เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา aomMONEY ได้มีโอกาสร่วมงาน KAsset Press Conference 2020 ในปีนี้มาในแนวคิด Flying Above Uncertainty โดยผู้บริหารทุกท่านจะมาแถลงให้ทราบถึงผลดำเนินงานของบริษัท ที่จะพูดถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจจัดการกองทุนรวม รวมถึงการทำให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน พร้อมก้าวข้ามสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวนในปีนี้

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2563 ว่า บลจ.กสิกรไทย ยังคงตั้งเป้าการเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจกองทุนด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิม ขยายฐานลูกค้าใหม่ และเพิ่มศักยภาพการลงทุนผ่านช่องทางดิจิตอล โดยมีแผนออกกองทุนใหม่ทั้งที่เป็นกองทุนทั่วไป และกองทุนทางเลือกอย่าง Private Equity Fund รวมแล้วกว่า 6 กองทุน ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงแนะนำกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ และกองทุนผสม เป็นต้น

คุณวศินและทีมงานได้พูดถึงกองทุนที่ชื่อว่า FITXL โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเปรียบเทียบกับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าใน บลจ. กสิกร ในปีที่ผ่านมามีแค่ลูกค้า 15% เท่านั้นที่สามารถเอาชนะผลตอบแทนของกองทุน FITXL ได้ซึ่งถ้าตั้งจากดัชนีที่ทาง บลจ. กสิกรใช้ในปีที่แล้วจะได้ผลตอบแทนอยู่ที่ 9.9%

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมา GDP เติบโต 2% แต่ในแง่ของตลาดกองทุนเติบโตประมาณ 6% โดยทาง KAsset มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 18% ก็เป็นสัดส่วนที่รักษามาตรฐานมาโดยตลอด

อีกหนึ่งพัฒนาการที่ทาง KAsset เห็นและพยายามจะดึงนักลงทุนเข้ามาคือการใช้ระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ K PLUS, K-My Funds เป็นต้น ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 16% มีผู้ใช้งาน 60% ของลูกค้ากว่า 270,000 คน มีธุรกรรมเกิดขึ้นทั้งหมดกว่า 1,500,000 Transactions

สำหรับการขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านกองทุน SSF นายวศินมองว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเทียบได้จากจำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ในระบบที่มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 45 ปี และมีศักยภาพเข้าลงทุนในกองทุน SSF ได้ ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 500,000 ราย หรือ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 50,000 – 70,000 ล้านบาท ส่วนการขยายฐานผ่านการเปิดบัญชีกองทุนออนไลน์ (Online Opening Account) เราได้มองเห็นอัตราการเติบโตของผู้ลงทุนกลุ่มคนรุ่นใหม่จากยอดการเปิดบัญชีกองทุนออนไลน์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี ที่ได้เข้ามาเปิดบัญชีกองทุนออนไลน์ผ่าน App K PLUS และ  K-My Funds กว่า 55%  นอกจากนี้ บลจ.กสิกรไทย ได้เตรียมแนวทางการออกกองทุน SSF เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการด้านใดด้านหนึ่ง ได้แก่ ค่าธรรมเนียมที่ต่ำ (Competitive Fee) เข้าใจได้ง่าย (Easy to Understand) และสอดรับกับกระแสโลก (New Trend) หรือครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน โดยจะต้องเข้าถึงการลงทุนได้ง่าย สะดวก และปลอดภัยด้วย

นายวศินกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาของ บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) อยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจกองทุนรวม 1.02 ล้านล้านบาท ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.77 แสนล้านบาท และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 1.63 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดจำแนกตามธุรกิจอยู่ที่ 19.5%, 14.7% และ 14.6% ตามลำดับ โดยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม (ข้อมูลจาก AIMC ณ 30 ธ.ค. 2562)

รางวัลผลดำเนินงานที่โดดเด่นในปี 2019

ในปีที่ผ่านมาทาง บลจ.กสิกรไทย ได้รางวัลที่โดดเด่นนั่นก็คือ ได้ “4 รางวัลชนะเลิศในระดับอาเซียน” จากเวที Best of the Best ASEAN Awards 2019 (Thailand) ซึ่งได้รับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน แบ่งเป็นรางวัล Best Fund House  เพื่อตอกย้ำการเป็น บลจ.ที่ยอดเยี่ยม รางวัล Best Provident Fund ส่วนรางวัลถัดมา คือ Best Investor Education และ Best Product นอกจากนี้ยังได้รางวัล “บลจ.ยอดเยี่ยมแห่งปี 2 ปีซ้อน” จากเวที SET Awards 2019 พร้อมรางวัลการันตีอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2563

บลจ.กสิกรไทย มองว่า ภาพรวมของความเสี่ยงจากปีที่แล้วยังค้างข้ามมาถึงปีนี้ และมีแน้วโน้มว่าอาจจะยังไม่สิ้นสุด ประเด็นหลักอย่างเช่น Trade War, Brexit ผลกระทบในปีนี้จากปัญหาสงครามเริ่มมีผลน้อยลง แต่สิ่งที่ตอนนี้อาจจะต้องติดตามคือเรื่องของไวรัสโคโรน่าที่กำลังประสบปัญหาอยู่ก็ต้องจับตาดูกัน

การเติบโตของโลกปีนี้น่าจะมีอัตราเติบโตต่ำลงเล็กน้อย ปัจจัยที่ต้องจับตามองก็คือเรื่องของทิศทางของการค้าที่ผ่านจากเฟสแรกไปแล้วจะมีการเจรจาในเฟสต่อไปรึเปล่า รวมไปถึงในช่วงปลายปีจะมีการเลือกตั้งของสหรัฐที่อาจจะมีผลต่อตลาดได้ ทิศทางตลาดในปีนี้มีแนวโน้มที่การเติบโตจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปแบบช้าลง สินทรัพย์ในตลาดมีราคาแพง ในส่วนของปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่

ภาพมุมมองของตลาดหุ้นไทย

ปีนี้คาดว่าผลตอบแทนน่าจะดีขึ้นมองเป้าการเติบโตอยู่ที่ 1,700 จุด คาดว่าในระหว่างปีน่าจะมีโอกาสปรับขึ้นไปได้ เพราะเนื่องจากตัว Earning Growth ของปีที่แล้วโดนปรับตัวลงไปเยอะ โดยคาดว่าจะมีการปรับการเติบโตขึ้นอยู่ 6 - 8% สะท้อน Forward PE ที่ 16.7 เท่า และ Dividend Yield ที่ประมาณ 3.17%

ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจในลักษณะสินค้า และศึกษาเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

ทีมกองบรรณาธิการ aomMONEY