สวัสดีค่ะ...ชาวนิสิตนักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจทุกคน บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาตัวเองเลยค่ะ

ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สมัยยังเป็นนักศึกษาปีที่ 1 เป็นครั้งแรกในชีวิต
ที่ได้เงินจากคุณพ่อคุณแม่เป็นรายเดือน ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่มากๆสำหรับเรา
เพราะสมัยมัธยมได้เงินไปโรงเรียนวันละ 50 บาท แต่พอเข้ารั้วมหาวิทยาลัย
ได้ถึงครึ่งหมื่นเลยทีเดียว (เราอยู่หอน้าาา)

เมื่อได้รับเงินมา จึงเริ่มคิดวางแผนการออมเงินของตนเอง
โดยจะหักเงินออมออกมาก่อน 50% แล้วใช้จ่าย 50%
ของเงินที่เหลืออยู่ (งกขั้นสุดอะ)

แต่ด้วยความที่เป็นการเปิดปีการศึกษาใหม่ จะมีค่าหนังสือเรียน
ค่าชีทเรียนต่างๆนานา จ่ายวิชานึงเป็นร้อยๆ แล้วลงเรียน 7 วิชา
ค่าน้ำค่าไฟหออีก

ทำยังไงดีคะ? ติ๊กต่อก...ติ๊กต่อก... โทรหาคุณพ่อคุณแม่ ขอเบิกเงินค่ะ 555555

ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ทีไร จะขอเบิกคุณพ่อคุณแม่ตลอด
และท่านจะให้เกินมา (มาก) ทุกครั้ง ส่งผลให้มีเงินออมมากกว่า 50%
(ยอมรับว่าเป็นพฤติกรรมที่ส่อถึงความงกเกินไปหน่อย หรือว่ามาก? แหะๆ)

พอครบเทอม เรามีเงินออมประมาณ 25,000 บาท มานั่งคิดๆว่า
“ จบปริญญาตรี ขอมีเงินออมซัก 100,000 บาทละกัน ค่อยๆเก็บไป ”
เทอมต่อไปคงเก็บไม่ได้เท่านี้ละแหละ เพราะที่เก็บมาได้นี่แทบจะขูดรีดเงินจากคุณพ่อคุณแม่จนหมดตัว ToT

ทีนี้เรามาเริ่มวางแผนเก็บเงินแสนภายใน 4 ปีกันค่ะ
ลองเอาเงิน 100,000 บาทมาหารแบบไม่มีปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ย
หรือ อัตราผลตอบแทนมาเกี่ยวข้องดูนะคะ
จะต้องออมเงินปีละ 25,000 บาท หรือ ประมาณ 2,084 บาทต่อเดือน

ถึงตรงนี้…บางคนอาจจะคิดว่า หูยย...เยอะจังเลย
แต่บางคนอาจจะบอกว่าก็กำลังพอดี

เราจะไม่สามารถบอกได้ว่า เงินจำนวนนี้เป็นจำนวนที่มากหรือน้อย
เพราะขึ้นกับรายรับ และการใช้จ่ายเงินของแต่ละคน

แต่หากเรานำเงินออมส่วนนี้ไปต่อยอดด้วยการฝากประจำ หรือ การลงทุน
จะทำให้สามารถออมเงินน้อยกว่า 2,084 บาทได้ค่ะ
ทั้งนี้การลงทุนขึ้นกับความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคนด้วย

ตัวอย่าง

หากนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้นที่ให้ผลตอบแทน 8% ต่อปี
ในระยะเวลา 4 ปี จะต้องนำเงินไปลงทุนเดือนละประมาณ 1,763 บาท

หากเงินลงทุน 1,763 บาทนี้ อยู่ในช่วง 10-20% ของรายรับ
สามารถนำไปใช้ได้เลยค่ะ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินของเรามาก

หากเงินลงทุนนี้ มากกว่า 20% ของรายรับ และเรามีความสามารถที่จะลงทุน
ด้วยเงินจำนวนนี้ได้ ถือว่าดีมากๆค่ะ

แต่หากเงินลงทุนนี้ มากกว่า 20% ของรายรับ เราออมไม่ไหว เพราะมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง

เรามี 3 เทคนิคง่ายๆ มาให้ลองปรับใช้กันดูค่ะ

1. ลดค่าใช้จ่ายลง

ต้องมาดูว่าส่วนใหญ่เราเสียเงินไปอะไร เช่น ค่าอาหาร ค่า shopping

- ค่าอาหารอาจจะต้องลดการทานอาหารในห้างลงบ้าง

สำหรับนิสิตนักศึกษาที่อยู่หอพัก จะประหยัดได้ด้วยการทานอาหารที่โรงอาหาร
แต่วิธีการที่หักดิบที่สุดคือทำอาหารทานเองเลยค่ะ ประหยัดไปได้ 50% เลยทีเดียว
สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ไม่ได้อยู่หอพัก อาจจะต้องเลือกกลับมาทานอาหารที่บ้าน
แทนการไปทานอาหารข้างนอกกับเพื่อน

- ค่า shopping ต้องถามใจตัวเองดีๆก่อนว่าของสิ่งนั้น เป็นของที่จำเป็นจริงๆ หรือ เราแค่อยากได้กันแน่ ???

ถ้าเรากันเงินออมออกมาก่อนแล้ว (รายได้-เงินออม = ค่าใช้จ่าย) จะทำให้มีเงินไป shopping น้อยลง

เมื่อเราเก็บเงินถึงจำนวนที่ต้องการแล้ว ถ้าเป็นของที่จำเป็น เราก็ซื้อให้เป็นรางวัลตัวเอง
แต่ถ้าเป็นของที่เราอยากได้ ถึงตอนนั้นเราอาจจะรู้สึกเสียดายเงิน ไม่อยากซื้อแล้วก็ได้
อุตส่าห์เก็บมาตั้งนานหนิเนอะ

2. หารายได้เสริม

ช่วงเปิดเทอมอาจจะไม่ค่อยมีเวลาว่าง แต่ช่วงปิดเทอมถ้ามีเวลาว่าง 
ลองไปสอนพิเศษ หรือ สมัครงาน Part-time ดูก็ได้ค่ะ

3. นำรายรับที่ไม่คาดหวังเข้ามาลงทุนเพิ่ม

เช่น จากวันเกิด , แต๊ะเอียจากวันตรุษจีน

สรุป...
จะเห็นว่า หากมีเป้าหมายเดียวกันแล้ว และเรามีแผนการออมเงินตั้งแต่เนิ่นๆ 
จะทำให้ออมเงินด้วยจำนวนเงินที่น้อยกว่า 
ซึ่งจะไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรามาก

ช่วงนี้น้องๆม.6 กำลังอยู่ในช่วงเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย
หากน้องๆมีเป้าหมายอยากจะออมเงินแสน ลองนำแผนการเงินนี้ไปปรับใช้ดูได้นะคะ

แต่หากตอนนี้เป็นนิสิตนักศึกษา ปี 3 ปี 4 เหลือเวลาออมอีก 1-2 ปี
และมีความสามารถในการที่จะลงทุนได้ในเดือนละประมาณ 4,000-8,000 บาท
ก็ยังสามารถนำตารางด้านบนไปใช้ได้ค่ะ

แต่สำหรับนิสิตนักศึกษาที่มีเงินออมไม่ถึงเท่านั้นล่ะ?
ออมให้ได้เดือนละ 10-20% ของรายรับก็ถือว่าโอเคแล้วค่ะ
เมื่อมีรายได้เสริม หรือ รายได้ที่ไม่คาดหวังเข้ามา ก็สามารถนำไปโปะเพิ่มได้

สุดท้ายนี้สามารถติดตาม CheewitNisit ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/cheewitnisit
Line@ : http://line.me/ti/p/%40cjy1911n