จากข้อมูลของ The Ohio state university กว่าครึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้ามารักษาด้วยอาการหัวใจล้มเหลวนั้น ต้องกลับมาที่โรงพยาบาลภายในหกเดือน เนื่องจากมีของเหลวสะสมอยู่ในปอดของพวกเขา บริษัท Sensible Medical ของอิสราเอลไม่ต้องการให้มันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก พวกเขาจึงทดลองหาวิธีแก้ไขด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า SensiVest และทำการทดลองแบบสุ่มในคลินิกของรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา

SensiVest เป็นอุปกรณ์หน้าตาคล้ายเสื้อกั๊กที่มีสายไฟเชื่อมต่อเข้ากับจอมอนิเตอร์ สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำคือสวมใส่มันประมาณ 90 นาทีต่อวัน

ระบบของ SensiVest นั้นอ้างอิงจากเทคโนโลยีทางการทหารเกี่ยวกับเรดาร์ที่ใช้มองผ่านกำแพง คลื่นวิทยุจะถูกปล่อยออกมาจากด้านหน้าของเสื้อกั๊ก ผ่านหน้าอกของผู้ป่วยเข้าสู่ตัวรับที่อยู่ด้านหลัง มันจะวิเคราะห์ลักษณะการกระจายของคลื่นและสามารถกะปริมาณของเหลวที่อยู่ในปอดได้

การเก็บข้อมูลในแต่ละวันถูกส่งเข้าไปในเซิฟเวอร์คลาวด์ที่ถูกเข้ารหัสไว้ มีเพียงแพทย์ประจำตัวเท่านั้นที่สามารถเข้าไปดูได้จากออฟฟิศของพวกเขา ซึ่งสามารถทำให้แพทย์เหล่านั้นสังเกตและแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีอาการใดๆเกิดขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนวิธีรักษาให้เหมาะสมมากขึ้นด้วย

มันยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองก็จริง แต่ผลการทดลองในช่วงที่ผ่านมาก็บอกถึงความสำเร็จไม่น้อยเมื่อมีการระบุว่าเสื้อกั๊กตัวนี้ช่วยลดการมาโรงพยาบาลซ้ำสองถึง 87 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว 

sources :

http://newatlas.com/sensivest-lung-fluid/50132/

https://wexnermedical.osu.edu/mediaroom/pressreleaselisting/smile-trial

http://sensible-medical.com/