่าที่ระดับราคาประมาณ 8 บาทเป็นระดับราคาที่เราเรียกว่า แนวรับ

ความจริงแล้วไม่ใช่มีคนกลุ่มเดียวที่พลาดการซื้อหุ้นที่ราคา 8 บาทในครั้งก่อน แต่ยังมีอีกกลุ่มคนหนึ่งคือ พวกที่ขายหุ้นไปราคากแถว ๆ 8 บาทในครั้งที่แล้ว เมื่อขายหุ้นออกไปแล้วราคากลับปรับตัวสูงขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะมีความรู้สึกว่าต้วเองขายหุ้นราคาถูกเกินไป เมื่อราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงมาที่บริเวณใกล้ 8 บาทอีกครั้ง ก็จะเป็นระดับราคาที่กลุ่มคนเหล่านี้อยากจะซื้อหุ้นคืน เพราะเป็นราคาที่ได้ขายไว้ในคราวที่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มคนที่ยังไม่เคยสนใจ หรือไม่เคยซื้อขายหุ้นตัวนี้มาก่อน แต่เพิ่งเริ่มเข้ามาสนใจหุ้นตัวนี้ในเวลาต่อมา ก็จะใช้ข้อมูลของราคาหุ้นในอดีต คือ ระดับราคาใกล้ ๆ บริเวณ 8 บาท เป็นราคาที่น่าสนใจเข้าซื้อหุ้นได้อีกด้วย

คำนิยามของแนวต้าน

แนวต้านในมุมมองของการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะมีความหมายกลับกันกับแนวรับ ซึ่งคำนิยามของแนวต้าน คือ ระดับราคาที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการขายเข้ามาอย่างมาก หรือมีคนสนใจขายเป็นจำนวนมาก

ถ้าความต้องการขายมีเข้ามาจำนวนมากพอจะสามารถหยุดไม่ให้ราคาเพิ่มขึ้นไปมากกว่าระดับราคาที่เป็นแนวต้าน และอาจจะทำให้ราคากลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง โดยการหาแนวต้านนิยมหาตอนที่ราคากลับปรับตัวสูงขึ้น

แนวต้านในทางจิตวิทยาเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ลองจินตนาการว่าถ้าเราซื้อหุ้นตัวหนึ่งในราคา 10 บาท หลังจากนั้นราคาขยับปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงราคา 15 บาท แต่เรายังไม่ทันได้ขายหุ้นออกไปเพื่อทำกำไร ราคาก็กลับปรับลดต่ำลง สมมุติว่าถ้าหุ้นมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง และเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปใกล้ ๆ ราคา 15 บาท สิ่งที่คุณอยากจะทำคืออะไร?

สิ่งที่เราอยากจะทำก็คือ ขายหุ้นออกไปทันทีที่ระดับราคา 15 บาทหรือต่ำกว่า 15 บาทเล็กน้อยก็ยังอยากขายอยู่ เพราะเราเคยพลาดโอกาสในการขายหุ้นตอนที่ขึ้นไปที่ 15 บาทในครั้งแรก ซึ่งความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดกับเราคนเดียวแน่ ๆ ในตลาดก็จะมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่พลาดในการขายหุ้นตอนที่ราคาขึ้นไปที่ 15 บาทในครั้งแรก และต้องการขายหุ้นเมื่อราคาขึ้นที่ราคา 15 บาทอีกครั้ง ดังนั้นก็จะมีคนจำนวนมากจะแห่กันออกมาเทขายหุ้นที่ระดับราคานี้  ทำให้เกิด “ความต้องการขาย”เป็นจำนวนมาก ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นกำแพงหนา ๆ ที่พยายามกั้นไม่ไห้ราคาสูงขึ้นไปกว่าระดับราคานี้เราจึงสรุปว่าที่ระดับราคาประมาณ 15 บาทเป็นระดับราคาที่เราเรียกว่า แนวต้าน