ไม่แน่ใจว่าเพื่อนๆ เป็นเหมือนกันไหมที่หมายตาของบางอย่างไว้ แล้วเข้าไปแอปฯ ชอปปิง แล้วกดใส่ตะกร้าเอาไว้แล้วยังไม่ซื้อ รอจนกว่าวันไหนที่มันมีโปรลดราคาหนักๆ แล้วค่อยกดสั่งทีเดียวเพราะได้ของที่อยากได้ในราคาที่ถูกใจ (บางทีก็รู้สึกฟิน เหมือนชนะเกมอะไรบางอย่าง)

ที่จริงหลักการนี้สามารถนำมาใช้ในการเลือกหุ้นซื้อหุ้นดีๆ ได้เช่นเดียวกัน และวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) หนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลกก็ใช้หลักการนี้ด้วย

ในหนังสือ “ศาสตร์แห่งบัฟเฟตต์’ (Buffettology) ที่เขียนโดย แมรี บัฟเฟตต์ (Mary Buffett) และ เดวิด คลาร์ก (David Clark) อธิบายถึงแนวคิดการเลือกหุ้นของบัฟเฟตต์ไว้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

ประเด็นแรกที่เราต้องเข้าใจคือบัฟเฟตต์จะเลือกลงทุนด้วยมุมมองของการร่วมทำธุรกิจ ไม่ใช่การเก็งกำไร (เข้าเร็วออกเร็ว กินส่วนต่าง) นั่นหมายความว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นอะไรก็ตามของเขาแต่ละครั้งต้องแน่ใจและเชื่อจริงๆ ว่าหุ้นที่จะซื้อคือสิ่งที่เขาพร้อมจะอยู่กับมันไปอีกยาวๆ

ถึงขั้นมีคำพูดหนึ่งของเขาที่บอกว่า “ถ้าคุณไม่ได้คิดจะถือหุ้นในมือไป 10 ปี ก็อย่าคิดที่จะถือมันแม้แต่ 10 นาที”

นอกจากแนวคิดเรื่องการซื้อหุ้นคือการร่วมทำธุรกิจแล้ว เรายังต้องสามารถตอบสองคำถามนี้ให้ได้ด้วย “อะไรที่ควรซื้อ” และ “ที่ราคาเท่าไร”

อาจจะฟังดูไม่ยากมาก แต่การเข้าใจกรอบคิดเบื้องหลังการตอบทั้งสองคำถามนี้ของบัฟเฟตต์สำคัญมาก

อย่าวิ่งตามตลาด (อะไรที่ควรซื้อ)

เวลาเราเห็นหุ้นที่กำลังวิ่งอย่างร้อนแรง เป็นข่าวบนสื่อออนไลน์และหน้าหนังสือพิมพ์มากมาย มันเป็นเรื่องธรรมดาครับที่อยากจะวิ่งเข้าไปมีส่วนร่วมกับหุ้นที่เป็นกระแส

การเห็นคนอื่นรวยเอาๆ โดยที่ตัวเองนั่งทับมือไม่ขยับไปไหน เป็นอะไรที่ยากมากๆ

นักเก็งกำไรอาจจะตามตลาดได้ ตราบใดที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่และยอมรับความเสี่ยงตรงนั้นไป

แต่ประเด็นก็อยู่ตรงนี้แหละว่าสำหรับนักลงทุนแล้ว ยิ่งเป็นหุ้นที่ร้อนแรง แม้จะเป็นหุ้นที่ดี หุ้นที่ควรซื้อ แต่มันอาจจะไม่ใช่เวลาที่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมันก็ได้

ในหนังสืออธิบายเอาไว้ว่า “วอร์เรนจะต่างจากคนอื่น ตรงที่ว่าเขาแทบจะไม่สนใจสำหรับการลงทุนในยามที่ราคาหุ้นกำลังขึ้นเลย”

คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าหุ้นนี้น่าซื้อและยังซื้อได้ ไม่ว่าจะที่ราคาเท่าไหร่ “ซึ่งนั้นก็เป็นความคิดอันโง่เขลาที่สุดเท่าที่คุณจะคิดได้สำหรับการลงทุน”

เมื่อตลาดร้อนแรงหรือหุ้นกำลังเป็นที่ฮือฮา ความคุ้มค่าหรือราคาก็กลายเป็นสิ่งที่คนมองข้ามกันได้ง่าย

อย่าวิ่งตามของลดราคาอย่างเดียว (ราคาเท่าไหร่)

แม้ว่าบัฟเฟตต์จะนับถือและเรียนรู้แนวคิดเรื่องการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจากเบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) แต่ทั้งสองคนก็มีแนวคิดเรื่องการซื้อหุ้นและจังหวะที่เข้าซื้อที่แตกต่างกันไม่น้อย

“สำหรับเกรแฮมแล้ว คำถามที่ว่า อะไรที่ควรซื้อ และที่ราคาเท่าไหร มักจะต้องไปด้วยกัน อย่างไรก็ตามเกรแฮมเน้นการใช้ราคาเป็นหลักในการหาคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า อะไรที่ควรซื้อ มากกว่าที่วอร์เรนทำ ตราบใดที่บริษัทมีกำไรสม่ำเสมอ” แมรีอธิบายไว้ในหนังสือ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเกรแฮมสนใจเรื่องธรรมชาติของธุรกิจน้อย ไม่สนใจเลยว่าธุรกิจนั้นทำอะไร รถยนต์ ไฟฟ้า ธนาคาร แบตเตอรี่ ประกัน รถไฟ เครื่องบิน ค้าปลีก ฯลฯ ตราบใดที่ราคาหุ้นของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ถูก ติดป้ายลดราคาเอาไว้เหมาะสม ราคาหุ้นที่ต่ำสามารถชดเชยกับศักยภาพที่ไม่ค่อยดีนักของบริษัทได้

เกรแฮมได้พัฒนาเครื่องมือมากมายเพื่อหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นก่อนที่จะตัดสินใจเข้าซื้อ ถ้ามันลดราคาอยู่ ราคาที่เสนอขายต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมในระดับที่เขาสามารถทำกำไรได้อย่างที่น่าพอใจ (Margin of Safety - กันชนป้องกันความเสี่ยง) ก็เข้าซื้อได้เลย

เส้นทางสู่การเลือกหุ้นดีราคาเหมาะสมของบัฟเฟตต์

นักเก็งกำไรอาจจะมองแค่ว่าหุ้นอะไรที่ควรซื้อ ไม่ว่าราคาสูงเท่าไหร่ก็ได้ ตราบใดที่ยังมีโอกาสทำกำไรได้

ส่วนเกรแฮมอาจจะไม่ได้สนใจหุ้นหรือบริษัทนัก แต่ตราบใดที่ราคาไม่สูง กันชนป้องกันความเสี่ยง ก็เข้าไปซื้อได้

ไม่ได้หมายความว่าวิธีเลือกของนักเก็งกำไรหรือเกรแฮมเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ดี เพียงแต่ว่าสำหรับบัฟเฟตต์แล้วเขามองว่าสองคำถามนี้ (“อะไรที่ควรซื้อ” และ “ที่ราคาเท่าไร”) ควรตอบแยกกันและไม่จำเป็นที่จะต้องทำพร้อมๆ กัน

เทียบให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นอีกสักหน่อย

นักเก็งกำไรเข้าไปในห้างสรรพสินค้า เพื่อหาของที่กำลังฮิต (อาจจะเป็นของที่ดีก็ได้) เพื่อมาขายต่อ ไม่สนใจราคา ตราบใดที่ขายได้สูงกว่าที่ซื้อมาก็ถือว่าโอเคแล้ว ซึ่งแน่นอนครับว่ามีโอกาสติดดอยได้ (ให้ลองคิดถึงเจลแอลกอฮอล์ หรือ กล้วยด่างตอนช่วงโควิด)

ส่วนเกรแฮมจะเดินชอปปิงในส่วนของลดราคา แล้วเห็นของที่ครั้งหนึ่งเคยราคาสูงมาก เช่นเครื่องเป่าหิมะราคา 250 เหรียญ ลดเหลือ 25 เหรียญ แม้ว่าเขาจะอยู่ในรัฐฟลอริดาที่อากาศร้อนทั้งปีและแทบไม่มีโอกาสได้ใช้เลย แต่ราคาถูกมาก เขาก็จะซื้อ เพราะน่าจะมีคนที่ต้องการซื้อสิ่งนี้จากเขาต่อในราคาที่สูงกว่านี้ได้ (มี Margin of Safety สูง เพราะราคาถูกมาก)

ส่วนบัฟเฟตต์จะเลือกของที่อยากได้เอาไว้ก่อน เหมือนมีเช็กลิสต์ของตัวเองว่าอยากได้อะไร คิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่านี่คือหุ้นที่ดี เป็นบริษัทที่อยากเข้าไปเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นแอปฯ ชอปปิงก็กดใส่ตะกร้าเอาไว้ก่อน แล้วรอจนกว่าของชิ้นนั้นจะลดราคาลงนั่นแหละครับ

แมรีอธิบายว่า “เมื่อคุณเห็นเขากำลังเดินในห้างสรรพสินค้า ก็แสดงว่าเขากำลังเช็กราคาของที่เขาต้องการว่ากำลังลดราคาหรือเปล่า วอร์เรนก็ทำแบบเดียวกันในตลาดหุ้น เขารู้อยู่แล้วว่าบริษัทไหนที่เขาต้องการเป็นเจ้าของ เพียงแต่รอราคาที่เหมาะสม”

“สำหรับวอร์เรน คำถามที่ว่าอะไรที่ควรซื้อนั้นแยกจากคำถามว่าที่ราคาเท่าไร เขาจะตอบว่าอะไรที่ควรซื้อก่อน แล้วจึงประเมินว่าตอนนี้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่”

เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วใครก็ตามที่มีนิสัยกดเลือกสินค้าที่อยากได้จริงๆ ไว้ในตะกร้าชอปปิงออนไลน์ก่อนแล้วซื้อตอนที่ราคาถูกลงกว่าปกติ คุณก็มีกรอบความคิดคล้ายกับบัฟเฟตต์อยู่แล้ว อาจจะลองเอามาปรับใช้ในการเลือกหุ้นเหมือนบัฟเฟตต์ดูก็ได้นะครับ บางทีอาจจะเจอหุ้นของบริษัทที่ดีในราคาที่เหมาะสมได้เช่นกัน

ปล. หนังสือเล่มนี้ดีมากๆ หากใครสนใจเรื่องการลงทุนและแนวคิดของบัฟเฟตต์ครับ