"ลงทุนไปตั้งเยอะทำไมพอร์ตไม่โตสักที!"
"หนูจะลงทุนอะไรดีล่ะคะเพราะนี่ก็ตกรถไปหลายคันแล้ว!"
"ติดดอยมาตั้งหลายปีหาทางลงให้พี่หน่อยสิน้อง!"

ฮั่นแน่ะ! .. เป็นเหมือนกันล่ะสิ!

นี่คือตัวอย่างของปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นได้กับนักลงทุนทั่วไปนั่นแหละครับ ซึ่ง Aommoney Guru หลายต่อหลายท่านก็ได้แนะนำการแก้ปัญหาเหล่านี้กันไปบ้างแล้วไม่น้อยเลยทีเดียว แต่เพื่อให้ผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านได้เข้าใจปัญหาเหล่านี้และแก้ปัญหากันได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ผมจะขออนุญาตพาไปทำความรู้จัก 'อคติ' ทางการลงทุนอันเป็นรากเหง้าและต้นตอของปัญหากันก่อนดีกว่า พร้อมด้วยคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแก้ปัญหา จะได้ถอนรากถอนโคนความเม่าของเราให้หมดไปเสียที!

ซึ่งจากศาสตร์ที่ว่าด้วย การเงินเชิงพฤติกรรม หรือ Behavioral Finance นั้นได้อธิบายไว้ว่า นักลงทุนมักจะมีอคติหรือ การเอนเอียงทางความคิด (Cognitive bias) กับการลงทุนอยู่ด้วยกัน 4 ประเภทหลัก โดยแฝงตัวอยู่ตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการลงทุนตามลำดับดังต่อไปนี้

1. Bias when selecting asset (Availability bias)

หรือการเอนเอียงทางความคิดที่เกิดขึ้นตอนที่เลือกสินทรัพย์เพื่อลงทุน ตัวอย่างเช่น

  • Home bias: มักจะลงทุนเยอะ (over-invest) เฉพาะกับสินทรัพย์ที่อยู่ในประเทศของตัวเองหรือภูมิภาคของตัวเองมากกว่าจะไปแสวงหาจากที่อื่น
  • Recency bias: ให้น้ำหนักกับข้อมูลที่ได้รับมาล่าสุดมากจนเกินไป แห่ตามไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เค้าว่ากันว่าดีในปีล่าสุด โดยไม่ได้ดูว่ามันมีนัยสำคัญมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต
  • วิธีแก้: ค้นคว้าข้อมูลให้มากขึ้น ออกจาก comfort zone ของการลงทุนซะ อย่ามัวแต่ขอ อย่ารอแต่โพย หัดทำการบ้านเองบ้าง

2. Bias when processing information

หรือการเอนเอียงทางความคิดเมื่อกำลังพิจารณาข้อมูลที่ได้รับมา ตัวอย่างเช่น

  • Anchoring bias: ให้ความสำคัญกับข้อมูลชุดแรกมากเกินไป เชื่อจนสนิทใจ คิดว่าสินทรัพย์ตัวนี้มันดีแล้วก็คงจะดีต่อไป จนทำให้ขาดความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาConfirmation bias: พยายามหาแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความคิดของตัวเองเพียงด้านเดียว และไม่สนใจหรือเพิกเฉยข้อมูลที่มีมุมมองแย้งความเห็นของตัวเอง
  • Overconfidence bias: มั่นใจเกินเหตุ จนทำให้ประเมินความเสี่ยงในการลงทุนน้อยเกินไป และคาดหวังผลตอบแทนที่มากเกินไปกว่าความเป็นจริง
  • วิธีแก้: พยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนให้ได้มากที่สุดในทุกแง่มุม พิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริง(fact) มากกว่าความเห็น(opinion)

3. Bias when rebalancing portfolio

หรือการเอนเอียงทางความคิดเมื่อต้องปรับพอร์ตการลงทุน ตัวอย่างเช่น

  • Endowment effect (status-quo effect): ให้มูลค่ากับสินทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่แล้วมากกว่ากับสินทรัพย์ตัวเดียวกันในกรณีที่ตัวเองไม่มี แถมมั่นใจว่าตัวเองคิดถูกแล้ว จนยึดติดและพลาดโอกาสในการลงทุนอื่น ๆ ที่อาจจะได้ผลตอบแทนมากกว่า นำไปสู่ความกลัวที่จะตกรถ (เสียดายถ้าไม่ได้ไปลงทุน หรือ fear-to-regret)
  • Disposition effect: ว่าง่าย ๆ คืออาการหลักของเม่าน้อยนั่นเอง ที่มักจะขายหมู (ทนกำไรได้น้อย) และติดดอย (ทนขาดทุนได้มาก) กันอยู่เรื่อย ๆ
  • วิธีแก้: วางแผนการลงทุนซะ แล้วปรับพอร์ตเพื่อทำตามแผนนั้นอย่างมีวินัย สำหรับใครที่ติดดอยไปแล้ว ลองคิดซะว่าถ้าก่อนหน้านี้ไม่ได้ซื้ออะไรที่ติดดอยนั้นไว้ ตอนนี้เวลานี้จะเข้าไปซื้อไหม? ถ้าพิจารณาใหม่แล้วว่ายังไงก็จะซื้อ งั้นก็ถือต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ ก็อย่าไปทนไปถัว ยอม cut loss ปรับพอร์ตตามระเบียบตามแผนไปเถอะครับ

4. Bias when evaluating performance

หรือการเอนเอียงทางความคิดเมื่อต้องประเมินศักยภาพการลงทุนของตัวเอง ตัวอย่างเช่น

  • Hindsight: หลงเชื่อว่าตัวเองทำนายผลของการลงทุนได้ ทั้งที่มันเป็นแค่ผลลัพธ์เดียวจากหลากหลายความน่าจะเป็น นำไปสู่อารมณ์ที่ว่า "รู้งี้" หรือ "ว่าแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้" นั่นเอง
  • Bias blind spot: เห็นว่าคนอื่นผิดพลาดยังไง แต่ไม่เคยเห็นความผิดพลาดของตัวเอง
  • วิธีแก้ : ลดอีโก้ของตัวเองลงบ้าง ใช้วิจารณญาณและเหตุผลในการตัดสินศักยภาพของการลงทุนของตนเงอ รวมถึงสำรวจความคิดตัวเองอยู่เสมอ

ด้วยอคติเหล่านี้แหละครับที่ทำให้พอร์ตการลงทุนของเราไม่ไปไหนเสียที ซึ่งอคติเหล่านี้ก็ไม่ได้ผูกติดกับหุ้นหรือหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่น ๆ เท่านั้นนะครับ มันยังไปแฝงกับการประกอบกิจการ การทำธุรกิจ หรือการตัดสินทางการเงินอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นจากตัวของเราเองทั้งนั้นแหละครับ

ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ได้เท่ากับเธอทำตัวของเธอเอง ~

สำหรับใครที่สนใจในเชิงลึกก็ลองศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการเงินเชิงพฤติกรรมดูครับ และผมเองก็หวังว่าบทความนี้จะเกิดประโยชน์กับทุกท่านที่ได้อ่าน ได้เริ่มสำรวจตัวเองว่าเรานั้นมีอคติหรืออาการเอนเอียงทางความคิดด้านการลงทุนเหล่านี้อยู่กับตัวหรือไม่ จะได้ลองหาทางแก้ไขและปรับแนวทางการลงทุนให้เหมาะสมกันนะคร้าบบ ^^

ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit