ในวันที่คนทุกเจนหันมาให้ความสนใจกับการบริหารเงินของตัวเองมากขึ้น เราจึงได้เห็นเทรนด์การเงินใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น FIRE, DINK หรือ Slow FIRE และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ล้วนแล้วนำไปสู่จุดที่เรียกว่า ‘อิสรภาพทางการเงิน’

คำว่าอิสรภาพการเงินหากในความหมายองค์รวม หมายถึง การที่เราหมดสิ้นทุกความกังวลในเรื่องเงินตลอดทั้งชีวิตนี้แล้ว ซึ่งอาจจะมาจากการที่เรามีเงินมากพอจนรองรับกับทุกความต้องการในชีวิต หรือจะเป็นการที่เรามีความต้องการน้อยลงจนเทียบเท่ากับระดับเงินที่เรามี ไม่ว่าจะแบบไหน ก็ทำให้เราไม่ต้องห่วงกังวลว่าเงินในมือจะไม่พอใช้จ่าย

ฟังดูอาจดูเรียบง่าย แต่อย่างที่เราเห็นกันว่า ‘ไม่ใช่ทุกคน’ ที่จะไปถึงจุดอิสรภาพทางการเงินได้ วันนี้ aomMONEY จึงอยากแชร์มุมมองจาก เจสสิก้า และคอร์ลีย์ ฟิกส์ สองสามีภรรยาเจ้าของ The Fioneers ที่ผลิตหลักสูตร และคอร์สเรียนการบริหารเงิน โดยมีความสุขในการใช้ชีวิตเป็นที่ตั้ง

สิ่งที่พวกเขามองเห็นคือ ‘ไม่ใช่ทุกคนที่มีรายได้ระดับวิศวกร’ เป็นเรื่องจริงที่คนไม่น้อยยังมีเงินเดือนอยู่ในระดับเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะตั้งเป้าหมายการเงินไปเผื่ออนาคตอันแสนไกล อย่างเช่น การเกษียณก่อนวัย (FIRE) เพราะแค่บริหารให้พอใช้จ่ายในแต่ละเดือนนับว่าท้าทายมากแล้ว

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เจสสิก้า และคอร์ลีย์ มองว่าอิสรภาพการเงินสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ ซึ่งอาจเป็นจุดตั้งต้นให้ใครหลายคนลองเช็กตัวเองดูกันว่า วันนี้เราเดินทางมาถึงระดับไหนแล้ว และจะขึ้นไปสู่ระดับถัดไปได้อย่างไร มาดูกัน

💰 ระดับที่ 1: อิสระจากการเป็นหนี้

ครอบครัวฟิกส์มองว่า จริงๆ แล้วการเป็นหนี้ไม่ใช่มหันตภัยร้ายแรงของชีวิต เพราะการเป็นหนี้บางครั้งคือการที่เรากำลังรอสิ่งที่ใหญ่กว่าเดิมเข้ามาในชีวิต แค่เราต้องค่อยๆ เป็นเจ้าของมัน แต่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าการเป็นหนี้ทำให้เราขยับตัวได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องการเติบโต ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดี หรือหนี้เสีย การกำจัดมันได้ คือก้าวแรกของอิสรภาพทางการเงิน

💰 ระดับที่ 2: เงินทุนในการก้าวออกจากวิกฤตชีวิต

เพื่อให้เข้าใจง่ายเราอาจใช้รวมกับความหมายของ ‘กองทุนยามฉุกเฉิน’ ก็ได้เช่นกัน แต่ในกรณีนี้ หมายถึงเงินที่จะพาเราก้าวออกจาก ‘ชีวิตที่ไม่พึงประสงค์’ เช่น การลาออกจากที่ทำงาน หรือการเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ซึ่งล้วนแล้วต้องใช้เงินมารองรับจำนวนไม่น้อย สรุปแล้วมันคือ กองเงินที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า ‘ฉันไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตรอก’ สะทีเดียว

💰 ระดับที่ 3: มีผลตอบแทนจาก ‘การลงทุน’ มากพอสำหรับเป้าหมายชีวิต

แตกต่างจากการมีเงินมากพออยู่พอสมควร เพราะเงินที่เรามีสามารถเพิ่ม หรือลดลงได้เสมอ แต่ผลจากการตอบแทนที่มากพอ คือเงินที่จะไหลเข้ามาพอใช้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยที่เงินต้น หรือเงินทุนในกระเป๋ายังอยู่เหมือนเดิม ซึ่งการจะมาถึงจุดนี้ได้ ครอบครัวฟิกส์มองว่าต้องอาศัยการวางแผนเงินลงทุนมากหน่อย โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในชีวิตระยะยาวให้ได้ก่อน แล้วค่อยดูว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้รองรับเป้าหมายได้

💰 ระดับที่ 4: ใช้ชีวิตแบบกึ่งเกษียณได้แล้ว

เรียกได้ว่าเป็นจุดที่เราสามารถใช้เงินอย่างอิสระได้ ‘ประมาณหนึ่ง’ แล้ว ในจุดนี้เราจะเห็นเส้นชัยชัดเจนแล้วว่า เราจะไประดับที่ห้า ซึ่งเป็นระดับสุดท้ายได้ตอนไหน ณ จุดนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องทำงานหนักเท่าเดิมอีกต่อไป โดยอาจจะหันมารับงานฟรีแลนซ์เป็นครั้งคราว หรือทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ แทนได้

💰 ระดับที่ 5: อิสรภาพทางการเงิน

ในระดับสุดท้ายนี้ คืออิสรภาพทางการเงินแบบอุดมคติที่เรากล่าวกันไปในช่วงก่อนหน้า คือการมีเงินมากพอที่จะตอบรับทุกความต้องการของทั้งชีวิตแล้ว เราอาจหยุดหารายได้โดยใช้แรงกาย แรงใจลง และนำเวลาที่ได้กลับมาไปสร้างความสุขในชีวิตอย่างเต็มที่

สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า แม้อิสรภาพทางการเงินจะมีทั้งหมด 5 ระดับ แต่เชื่อไหมว่า แม้เราจะบรรลุแค่ระดับที่ 1 อย่างการปลอดหนี้ ก็ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปได้ไม่น้อยแล้ว และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่แข็งแกร่งในการก้าวสู่ระดับถัดไป aomMONEY ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนเดินหน้าสู่ชีวิตการเงินตามเป้าหมายของตัวเองได้สำเร็จ

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร