ภาพของ เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon ที่นั่งหลังโค้งๆ อยู่ข้างหลังโต๊ะทำงานที่เรียบง่ายทำจากประตูรีไซเคิล (Door Desk) ในช่วงก่อตั้งบริษัทคือภาพที่บ่งบอกเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลัง ไม่ใช่แค่หลักคิดความประหยัดเพื่อลดต้นทุนเท่านั้น แต่มันคือปรัชญาการทำงานของบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลกในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดต่างหาก
จุดเริ่มต้นของ ‘Door Desk’
นิโค เลิฟจอย (Nico Lovejoy) เพื่อนของเบโซส์และพนักงาน Amazon คนที่ 5 ของบริษัทเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงฤดูร้อนของปี 1995 ว่าจำนวนพนักงานของบริษัทยังมีเพียงหยิบมือ ไม่กี่คนเท่านั้น เรียกว่าเป็นสตาร์ตอัปอย่างเต็มตัว เพราะฉะนั้นเงินทุนที่มีทุกบาทต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดให้มากที่สุด
แม้จะมีพนักงานเพียงแค่ไม่กี่คน แต่พวกเขาก็ต้องการโต๊ะเพื่อใช้ทำงาน เลิฟจอยบอกว่า “บริษัทเราตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามของถนนจาก Home Depot พอดี” (Home Depot เป็นร้านขายวัสดุสำหรับบ้านขนาดใหญ่คล้ายกับพวก Home Pro, DoHome, ไทวัสดุ ฯลฯ) เบโซส์เลยเดินไปที่ร้านเพื่อหาโต๊ะที่กำลังลดราคาอยู่ตอนนั้น
แต่หลังจากที่เลือกๆ ดู ก็ไปเตะตาเข้ากับบานประตูที่ราคาถูกกว่าเยอะมาก “เขาเลยตัดสินใจซื้อบานประตูมาแล้วก็ต่อขาเข้าไปเลย” มันเป็นทางแก้ปัญหาที่ประหยัดที่สุด ขาดบ้างเกินบ้าง โต๊ะบางตัวอาจจะไม่ได้แข็งแรงมากแต่ก็ใช้งานได้ บางตัวก็ต้องเอากระดาษลังมารองขาให้เท่ากันก็มี
โจ เคียร์นีย์ (Joe Kearney) พนักงานคนที่ 30 อธิบายว่า “เราต้องหาวิธีที่ทำงานโดยไม่ต้องใช้เงินมาก เหมือนกับการเอาตัวรอดและทำให้แน่ใจว่าเราจะมีเงินเหลือเพียงพอเพื่อจ่ายค่าพนักงาน
“Door Desk” หรือ โต๊ะจากบานประตูก็ถือกำเนิดขึ้น เพียงแต่ไม่มีใครรู้ในตอนนั้นหรอกว่าโต๊ะทำงานที่เกิดขึ้นจากความต้องการประหยัดเงินจะกลายมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทที่ฝังรากลึกลงไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ยี่สิบปีต่อมาพนักงานหลายพันคนของ Amazon ทั่วโลกก็ยังใช้โต๊ะที่ทำมาจากบานประตูอยู่ (เวอร์ชันที่แข็งแรงและทนทานกว่า)
เลิฟจอยเล่าติดตลกว่า ‘มีเพียงตัวสองตัวเท่านั้นแหละที่เจฟฟ์ต่อขึ้นมา ซึ่งก็ไม่ค่อยมั่นคงด้วย คุณคงไม่อยากจ้างเจฟฟ์มาเป็นช่างให้คุณหรอก เขาเก่งเรื่องอื่นๆ มากกว่า ผมคิดว่าเขาก็คงพูดเหมือนกัน” (หัวเราะ)
ปรัชญาเบื้องหลังการตัดสินใจของเบโซส์
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของโต๊ะที่ทำจากประตูจะมาจากความจำเป็นเพราะต้องการประหยัดเงิน แต่ที่จริงแล้วมีหลักคิดบางอย่างที่แฝงอยู่ในนั้นด้วย
ครั้งหนึ่งในปี 1995 ตอนที่ มาร์ก แรนดอล์ฟ (Marc Randolph) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอคนแรกของ Netflix เดินทางมาเจอเบโซส์ที่ออฟฟิศ (เพราะตอนนั้น Amazon สนใจที่จะเข้าซื้อ Netflix แต่สุดท้ายดีลไม่เกิดขึ้น เรื่องนี้ลองหาอ่านได้จากหนังสือเรื่อง ‘That’ll Never Work’ ได้ครับ) เขาก็สังเกตเห็นโต๊ะที่ทำจากบานประตูของเบโซส์ ไม่ใช่แค่ตัวเดียว แต่คนที่แชร์ออฟฟิศกับเบโซส์อีกสองคนก็ใช้โต๊ะแบบเดียวกันนี่แหละ
“ผมก็เริ่มเอะใจว่าโต๊ะทุกตัวที่เห็นในออฟฟิศเป็นแบบนั้นหมดเลย” แรนดอล์ฟเล่าถึงประสบการณ์ตอนนั้น
ทีนี้เขาก็เริ่มสงสัยว่าเพราะอะไร เป็นเพราะปัญหาเรื่องเงินจริงๆ เหรอ? ต้องการประหยัดเงินเพื่อให้อยู่รอดรึเปล่า
แรนดอล์ฟบอกว่าที่จริงไม่ใช่แบบนั้นเลย เบโซส์เล่าให้เขาฟังว่าโต๊ะตัวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ Amazon ไม่มีเงินซื้อโต๊ะทำงานแบบอื่น แต่เป็นการส่ง “สาสน์” ถึงพนักงานทุกคนว่า “เราจะใช้เงินกับสิ่งที่สร้างผลกระทบกับลูกค้า ส่วนอื่นๆ เราจะไม่สนใจ”
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าอะไรก็ตามที่บริษัทจะใช้เงินจ่าย ต้องแก้ปัญหาให้ลูกค้า ส่งผลทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ดีขึ้น เท่านั้น
ฟังดูสุดขั้วไปสักหน่อย แต่ถ้าใครที่ติดตามผลงานของเบโซส์ก็คงพอเข้าใจได้
หลักปรัชญาการทำงานที่ ‘โฟกัสที่ลูกค้าก่อน’ (Customer-Centric) การประหยัดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เป็นการลงทุนในประสบการณ์ของลูกค้าที่ดีที่สุดต่างหากที่ต้องมาเป็นอันดับแรก กลายเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมการทำงานใน Amazon ที่เติบโตมาถึงทุกวันนี้
ดูจากมิชชั่นของบริษัทก็ได้ที่บอกว่า “เป็นบริษัทที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากที่สุดในโลก” (to be Earth’s most customer-centric company)
โต๊ะทำงานที่ไม่ใช่แค่โต๊ะทำงาน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ลอเรน ซานเชซ (Lauren Sánchez) คู่หมั้นของเบโซส์ ได้แชร์รูปภาพที่เขากำลังนั่งทำงานที่โต๊ะทำงานของเขา ถึงแม้ว่าตอนนี้เบโซส์จะร่ำรวยมหาศาลและจะซื้อโต๊ะราคาแพงแค่ไหนมาใช้ก็ได้ แต่โต๊ะที่เขาใช้ ก็ยังเป็นโต๊ะที่ทำจากประตูเช่นเดิมที่เขาเคยใช้ตอนทำงานอยู่ที่ Amazon
โดยซานเชซบอกว่า
“ตอนที่ฉันเดินเข้าไปหาเขาที่ห้องทำงานเช้านี้ ก็ถ่ายรูปนี้ไว้ ฉันว่ามันสุดยอดมากเลยที่เขายังคงทำงานบนโต๊ะตัวแรกๆ ที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้น นี่คือจุดที่ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานนับไม่ถ้วนมาบรรจบกับหัวใจของ “Day One” ขอฉลองให้กับความเป็นไปได้อย่างไม่สิ้นสุด"
มันคือโต๊ะทำงานที่ไม่ใช่แค่โต๊ะทำงาน ถึงตอนนี้พนักงานมากมายของ Amazon ก็ยังใช้ “Door Desk” แบบนี้อยู่แม้ว่า Amazon จะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่แล้วก็ตาม มันเป็นโต๊ะที่มีวัตถุประสงค์อันลึกซึ้งแฝงอยู่ เป็นจุดยึดทางวัฒนธรรม เตือนให้นึกถึงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของบริษัทและค่านิยมที่ผลักดันความสำเร็จของพวกเขา พนักงานที่ใช้โต๊ะเหล่านี้ไม่ได้แค่ทำงานเท่านั้น แต่กำลังเชื่อมต่อกับ DNA ของบริษัท และมีเป้าหมายร่วมกัน
แม้ว่าเรื่องราวของ Amazon อาจดูห่างไกลสำหรับธุรกิจหลายแห่ง แต่หลักการพื้นฐานนั้นใช้ได้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ตอัป สิ่งที่สำคัญคือการแก้ปัญหาให้ตรงจุดอย่างสร้างสรรค์ โดยการจัดลำดับความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ยอมรับแนวทางที่อาจจะออกนอกกรอบสักหน่อย และสร้างวัฒนธรรมที่ยึดถือร่วมกันในทีมเพื่อเอาชนะความท้าทายของการเติบโต
เคียร์นีย์ยังคงเก็บโต๊ะที่ทำจากบานประตูที่เขาใช้ทำงานที่ Amazon ไว้ที่บ้านสองตัว ไม่นานมานี้เพิ่งเอาตัวหนึ่งมาหั่นเพื่อทำโต๊ะตัวเล็กๆ สำหรับลูกๆ ของเขาใช้ในบ้าน
“ผมกำลังส่งต่อให้รุ่นต่อไป พวกเขาชอบมากเลยนะ เข้าใจว่ามันคืออะไร มันคือประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของ Amazon ผมคิดว่ามันเจ๋งสุดๆ เลยละ”