จากคราวที่แล้วที่ผมได้แนะนำกองทุนเปิดใหม่ สำหรับเดือนที่แล้วไป ก็มีคนถามเรื่องกองทุนจำพวก Healthcare ที่เป็น FIF เข้ามามากเหมือนกัน (ใครไม่รู้จักกองทุน FIF คลิกที่นี่ครับ)

เนื่องจากว่างานเยอะ และด้วยความขี้เกียจ ผมจะขอยกบทความที่ผมเคยเขียนถึง มาดังนี้ครับ

เนื่องจากในยุคนี้ที่เป็นยุคของการดูแลสุขภาพ และเป็นยุคที่ทุกประเทศทั่วโลกนั้น เริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุกันเกือบหมดครับ และปัจจัยบวกที่ดีของกองทุนต่างประเทศตอนนี้คือ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นของโลกที่ดีขึ้น และความต้องการของผลิตภัณฑ์การแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญมาก ๆ กับเรื่องสุขภาพครับ

ดังนั้นในช่วงปีที่ผ่านมากองทุนประเภทนี้จะทำผลตอบแทนได้ดี และผมคาดการณ์ว่าน่าจะดีขึ้นไปได้อีกครับ เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่โรคร้ายต่าง ๆ มีให้เห็นมากขึ้นด้วย

แต่กองทุนเหล่านี้ก็ต้องระวังเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ครับ เช่น ลิขสิทธิ์ยา เนื่องจากยาบางตัวที่ออกมาใหม่ จะมีลิขสิทธิ์ครับ ถ้ากองทุนได้เลือกหุ้นที่ดี และประจวบเหมาะกับเป็นบริษัทยาที่มีลิขสิทธิ์ในการผลิตยาอยู่ละก็ ผลตอบแทนก็จะมีแนวโน้มดีมากครับ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเลือกไม่ดีละก็ อันนี้จะมีผลต่อผลตอบแทนที่ได้ในทางลบเช่นกันครับ หรือ ยาที่มีลิขสิทธิ์ แต่กำลังจะหมดอายุของลิขสิทธิ์ลง ก็อาจจะมีผลทำให้บริษัทอื่น ๆ สามารถผลิตออกมาขายแข่งได้เหมือนกันครับ

ความเสี่ยงเรื่องของ การต่อรองราคาในระบบประกันสุขภาพและสาธารณสุขก็จะมีผลเช่นกัน ซึ่งคล้าย ๆ กับบ้านเราในตอนนี้ครับ คือบริษัทจะขายยาให้กับโรงพยาบาลรัฐได้จะต้องมียาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ถึงจะได้สิทธิ์ในการเบิกจ่ายก่อน ส่วนยาอื่น ๆ อาจจะต้องคิว หรือ แพทย์เป็นผู้เลือกใช้เองครับ อันนี้ก็จะมีผลกระทบต่อหุ้นบริษัทยาที่ไม่สามารถขายยาเข้าไปที่โรงพยาบาลของรัฐได้ครับ

คราวนี้เรามาดู กองทุนที่ไปลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับ healthcare ในต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยเรามีอยู่ไม่กี่กองทุนครับ เช่น

กองทุน B-CARE ของ บัวหลวง 

กองทุน PHATRA GHC ของ ภัทร

และกองทุนที่เพิ่งเปิดใหม่ KF-HEALTHD ของ กรุงศรีนั่นเองครับ

*ขอขอบคุณตารางสรุปข้อมูลกองทุนจาก บล. ฟิลลิปนะครับ

**กองทุนแม่ หรือ Master Fund คือกองทุนหลัก ที่กองทุนเหล่านี้ได้ไปลงทุนด้วยครับ ( Feeder Fund ) ท่านไหนงง ว่ากองทุนแม่ หรือ Master Fund คืออะไร กดที่นี่ครับ

ซึ่งกองทุนแต่ละกองทุนก็มีข้อแตกต่างกันไปครับ เช่น กองทุนของบัวหลวงไม่ได้มีการปันผล ส่วนกองทุน ของภัทร และ กรุงศรีนั้นจะมีเงินปันผลด้วยครับ

ส่วนข้อแตกต่างของกองทุนปันผลและ ไม่ปันผลนั้นผมได้เขียนไว้ในบทความคราวก่อนแล้วครับ กดที่นี่ ลองเปรียบเทียบกันได้ครับ ว่าชอบแบบไหนครับ

ก่อนที่จะไปเรื่องของผลตอบแทน เรามาดูว่าแต่ละกองทุนมีกองทุนแม่เป็นกองทุนไหนกันบ้างนะครับ เพราะว่าเราได้ทราบว่า ผู้จัดการกองทุนที่มาดูแลเงินของเรานั้น เอาเงินไปลงทุนกับ หุ้นแบบไหน และ/หรือ มีสไตล์ของการลงทุนแบบใดครับ

กองทุน B-CARE ของ บัวหลวง

: Master Fund  คือ Wellington Global Health Care Equity Portfolio

โดย 10 บริษัทที่กองทุนถืออยู่คือด้านล่างนี้ครับ

โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทยา และ biotech ชั้นนำครับ

ส่วนผลตอบแทนในหุ้นแต่ละตัวค่อนข้างสูงในช่วงปีที่ผ่านมาครับ เนื่องจากข้อได้เปรียบจากแนวโน้มของประชากรที่ผมได้กล่าวมาแล้วด้านบน

ดังนั้นจะส่งผลให้กองทุนนี้ค่อนข้างจะให้ผลตอบแทนดีไปด้วยครับ

กองทุน PHATRA GHC ของ ภัทร

: Master Fund คือ .......ไม่มีครับ ......อ้าวแล้วไปลงทุนอะไรกันละ ?

การลงทุนของกองทุนนี้ จะเน้นกระจายการลงทุนใน หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตางประเทศประเภท Equity ETF

ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสาร ทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของดัชนีอุตสาหกรรมและการบริการที่เกี่ยวกับ
การแพทย์เภสัชกรรม สุขภาพการรักษาพยาบาล และหรือ เทคโนโลยีชีวภาพ (Health Care Industry) ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก

ตัวอย่างหลักทรัพย์ที่ลงทุน

1. ไอแชร์เอสแอนด์พีโกลบอลเฮลธ์แคร์เซคเตอร์ (IXJ)
2. เอสพีดีอาร์เอสแอนด์พีไบโอเทค (XBI)
3. ไอแชร์ดาวโจนส์ยูเอสเมดดิคอลดีไวซ์ (IHI)
4. ดาวน์โจนส์ยูเอสเฮลธ์แคร์โพรไวเดอร์อินเด็กซ์ฟันด์ (IHF)
5. เอสพีดีอาร์เอสแอนด์พีฟาร์มาซิทิคอลอีทเอฟ (XPH)

เรียกได้ว่าลงทุนกับ ETF ครับ เป็น สไตล์ passive fund ที่แต่เอา กองทุน ETF หลากหลายตัวมารวมกันครับ(แต่ก็มีการปรับสัดส่วน ETF ในกองทุนเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ต่าง ๆ อาจจะดูเหมือนเป็น active fund ผสมรวมอยู่ด้วยเลยครับ)

ใครไม่รู้จัก passive fund กดที่นี่ครับ

ซึ่งผลตอบแทนผมจะคุยกันอีกทีด้านล่างครับ

กองทุน KF-HEALTHD ของ กรุงศรี

: Master Fund คือ JPMorgan Funds – Global Healthcare

ต้องเรียนตามตรงว่า ผมค่อนข้างที่จะคุ้นเคยกับหุ้นของบริษัทในกองทุนนี้เสียมากกว่าครับ ซึ่งเป็นบริษัท ยา และ วัคซีนเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ

และเป็นบริษัทที่อยู่มานานมีประวัติที่ดีครับ และเราจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนก็สูงเช่นเดียวกันครับ

งั้นคราวนี้ เรามาดูกันครับว่าแต่ละกองทุนนั้น ในรายละเอียดลึก ๆ แล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับ

โดยเริ่มจากผลตอบแทนก่อนนะครับ

โดยภาพรวมของผลตอบแทนแล้วดูเหมือนว่า กองทุน KF-HEALTHD ของ กรุงศรี จะให้ผลตอบแทนมากที่สุดครับ

ผมมักจะบอกกับผู้ลงทุนในกองทุนเสมอว่า เราก็ดูเฉพาะผลตอบแทนไม่ได้นะครับ ต้องดูด้วยว่ากองทุนที่เราเลือกนั้นให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอด้วยรึเปล่านะครับ