เมื่อเดือนที่ผ่านมาทาง aomMONEY ได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน Aberdeen year-end seminar “The Road Ahead” at W Hotel GDP ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งเป็นการอัพเดทการเติบโตในไตรมาสที่สามของไทยซึ่งเติบโตสูงกว่าที่คาดไว้ (4.3% *yoy) จากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ในเดือนกันยายนเติบโตได้ถึง 13.4% yoy รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายสาธารณะที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP เป็น 3.8% จากปีก่อน ในขณะที่สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ดัชนีตัวเลขไว้ที่ 3.9% yoy และยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าติดตามกับการเคลื่อนไหวในไตรมาสที่สามของปีนี้ครับ

เอกชนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

สําหรับดัชนีการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption Index) ก็กลับมาฟื้นตัวเช่นกันซึ่งเพิ่มขึ้น  3.1% yoy โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีการขยายอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน

ส่วนอัตราดอกเบี้ยและพันธบัตรรัฐบาลของไทยยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยตลอดทั้งปีจนถึงช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2560 ยังคงตามหลังภูมิภาค เมื่อเทียบกับดัชนี MSCI Asia-ex-Japan Index (เทียบสกุลเงินท้องถิ่น) คาดการณ์ว่าอัตราส่วนกําไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 5% ในปี 2560 และ 10% ในปี 2561

อย่างไรก็ตาม ราคาดัชนีที่เพิ่มขึ้น มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ทำให้อัตราส่วนกําไรต่อหุ้น (P/E) ทะยานขึ้นไปจนแตะเพดานค่าเฉลี่ยในอดีต แต่ถ้ามองในแง่ราคาหุ้นต่อมูลค่า หุ้นทางงบบัญชี (P/B) ภาคธนาคาร, วัสดุ และอสังหาริมทรัพย์ ยังคงมีการซื้อขายกันในราคาที่ต่ำกว่าตลาดในแง่ของความมีเสถียรภาพ

ภาคธนาคารยังคงมีสำรองในระดับสูง แม้ว่าจะมีการก่อตัวของสินเชื่อด้อยคุณภาพตลอดมา สินเชื่อโดยรวมและส่วนต่างอัตรา ดอกเบี้ยสุทธิ ยังคงขยายตัวได้ดี ปัจจัยเหล่านี้ ยังคงกดดันมูลค่าของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมีการเติบโตก็ตาม

ในปีนี้เราจะได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวเชิงตัวเลขในตลาดยานยนต์ในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้วัดถึงการขยายตัวของผู้บริโภค

ส่วนผลจากการค้าโลกที่ปรับดัชนี ทําให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับประโยชน์ และสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดัน GDP ของประเทศในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวช่วยสร้างรายได้ที่สำคัญ ทําให้ทั้งสองภาคส่วนเป็นดาวเด่นในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 16.6% ของ GDP หรือเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

ผลจากการเติบโตของทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวกลายเป็นปัจจัยกดดันอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาททําให้เกิดการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และยังคงสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงนโยบายการเงินและการคลังที่ยังสอดคล้องและเอื้ออํานวยต่อกัน

ภาครัฐชะงักเล็กน้อยแต่ยังไปต่อได้ และการปรับตัวของสังคมผู้สูงวัย

ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐกลับชะงักเล็กน้อย อย่างไรก็ตามภาวะอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำและการค้าที่เริ่มฟื้นตัวประกอบกับระดับราคาน้ำมันโลกในปัจจุบันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทําให้ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปนักย่อมจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนที่มากขึ้น

ภาวะสงบทางการเมืองและคาดการณ์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นปัจจัยสําคัญที่ช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภายในประเทศ ทําให้เราคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเกิดขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ประเด็นสําคัญอีกอย่างคือประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลทําให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงในระยะยาว อย่างไรก็ตามบริษัทที่เราไปลงทุนไว้มีการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งทำให้พอร์ตการลงทุนของเรายังคงสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกได้อย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจโลกยังคงทรงตัว การจัดการและการคัดเลือกที่ดีคือคำตอบ

นอกจากนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Passive Fund เติบโตได้ดีจากการไหลเข้าของ Fund Flow ตามสภาพคล่องโลกจากนโยบาย *QE ทว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมถึงการเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการลดงบดุลของสหรัฐอเมริกา ทําให้ความน่าสนใจการลงทุนใน Passive Fund ลดลง โดย Aberdeen Standard Investment เป็นกลุ่มนักลงทนุสถาบันที่มีรูปแบบการบริหารการลงทุนแบบ Active เชื่อว่าการเติบโตของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกัน และบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีสถานะทางการเงินที่ดีมีคุณภาพเท่านั้นที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

เราจึงให้ความสําคัญเป็นอย่างมากกับการคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom Up ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า ด้วยปรัชญาการลงทุนของเราจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาวของนักลงทุน

หมายเหตุ :

*yoy (Year over Year) ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

*QE (Quantitative Easing) นโยบายการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน จำกัด