หนึ่งในคำแนะนำเพื่อให้เรามีความมั่งคั่งในชีวิตที่ถูกพูดถึงอยู่ตลอดคือ “เริ่มให้เร็ว”

เพราะการเริ่มสร้างความมั่งคั่งให้เร็ว ตั้งแต่อายุยังน้อยเพิ่มโอกาสในการทดลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ลดความสาหัสของความผิดพลาดเมื่อมองในระยะยาว และที่สำคัญคือถ้าเริ่มเร็วก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะแค่ต้องมีความสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ

แต่เราทุกคนทราบดีว่าชีวิตไม่เคยเกิดขึ้นเป็นเส้นตรง บางครั้งกว่าชีวิตจะตั้งหลักได้อายุไม่ใช่น้อยๆ แล้ว บางคน 40,50 หรือ 60 ไปแล้วก็มี แล้วแบบนี้มันสายเกินไปแล้วรึเปล่าที่จะมีความมั่งคั่งในบั้นปลายชีวิต?

ก็อาจจะไม่เสมอไปครับ

ซารีนา ชู (Sarina Chiu) เจ้าของธุรกิจ Dear Cooper แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับน้องหมาดัชชุนในแคนาดาได้เขียนเล่าบทเรียนเรื่องราวชีวิตและการสร้างความมั่งคั่งของคุณพ่อวัย 80 กว่าของเธอไว้อย่างน่าสนใจบนเว็บไซต์ Medium

เขาเริ่มต้นจากเด็กที่ไม่มีอะไรเลย เป็นลูกคนโตในครอบครัวพี่น้องสี่คนในฮ่องกง ตอนเป็นเด็กต้องไปขายอาหารที่ท่าเรือกับคุณยายเพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง ไม่มีแม้รองเท้าจะใส่ด้วยซ้ำ

แต่ตอนนี้ในวัยเกษียณแปดสิบกว่า เขาเป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินหลักร้อยล้านบาทจากอสังหาริมทรัพย์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ไม่ได้ถูกหวย ไม่ได้มรดก ที่สำคัญคือการสร้างความมั่งคั่งในชีวิตไม่ได้เริ่มต้นจริงๆจังๆ จนอายุปาเข้าไป 50 กว่าแล้วด้วยซ้ำ

นี่คือบทเรียนที่ชูได้เรียนรู้ 5 ข้อจากคุณพ่อของเธอ

1. อย่ายึดติดและเชื่อว่ายังมีโอกาสเสมอ

ชูบอกว่า คติประจำใจของพ่อคือ “ถ้าเงินแก้ปัญหาได้ แสดงว่านั่นไม่ใช่ปัญหา”

เขาจะมองภาพใหญ่ไว้ก่อนเสมอ ให้คุณค่ากับเวลาและสุขภาพจิตใจของตัวเอง ถ้าสามารถใช้เงินแล้วสามารถทำให้ตัวเองมีเวลาว่างมากขึ้นเพื่อไปทำอย่างอื่นที่สร้างมูลค่ามากกว่า เขาก็จะใช้ ถ้าใช้เงินแล้วเครียดน้อยลง ก็จะใช้ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วจะไม่กังวลกับเรื่องเล็กน้อย

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลงทุนแล้วไม่ได้ผลตามที่คิด ยอมตัดขาดทุนทันที ไม่ยึดติดกับสิ่งที่ผ่านไปในอดีต ไม่ลากภาระเหล่านั้นไปด้วย ไม่มานั่งเสียใจหรือขอพรให้เทพเจ้ายกกราฟหุ้นที่ซื้อขึ้น ไม่มีเลย “พ่อของฉันเชื่อว่าเงินมีอยู่ทุกที่” ชูกล่าว

แทนที่จะมัวแต่นั่งเสียดาย เขาเรียนรู้บทเรียนจากความผิดพลาดและใช้มันเพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นในครั้งถัดไป

2. สะสมสินทรัพย์

เทคนิคการสร้างความมั่งคั่งของพ่อที่ชูเห็นก็คือการซื้อและขายสินทรัพย์ที่มีมูลค่า อย่างพวกธุรกิจหรืออสังหาฯ

ของฟุ่มเฟือยอย่างพวกแกดเจ็ตแพงๆ เสื้อผ้าแบรนด์เนมหรูหรา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นสิ่งที่พ่อของชูอยากจะเสียเงินซื้อเลย

หลังจากขายธุรกิจแรกที่ฮ่องกง เขามีเงินก้อนหนึ่งที่เพียงจะย้ายครอบครัวไปแคนาดา มันเป็นความเสี่ยงที่ต้องใช้เงินตรงนั้นเกือบทั้งหมด แต่เขาก็เชื่อว่าที่นั่นจะมีอนาคตที่ดีกว่ารออยู่

ชูบอกว่า “กลยุทธ์ของพ่อนั้นเรียบง่ายมาก : หาเงิน ลงทุนในสินทรัพย์ และก็ขาย”

3. เสี่ยงกับความเสี่ยงที่คำนวณเอาไว้แล้ว

การทำงานแบบ 9 โมง - 5 โมง สามารถทำให้คุณมีความมั่งคั่งได้ไหม? ได้ครับ แต่อาจจะยากหน่อย

คนที่มั่งคั่งส่วนใหญ่จะยอมเสี่ยงเล็กน้อยกับความเสี่ยงที่คำนวณเอาไว้แล้วว่าจะสามารถรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หากผิดพลาด แต่ถ้าสำเร็จโอกาสในการได้ผลตอบแทนจะสูงกว่ามาก

“พ่อเป็นคนที่ยอมเสี่ยงกับความเสี่ยงที่คำนวณเอาไว้แล้ว บางครั้งเขาล้มเหลวและมันก็เจ็บปวด แต่เขาก็ไม่ปล่อยให้ความกลัวฉุดรั้งเขาไว้ในการลองและดันตัวเองออกนอกคอมฟอร์ตโซน”

การย้ายครอบครัวไปแคนาดาเป็นหนึ่งในความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง แต่เขาก็เชื่อว่ามันจะดีต่อครอบครัว แม้ว่าการย้ายบ้านครั้งนั้นจะเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ เงินแทบไม่เหลือติดตัวเลย

4. ความอับอายคือแรงผลักดัน

ตอนที่ย้ายออกมาจากฮ่องกง พ่อของชูแทบไม่มีเงินเหลือติดตัว จึงต้องขอให้น้องคนหนึ่งช่วย แต่กลายเป็นว่าน้องคนนั้นเอาเรื่องของเขาไปพูดให้พี่น้องคนอื่นๆ ฟัง และทุกคนก็ลงขันเอาเงินมาให้เขายืม

พอมาถึงแคนาดาไม่นาน พี่น้องทุกคนก็คอยจิกเขาว่าเรื่องเงินอยู่เป็นประจำ สำหรับพ่อของชูนี่เป็นเรื่องที่น่าอายมากๆ เป็นพี่ชายคนโตแต่ต้องไปยืมเงินน้อง ไม่ใช่แค่คนเดียวแต่ทุกคนในครอบครัวเลย

ความรู้สึกนี้กลายเป็นแรงขับเคลื่อน ต้องหาเงินมาจ่ายคืนให้ได้โดยเร็วที่สุด

เขาร่วมเงินกับเพื่อนอีกสองสามคนแล้วเริ่มทำธุรกิจร้านตัดผม พอร้านถึงเวลาปิดเขาก็กลับมาที่บ้านแล้วรับลูกค้าที่บ้านต่อเพื่อหารายได้เสริม นอกจากนั้นก็ลงทุนในตลาดหุ้น ทุกครั้งที่ได้เงินมาก็จะเอาแบ่งเงินไปลงทุนและพยายามโปะหนี้บ้านให้หมดโดยเร็วที่สุด

ช่วงหนึ่งอสังหาฯ ในแคนาดาบูมมาก ราคาบ้านพุ่งสูง พ่อของชูเห็นโอกาสนี้ขายบ้าน แล้วย้ายไปอยู่ทาวเฮาส์ที่ขนาดเล็กแล้วเอาเงินที่เหลือจากการขายบ้านจ่ายหนี้คืนน้องๆ ทุกคนทั้งหมดเลย ตอนนั้นคือเขาอยู่ในช่วงวัย 50 กว่าๆแล้ว

ชูบอกว่า “ถ้าคุณคิดว่ามันสายเกินไปแล้วที่จะเป็นเศรษฐีเงินล้าน ลองคิดดูอีกครั้ง”

5. ทำงานหนัก

มันอาจจะดูซ้ำซาก แต่มันคือเรื่องจริง

พ่อของชูเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก สู้ชีวิต สู้งาน ไม่อิดออด

ไม่ต้องตื่นมานั่งสมาธิ ไม่ต้องมีการอาบน้ำเย็นตอนตีห้า ไม่ต้องมีรูทีนเพื่อสร้างความมีประสิทธิภาพในชีวิต

“เขาแค่ตื่นแล้วก็ลุกไปทำงาน” ชูบอก

ตอนที่มาถึงแคนาดาแรกๆ พ่อของชูต้องขับรถไปทำงานที่โทรอนโตเพราะเมืองนี้มีประชากรชาวจีนอยู่ค่อนข้างเยอะ หาเงินได้เยอะกว่า แต่เมืองที่ครอบครัวของเขาอยู่คือมอนทรีออล ห่างออกไปประมาณ 6 ชั่วโมงเพราะค่าใช้จ่ายมันถูกกว่าและเพื่อนของพ่อก็ปล่อยห้องให้เช่าในราคาที่ถูกมากๆ

พ่อของชูจะขับรถไปทำงานในเมืองโทรอนโตทุกวันอาทิตย์ ทำงานเกินวันละ 10+ ชั่วโมงต่อวัน เก็บเงิน แล้วพอวันเสาร์ตอนเช้าก็ขับรถกลับมาหาครอบครัวที่บ้านที่มอนทรีออล ชูเล่าว่าตอนนั้นพวกเขาไม่มีเงินแม้จะซื้อเตียงหรือเฟอร์นิเจอร์ด้วยซ้ำ นอนในถุงนอนและเวลาทานข้าวก็นั่งล้อมวงกันบนพื้น

สุดท้ายแล้วบทเรียนของเรื่องนี้อาจจะไม่ได้อยู่ที่เทคนิคการสร้างความมั่งคั่งของคุณพ่อของชูให้มีทรัพย์สินหลักร้อยล้านบาท แต่เป็นแนวคิดของเขาที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยึดติด มองหาโอกาส ลองเสี่ยงเท่าที่ทำได้เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

แม้จะเกิดมาพร้อมกับความลำบาก ครอบครัวไม่ได้มีอะไร ตอนมาที่แคนาดาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วยซ้ำ ไม่มีธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาล แค่ทำงานหนัก หาเงิน ลงทุนในสินทรัพย์ และก็ขายเมื่อมันมีราคาที่สูงขึ้น วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถเกษียณแบบเศรษฐีเงินล้านได้แล้ว

เพราะการสร้างความมั่งคั่งแม้จะเริ่มช้าสักหน่อย แต่ไม่มีคำว่าสายเกินไป, มาเริ่มลงมือกันเถอะครับ