บทความก่อน ผมพาไปพบหลักการลงทุนของหนึ่งในอาจารย์ของปู่ Warren Buffett ซึ่งเน้นการลงทุนสไตล์หุ้นเติบโต (Growth Stock) ที่ชื่อ Philip Fisher บทความนี้ ก็ขอพูดถึงอาจารย์อีกคนหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อ Warren Buffett เช่นกัน นั้่นก็คือ Benjamin Graham นั่นเอง

แนวทางการวิเคราะห์การลงทุนของ Graham นั้น จะพูดถึงคำว่า “Margin of Safety” ซึ่งนักลงทุนในตลาดจะเรียกตัวย่อว่า MOS ใครที่พูดถึงมันบ่อยๆ ขอให้รู้ว่า คนคิดค้นหลักการนี้ก็คือ Graham คนนี้นี่เอง

Margin of Safety แปลเป็นภาษาไทยคือ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย ใช้สำหรับการวางแผนในลงทุน โดยปกติสำหรับนักลงทุนที่เน้นคุณค่า (Value Investor) จะทำการค้นหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นที่ตนเองสนใจก่อน ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ และก็จะมีการกำหนด MOS ไว้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่างๆ ค่า MOS นี่ ยิ่งสูง ยิ่งแปลว่า ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ต่ำกว่าราคาในกระดาน ซึ่งแปลว่าดีครับ

Graham เอง ก็จะพยายามหาหุ้นที่มี MOS สูงๆ หรือ ซื้อหุ้นให้ถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานมากๆ ซึ่งเอาจริงๆแล้ว ณ สภาพตลาดหุ้นในปัจจุบันจะหาหุ้นที่มี MOS สูงนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาหมดแล้วแทบทุกตัว หลักการของ Graham จึงเหมาะกับช่วงตลาดหุ้นขาลง ไว้เลือกลงทุนหุ้นที่ถูกเทขายแรงๆมากกว่าปกติ เรามาดู 10 เงื่อนไขที่ Graham บอกว่า ถ้าติ๊กถูกทุกข้อเมื่อไหร่ แปลว่า เราเจอหุ้นที่สมควรเก็บเข้าพอร์ตกันครับ

1. ต้องไม่ใช่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

สาเหตุเป็นเพราะ การประเมินสถานการณ์และความสามารถของบริษัททำได้ยาก ว่าจะไปในทิศทางใด การเกิดขึ้น และดับไปของธุรกิจนี้ค่อนข้างรวดเร็ว และมูลค่าของหุ้นกลุ่มนี้ ก็มักจะแพงเกินจริง และไม่สมเหตุสมผลอยู่เสมอ

2. บริษัทควรมียอดขายอย่างน้อย 340 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 11,220 ล้านบาท

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีขนาดตลาด และมีฐานลูกค้าที่ใหญ่เพียงพอ ซึ่งหากกลับมาเทียบเป็นการลงทุนในไทย ก็หมายถึงหุ้นเฉพาะที่อยู่ในดัชนี SET50 เท่านั้น

3. อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio)

ซึ่งมีสูตรคำนวณคือ สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets, CA) /หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities, CL) ต้องเกิน 2 เท่า หมายถึง เงินสด ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือ มีมากกว่าหนี้ระยะสั้น ทำให้คล่องตัวในการชำระหนี้ระยะสั้น

4. หนี้ระยะยาวของบริษัท ต้องน้อยกว่า สินทรัพย์หมุนเวียน (CA)

นั้นเป็นเพราะ Graham ชอบบริษัทที่ไม่เป็นหนี้เลย เหมือนคนที่ออกกำลังกายทุกวัน ไร้ไขมัน เวลาวิ่งแข่งกับคนอ้วน ยังไงก็ย่อมได้เปรียบ

5. อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth หรือ Earnings per share Growth) เฉลี่ย 10 ปี ต้องมากกว่า 30%

เงื่อนไขนี้ ถือเป็นเงื่อนไขที่โหดมากครับ ปัจจุบัน แทบหาไม่เจอเลย ดังนั้นนักลงทุนสาวกของ Graham บางคน ก็ลดเงื่อนไขตัวนี้ บอกเหลือ 10% ก็หรูแล้ว

6. ใน 5 ปีที่ผ่านมา ต้องไม่เจอปัญหาขาดทุนซักปี

เงื่อนไขนี้ เป็นตัวกรองย่อยของข้อ 5. อีกที เพราะบางครั้ง การดูแต่การเติบโตเฉลี่ย บริษัทที่มีผลการดำเนินงานหวือหวา อาจเข้าเงื่อนไขมาให้เราเลือกด้วย ซึ่ง Graham บอกครับว่า หากจะเน้นเลือกหุ้นตั้งรับ (Defensive Style)แล้ว แผนการเล่นต้องห้ามหวือหวาไว้ก่อน

7. P/E Ratio ( Price / EPS )ต้องต่ำกว่า 15 เท่า

ไม่งั้นกำไรบริษัทอาจโตไม่ทัน ซึ่งมันหมายความว่า มูลค่าปัจจุบันอาจแพงเกินไปไม่คุ้มเสี่ยงลงทุน

ตัวอย่างการหา P/E Ratio  สมมติ ราคาหุ้นปัจจุบัน 20 บาท และรายได้ของปีที่ผ่านมา คือ 2 บาทต่อหุ้น  ดังนั้น P/E Ratio จึงเท่ากับ 20 หารด้วย 2 เท่ากับ 10 เท่า

8. P/E Ratio คูณกับ P/BV แล้ว ต้องต่ำกว่า 22.5 เท่า

นั่นหมายความว่า ถ้าคุณเจอหุ้นที่ P/E 15 เท่า ค่า P/BV ก็ไม่ควรเกิน 1.5 เท่า แต่ถ้าหุ้นที่คุณสนใจ มันมีค่า P/BV มากกว่า 1.5 เท่า คุณจะสามารถเลือกหุ้นเข้าพอร์ตได้ก็ต่อเมื่อ P/E ต่ำกว่า 15 และเมื่อ P/E คูณ P/BV แล้ว ต้องต่ำกว่า 22.5 เท่า ทั้งนี้ ตัวเลข 22.5 นี้ เราเรียกว่า “Graham Number”

อธิบายเพิ่มเติม P/BV คือ ราคาหุ้น หารด้วย มูลค่าตามบัญชี ซึ่งก็คือมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้น หรือ มูลค่าของทรัพย์สินที่หักด้วยหนี้สิน

9. D/E Ratio ( Debt / Equity ) หรือ หนี้สินทั้งหมดหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น ต้องต่ำกว่า 1 เท่า

สำหรับกลุ่มธุรกิจประเภท Industrials (อุตสาหกรรม) แต่ถ้าเป็นกลุ่มอื่นๆ ให้พิจารณา D/E Ratio ที่ต่ำกว่า 2.3 เท่า

10. ถ้ามี 2 บริษัทที่ EPS Growth โตเท่ากัน ให้เลือกบริษัทที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ

เป็นไงครับ ครบทั้ง 10 ข้อ จะเห็นว่า ไม่ง่ายเลยที่จะหาหุ้นที่เข้าเงื่อนไขครบทุกข้อ แต่จากที่เราเห็นความเขี้ยวลากดินของ Graham ก็ทำให้เราเข้าใจละครับว่า ทำไมเขาถึงเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนโดยเฉพาะยามที่เกิดวิกฤตขึ้น คือ ถ้าเห็นหุ้นเข้าเงื่อนไขครบขนาดนี้แล้วยังไม่ลงทุนเนี่ย แสดงว่า ความกลัวเข้าครอบงำจิตใจเราไปแล้ว

ฝากแนวคิดสุดท้ายของ Benjamin Graham ไว้ให้อ่านครับ

Basically, price fluctuations have only one significant meaning for the true investor. They provide him with an opportunity to buy wisely when prices fall sharply and to sell wisely when they advance a great deal. At other times he will do better if he forgets about the stock market and pays attention to his dividend returns and to the operating results of his companies.

โดยพื้นฐานแล้ว ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ บ่งบอกความหมายเพียงอย่างเดียวแก่นักลงทุนตัวจริง ก็คือ โอกาสในการลงทุนหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพในยามที่ราคาร่วงลงอย่างหนัก และเป็นโอกาสขายทำกำไรในยามที่ราคาพุ่งทะยานขึ้นสูง ส่วนเวลาอื่นๆนอกเหนือจากนั้น นักลงทุนควรลืมคำว่าตลาดหุ้น และสนใจเพียงแค่เงินปันผล และกำไรของบริษัทเพียงเท่านั้น

-  Benjamin Graham