คุณคิดว่าโต๊ะ 3 ขา ต่างจากโต๊ะ 4 ขาหรือเปล่า แล้วถ้าต้องตัดสินใจซื้อโต๊ะจะใช้เกณฑ์อะไร เช่น รูปทรง จำนวนขาโต๊ะ

คำว่า โต๊ะ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำนิยามไว้ว่า สิ่งที่ทําด้วยไม้เป็นต้น พื้นราบ เป็นรูปต่าง ๆ มีขา สําหรับเป็นที่เขียนหนังสือ ตั้งเครื่องบูชา หรือ วางสิ่ง ของต่าง ๆ เรียกชื่อต่าง ๆ ตามวัตถุที่ทํา เช่น โต๊ะหิน โต๊ะมุก ตามรูปร่าง เช่น โต๊ะกลม โต๊ะสี่เหลี่ยม ตาม วัตถุประสงค์ที่ใช้ เช่น โต๊ะเขียนหนังสือ โต๊ะกินข้าว, ลักษณะนามว่า “ตัว”

หากซื้อโต๊ะมา 1 ตัว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีอยู่ 3 สิ่งด้วยกัน คือ (1) ความมั่นคงของโต๊ะ, (2) น้ำหนักของสิ่งของที่วางบนโต๊ะ, และ (3) ความเสี่ยงในการใช้งาน ซึ่งก็เปรียบเหมือนโอกาสและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกับตัวเรา โดยที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่น หากใช้โต๊ะที่มีขาเดียว ก็ต้องระมัดระวังเรื่องสมดุลของโต๊ะไม่เช่นนั้นโต๊ะอาจล้มคว่ำลงได้ หรือของที่วางไว้อยู่บนโต๊ะ หากมีจำนวนที่มากเกินไป ของก็อาจหล่นจากโต๊ะ หรือหากวางของที่หนักเกินกว่าที่โต๊ะจะรับไหว โต๊ะก็อาจจะล้มลง เช่นเดียวกันในด้านของความเสี่ยงอาจเดินสะดุด หรือชนโต๊ะ ทั้ง ๆ ที่คิดว่าหลบแล้ว หากชนเบา ๆ โต๊ะอาจจะเคลื่อนไปบ้าง แต่หากชนแรงโต๊ะก็อาจจะล้มลง

หากเปรียบโต๊ะ 1 ขากับชีวิตผู้คน “ขาโต๊ะ” เปรียบเสมือนรายได้ที่เข้ามา ทำให้โต๊ะตัวนั้นตั้งอยู่ได้ ส่วนสิ่งของที่วางอยู่บนโต๊ะเปรียบเสมือนภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ บางคนอาจมีภาระต้องเลี้ยงดูบิดามารดา บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องเลี้ยงดูครอบครัว หรือบางคนมีสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแล เป็นต้น

หากวันใดวันหนึ่งมีวัตถุพุ่งเข้ามาชนโต๊ะตัวนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือโต๊ะอาจจะล้มลง เนื่องด้วยการที่มีขาเดียวทำให้การเสียสมดุลง่าย และของที่วางไว้อยู่บนโต๊ะก็จะร่วงลงไป

โดยปกติมักจะเห็นโต๊ะที่มีจำวน 4 ขา เมื่อดูแล้วมีความมั่นคง เพราะถึงแม้จะผลักโต๊ะ ก็ไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นโต๊ะที่ดูมั่นคงก็ควรจะมีจำนวนขาที่มาก ขั้นต่ำ คือ 4 ขา เพราะแต่ละขาจะรับน้ำหนักและทำให้โต๊ะตัวนั้นมีสมดุลที่ดี

ในหนึ่งช่วงชีวิตคน หลังจากเรียนจบ ก็ต้องทำงาน หารายได้ มีครอบครัว มีบ้าน มีรถ มีภาระหน้าที่ที่มากขึ้น และด้วยอายุที่มากขึ้น สุขภาพร่างกายก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนตอนหนุ่มสาว หากมีเหตุการณ์อะไรเข้ามากระทบก็อาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วยไม่สบาย แต่หากมีการวางแผนในมิติอื่น ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อะไร ร้ายแรงแค่ไหน ก็พร้อมที่จะรับมือได้เสมอ ก็เปรียบกับการที่เพิ่มขาโต๊ะให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “การป้องกันความเสี่ยงในด้านของชีวิต” หากวันใดวันหนึ่งเสียชีวิตจากไปก่อนวัยอันครวร คนในครอบครัวก็จะไม่ต้องรับภาระใด ๆ ต่อความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วยและโรคร้ายแรง ที่มักจะดึงเงินก้อนที่เราเก็บไว้เพื่อนำไปใช้รักษาตัว, ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและทุพพลภาพ ที่อาจจะทำให้ไม่สามารถทำงานได้ แต่ยังต้องดำรงชีพอยู่, และ “ความเสี่ยงจากการเกษียณอายุ” ซึ่งหากเราไม่เตรียมเงินไว้ก็อาจจะทำให้คุณภาพชีวิตลดลงไปจากเดิม

หากต้องการใช้ชีวิตแบบโต๊ะที่มั่นคง ให้เริ่มจากดูว่าตอนนี้โต๊ะของตัวเองมีกี่ขา บางคนมีขาเดียว คือ ขารายได้ บางคนอาจจะมี 2 หรือ 3 แล้ว และเมื่อรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน หลังจากนั้นก็มาพิจารณาว่าขาไหนสำคัญกับชีวิตมากที่สุดแล้วก็ควรไปเพิ่มขานั้นก่อน เช่น ขับขี่มอเตอร์ไซต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง ก็ไปเพิ่มขาในส่วนของอุบัติเหตุ ทุภพลภาพและชีวิต

ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ลักษณะของโต๊ะที่มั่นคงคือ โต๊ะที่มี 4 ขา แต่หากเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์แล้ว จะต้องมีขาหนึ่งโฟกัสในเรื่องของการ “หารายได้” และขาที่เหลือ โฟกัสในส่วนของ “การปกป้องความเสี่ยง” อีก 5 ขา ซึ่งจะประกอบด้วย การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ การประกันอุบัติเหตุ การประกันโรคร้ายแรง และการประกันทุพพลภาพ ดังนั้น ทุกคนควรจะเป็นโต๊ะที่มี 6 ขา หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับขาใดขาหนึ่ง ขาที่เหลือก็ยังคอยพยุงมิให้โต๊ะตัวนั้นล้มลง

เขียนโดย: ธีรวัตร์ นรอิงคสิทธิ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™