จากกระแสความคิดของคนไทยปัจจุบันที่มีความเชื่อเอนเอียงนิยมชมชอบในเรื่องทุนนิยมกันมากจนกลายเป็นกระแสความคิดหลักไปแล้ว ใครๆ ก็อยากรวย ใครๆ ก็อยากมีทรัพย์สินมากกว่าคนอื่น ใครๆ ก็อยากทำอะไรก็ได้ที่ได้เงินเยอะๆ แต่เราเคยเอะใจหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วเราไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อนในอดีต แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับความคิดของเราล่ะ?

ในอดีตเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ความดีงาม การรักษาชื่อเสียง การมีหน้ามีตา การให้ความเคารพต่อคนดีมีคุณธรรมนั้นเป็นค่านิยมหลักของคนไทยในสมัยอดีต จะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงคนรอบข้าง ถ้าทำไม่ดีเดี๋ยวจะไม่มีคนคบ ถูกคนอื่นนินทาว่าร้ายจนทำมาหากินไม่ได้ คนอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พ่อค้าพาณิชย์สมัยก่อนจะแคร์สายตาคนรอบข้างเป็นอย่างมาก นอกจากนี้คนสมัยก่อนที่มีอำนาจมากมักจะสะสมบารมีกับบริวารทั้งหลาย เช่น สนับสนุนเงินทุนการศึกษาให้ผู้น้อย สร้างที่พักอาศัยให้กับบริวารได้อยู่ล้อมรอบตนเอง ให้การอุปการะเลี้ยงดูลูกหลานของบริวาร เป็นต้น ดังนั้นคนไทยในอดีตจึงห่วงเรื่องการรักษาชื่อเสียงและหมั่นสะสมความดีงามเอาไว้อยู่เสมอเพื่อให้ตนเองสามารถมีที่ยืนอยู่บนสังคมได้เสมอ

แต่มาถึงยุคนี้ปีพ.ศ. 2557 กาลเวลาผ่านไปจิตใจคนก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามกฎแห่งธรรมชาติ ค่านิยมของเราเปลี่ยนจากการให้คุณค่ากับความดีงาม มาเป็นให้คุณค่ากับเงินมากกว่า สมัยนี้เรามีค่านิยมว่า "ใครมีเงินมากถือว่าดีเก่งเฮงน่านับถือ" ระดับความรุนแรงของสำนวนที่ว่า "มีเงินนับเป็นน้องมีทองนับเป็นพี่" ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณนั้นยิ่งเพิ่มทวีคูณความสำคัญมากขึ้น" ส่วนค่านิยมต่อความดีก็เปลี่ยนไปเป็น เช่น "ดีอย่างเดียว กินไม่ได้ ไม่เอา" "คนดีไม่มีที่อยู่" "ใครรู้จักทำอะไรด้านมืดๆ บ้างนี่สิถึงจะอยู่รอดได้" ทำไมค่านิยมถึงเปลี่ยนเป็นเช่นนี้ได้?

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างทางสังคมไทยเปลี่ยนไป โดยมีเงินเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุดังกล่าวด้วย การที่มีเม็ดเงินแพร่สะพัดเฉพาะในชุมชนใหญ่อย่างในกรุงเทพมหานคร ช่วยเร่งทำให้สังคมเราที่เดิมเป็นสังคมชนบทเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่ เงินได้ถูกโฆษณาว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีควรหามาเก็บมาใช้ การมีเงินเท่ากับการมีทรัพยากรซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา ด้วยไอเดียนี้เงินจึงสามารถดึงดูดให้คนต่างถิ่นที่ไม่รู้จักกันจำนวนมากมาอาศัยอยู่ที่เดียวกันเพื่อทำงานหาเงิน การย้ายเข้ามาอยู่รวมกันอย่างรวดเร็วทำให้ความผูกพันธ์และการรู้ภูมิหลังของกันและกันต่อกันมีไม่มาก คนต่างถิ่นไม่รู้จักกัน นานวันเข้าก็ไม่สนใจต่อกันเพราะมีจำนวนมากเกินไป ต่างคนต่างอยู่ ครอบครัวในชนบทจากเดิมที่เป็นครอบครัวขยายเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จนถึงปัจจุบันสังคมคนโสดอยู่แบบเดี่ยวๆ ไม่เกี่ยวกับใครก็เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น

เมื่อผู้คนไม่รู้จักกัน ความใส่ใจ ความแคร์กันย่อมน้อยลง คนมีความสัมพันธ์กันน้อยลง ดังนั้นพฤติกรรมการรักษาชื่อเสียงความดีงามจึงถูกลดความสำคัญลงไป นอกจากนี้การที่มีคนจำนวนมากอยู่รวมกันแต่กระจัดกระจายทางความสัมพันธ์ (มีคนเยอะแต่ไม่ได้รวมกลุ่ม) เป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เกิดการทุจริตแล้วไม่ถูกลงโทษทางสังคมมากขึ้น การมีคนจำนวนมากทำให้เกิดการภาวะการกระจายความรับผิดชอบ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้ามีคนหกล้มกลางห้างที่มีคนพลุกพล่านมากๆ ก็จะไม่มีใครสนใจกันและกัน ไม่มีใครจะหยุดช่วยคนหกล้ม เพราะต่างคนต่างคิดว่าเดี๋ยวคนอื่นๆ ก็ไปช่วย ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงเช่น มิจฉาชีพสามารถใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหรือข้อที่มีบทลงโทษอ่อนโดยหลอกลวงเงินจากผู้เสียหาย โดยเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปเรื่อยๆ แต่ใช้วิธีเดิมๆ ค่อยๆ ไล่หลอกคนอื่นไปทีละนิดกลายเป็นความเสียหายก้อนใหญ่ได้ กว่าสังคมจะรู้ตัวอีกทีก็เสร็จโจรไปแล้วเรียบร้อย

ในยุคปัจจุบันที่เรามักจะตามหาความดีงามจากคนอื่น แต่ตัวเราก็ยังนิยมในทุนอยู่ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้สังคมของเราดีขึ้นอย่างสมดุลได้บ้าง คำตอบคือ ต้องเปลี่ยนแปลงความคิดของเรา เปลี่ยนการกระทำ เปลี่ยนสิ่งที่เรานิยมใหม่ เช่น จากเดิมที่จะคบใครโดยให้ความสำคัญกับเงิน ขอให้เพิ่มเติมพิจารณาเรื่องความดีงามของคนที่เราจะคบเข้าไปด้วย พยายามอยู่กับคนที่มีทั้งเงินและความดีคู่กันไป คบคนที่ทำงานสุจริต ใครทุจริตขอให้ลงโทษเขาด้วยกฎหมายและลงโทษทางสังคมประกอบกันไป

และที่สำคัญคือ อย่านิ่งดูดายต่อความเลวร้าย "เหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ได้เกิดจากคนชั่ว แต่เป็นเพราะมีแต่คนดีที่เงียบเฉยต่างหาก"

สรุปข้อคิดที่ได้จากบทความนี้

1. ความดี ชื่อเสียง การสะสมบารมี เป็นค่านิยมที่ต้องกลับหลังหันมาใส่ใจ

2. ควรนับถือคนมีเงินที่มีคุณธรรมประกอบกันไปด้วย

3. อย่านิ่งเฉยต่อความเลวร้ายในสังคม จงปกป้องสังคมจากความชั่วร้าย