โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ อาจจะรู้จักในประเทศไทยในฐานะเครื่องมือสำรวจภูมิประเทศขนาดเล็ก อุปกรณ์สำหรับช่วยในการทำสื่อต่างๆ รวมไปถึงการเป็นของเล่นเพื่อความบันเทิง แน่นอนว่าด้วยความที่มันบินได้และสามารถไปได้แทบทุกที่ ทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้เจ้าโดรนนี่ได้มากมาย และอีกหนึ่งสิ่งที่เจ้าอุปกรณ์ลอยฟ้านี้ทำได้ คือการบินออกไปช่วยชีวิตผู้คน

สภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน หรือโรคหัวใจเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อสำหรับคนในสังคม มีคนน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ที่รอดชีวิตจากอาการหัวใจหยุดเต้นนี้เมื่อพวกเขาอยู่นอกโรงพยาบาล การได้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) มาทันเวลาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ จากการศึกษาในสวีเดนได้โชว์ให้เห็นว่า โดรนนั้นสามารถใช้ขนส่ง อุปกรณ์กระตุกหัวใจได้เร็วกว่ารถพยาบาลถึงสี่เท่า

ปัจจุบันนั้นมีโดรนรุ่นต้นแบบถูกพัฒนาออกมามากมายเพื่อขนส่งเครื่องกระตุกหัวใจ และล่าสุดสตาร์ทอัพจากประเทศสวีเดนนาม FlyPulse ได้สร้างระบบโดรนช่วยเหลือฉุกเฉินขึ้นมา พวกเขาได้ทำการศึกษามันเพื่อเปรียบเทียบกับการใช้ระบบช่วยเหลือฉุกเฉินแบบเก่า

การทดลองนั้นถูกทำทั้งหมด 18 เที่ยวบิน ในระยะเฉลี่ยที่สองไมล์หรือเทียบได้กับ 3.2 กิโลเมตร โดรนที่ใช้ในการทดลองถูกออกแบบมาเพื่อออกตัวโดยอัตโนมัติทันทีที่ได้รับสัญญาณจากคอลเซ็นเตอร์ ระยะเวลาจากต้นทางถึงปลายทางนั้น โดรนได้ทำเวลาเพียง 5 นาที 21 วินาที เปรียบเทียบหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินแบบเก่าที่ทำเวลาได้ 22 นาที

"การทดลองทางการบินในขั้นต่อไป การพัฒนาทางเทคโนโลยี รวมไปถึงการประเมินผลของส่วนกลางที่คอยควบคุมการบินทั้งหมดยังต้องได้รับการตรวจสอบ"

-FlyPulse -

ข้อความยังได้กล่าวถึงการตรวจสอบเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านการช่วยชีวิตโดยผู้เห็นเหตุการณ์ เปรียบเทียบกับการช่วยเหลือโดยหน่วยฉุกเฉินจริงๆ ทำให้เห็นได้ว่านี่คงเป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทายครั้งใหม่สำหรับโดรนช่วยชีวิต และการศึกษาของ FlyPulse ครั้งล่าสุดนั้นได้ทำให้เห็นว่าประสิทธิภาพของมัน ขึ้นอยู่กับคนที่ทำการช่วยชีวิตที่อยู่อีกฟากฝั่งของระบบด้วย

Alec Momont จาก Holland's Delft University of Technology ได้เสนอทางแก้อันชาญฉลาดเกี่ยวกับปัญหาของโดรนช่วยชีวิตที่เราได้เผชิญกันตั้งแต่ปี 2014 ด้วยการใส่กล้องและลำโพงเข้าไป เพื่อที่โอเปอเรเตอร์ผู้คอยควบคุมสถานการณ์ขณะนั้นสามารถมองเห็นและให้คำแนะนำกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้

มันอาจจะใช้เวลาเป็นปีก่อนที่เราจะได้เห็นโดรนออกบินเพื่อขนส่งเครื่อง AED เพื่อช่วยชีวิตผู้ที่เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือผู้ต้องการมันในขณะนั้น แต่การศึกษาในครั้งนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าโดรนนั้นสามารถเข้าถึงพื้นที่ๆเกิดเหตุฉุกเฉินรูปแบบนี้เร็วกว่ากู้ภัยรูปแบบเก่าอยู่พอสมควรเลยทีเดียว 

source :

http://newatlas.com/drone-cardiac-arrest-emergency-services/50027/