เมื่อพูดถึงวัย 35 ปี คุณคิดถึงอะไร? สำหรับหลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าเป็นหมุดหมายชีวิตที่เข้าสู่ช่วงวัยกลางคน จุดที่ต้องเริ่มคิดถึงอนาคตให้มากขึ้น วางแผนอย่างจริงจังสำหรับวัยเกษียณ บางคนอาจจะเริ่มกังวลถึงผมหงอก ตีนกา หรือวิกฤติวัยกลางคน (Midlife Crisis) หรือดีหน่อยบางคนอาจจะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องกลับมาคิดทบทวนแล้วลองทำอะไรใหม่ๆ ที่มีความหมายกับชีวิตมากขึ้น

แต่สำหรับ Millennials ชาวจีนแล้ว วัย 35 ปี กลับให้ความรู้สึกเหมือนช่วงวัยต้องสาปของชีวิตการทำงาน เพราะรู้สึกว่าบริษัทส่วนใหญ่จะจ้างแต่เด็กๆ ที่อายุไม่ถึง 35 ปี จึงทำให้ทำให้คนที่อยู่ในช่วงวัยนี้ กดดัน เครียด กลัว กังวล และคิดว่าแก่เกินไปที่จะหางานใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็เด็กและจนเกินไปที่จะเกษียณ จนเกิดเป็นกระแสบน Weibo (โซเชียลมีเดียของจีนคล้าย Twitter) และคำเรียกชวนหดหู่ว่า “คำสาปวัย 35" เลยทีเดียว

คอมเมนต์หนึ่งเขียนเกี่ยวกับคำสาปวัย 35 ว่า

“ฉันกลัวมากว่าจะไม่สามารถรักษางานของตัวเองได้ แล้วหลังจากนั้นก็ต้องไปวิ่งหางานใหม่โดยรับมือกับอารมณ์ของเจ้าของธุรกิจ มันน่ากลัวและเครียดมากเลย”

อีกคนหนึ่งก็คอมเมนต์เสริม

“ชีวิตมันโหดมาก ฉันเป็นโสดและไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อบ้าน แล้วแก่ตัวมาจะไปอยู่ที่ไหน? เจ้าของบ้านเช่านี้ก็ไม่ปล่อยเช่าให้คนสูงอายุ มันยากมากที่จะหาเงินตอนที่อายุมากขึ้น ในชีวิตนี้ เราก็แค่ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายว่าจะไปที่ไหน”

หลายๆ คนก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงเดียวกันว่ามันเป็นวงจรที่น่ากลัวมาก แก่เกินไปที่จะหางานในวัย 35 ปี แต่ก็ไม่ได้มีเงินมากพอและไม่สามารถที่จะเกษียณได้ แม้จะทำงานไปจนอายุเกิน 60 ปีก็ตาม

สถานการณ์ “การเหยียดอายุ” (Ageism) นี้ไม่ได้แค่เกิดในบริษัททั่วไปเท่านั้น ตำแหน่งงานต่างๆ ในหน่วยงานรัฐบาลส่วนใหญ่ก็จะเปิดรับเด็กจบใหม่ เงื่อนไขอายุระหว่าง 18-35 ปี ซึ่งนี่ก็ยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปมากกว่าเดิม แม้จะมีการพยายามแก้ไขเรื่องนี้โดยการยกระดับเกณฑ์อายุให้สูงขึ้นเป็น 40 ปี แต่คนที่สมัครก็ต้องจบปริญญาโทหรือเอกขึ้นไปเท่านั้น

เทียนเลย หวง (Tianlei Huang) หนึ่งในนักวิจัยที่ Peterson Institute for International Economics องค์กรวิจัยอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของประเทศอเมริกา บอกกับเว็บไซต์ Business Insider ว่า

“เมื่อหน่วยงานรัฐจ้างงานแบบเลือกปฏิบัติแบบนี้ นายจ้างเอกชนก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องกังวลในการทำเช่นเดียวกัน”
ทาเนีย เลนนอน (Tania Lennon) กรรมการบริหารที่ International Institute for Management Development สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจนานาชาติให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะ “ช่วงวัย 35 ปีถือเป็นหมุดหมายสำคัญ มันคือช่วงที่คุณกำลังเข้าสู่ช่วงจุดสูงสุดของเส้นทางสายอาชีพและหารายได้เลย​“ การถูกดันให้หลุดออกจากวงจรการทำงานในช่วงนี้กลายเป็นผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะยังไม่มีเงินเก็บเพียงพอ เหมือนที่คอมเมนต์หนึ่งบอกว่า

“ฉันเพิ่งอายุ 34 และตกงานเมื่อสามเดือนก่อน ปีนี้ฉันจะมีชีวิตรอดไหมเนี้ย?”

จากรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมการทำงาน_996_อันโหดร้ายของจีน

เหตุผลส่วนหนึ่งที่บริษัทในประเทศจีนนั้นอยากจ้างงานคนหนุ่มสาวมากกว่าก็เพราะวัฒนธรรมการทำงาน “996” ที่ส่งเสริม ผลักดัน (เชิงบังคับ) ให้พนักงานทำงานอย่างหนัก ถ้าอยากก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ต้องเข้างาน 9 โมงเช้า จนถึง 9 โมงเย็น (สามทุ่ม) เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ (996) เพราะฉะนั้นจึงมองหาพนักงานที่อายุน้อย สุขภาพแข็งแรง และพร้อมจะทุ่มทำงานเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อตอบสนองวัฒนธรรมการทำงานหนักแบบนี้นั่นเอง

หวง อธิบายต่อว่า “เป็นเรื่องจริงที่พนักงานที่อายุน้อยนั้นมีสุขภาพที่ดีกว่า และมักจะมีภาระครอบครัวที่น้อยกว่าคนที่อายุ 35 ปีขึนไป จึงทำให้ทำงานได้เยอะกว่า”

นอกจากเรื่องของสุขภาพและภาระครอบครัวแล้ว (แม้จะไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องนัก) บริษัทก็คิดว่าคนที่อายุเกิน 35 ไปแล้วนั้นมีความยืดหยุ่นในการทำงานน้อยกว่า ไม่ค่อยทันเรื่องเทคโนโลยี และเรียนรู้ได้ช้ากว่าคนรุ่นใหม่ด้วย

อัตราการเติบโตของธุรกิจในประเทศจีนที่ชะลอตัวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาเราเห็นเศรษฐกิจของจีนนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว GDP เติบโตเป็นเลขสองหลักนานหลายปี แต่ก็ค่อยๆ ชะลอลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนการระบาดโควิด-19 ด้วยซ้ำ และล่าสุดปีนี้นักวิเคราะห์หลายแห่งก็คาดการณ์ว่ามีโอกาสจะโตแค่ 5-6% เท่านั้นแม้กลับมาเปิดประเทศแล้วก็ตาม

จึงไม่แปลกที่บริษัทต่างๆ จะชะลอการจ้างงานและเลือกเฟ้นหาพนักงานที่อายุน้อยมากขึ้น เพราะตอนนี้ในไตรมาสที่สอง 2023 จำนวนคนหนุ่มสาวที่ว่างงานก็สูงเป็นประวัติการณ์กว่า 21%

ในมุมของบริษัท เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ก็ชะลอตัว เมื่อคนหนุ่มสาวว่างงานเยอะ บริษัทก็เลือกที่จะจ้างคนหนุ่มสาวมากกว่าคนที่อายุมากขึ้น โดยกดค่าแรงต่ำๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่องานหายาก คนหนุ่มสาวมีอะไรก็ต้องทำไปก่อน บริษัทมีค่าใช้จ่ายน้อยลง แถมยังได้พนักงานที่ภาระความรับผิดชอบทางบ้านน้อย ข้อต่อรองน้อยกว่า และทำงานวันหนึ่งได้นานๆ ด้วย

แต่ยังไงก็ตามเทรนด์ “คำสาปวัย 35” สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจจะหายไปเอง ตอนนี้เมื่อมีทางเลือกที่ราคาถูกกว่าในการจ้างงานเด็กจบใหม่ที่ว่างงานเป็นจำนวนมาก บริษัทก็ทำแบบนั้น แต่อย่างที่เราทราบกันว่าปีที่แล้วประชากรในประเทศจีนนั้นลดลง 850,000 คนเป็นครั้งแรกตั้งแต่ยุค 60’s นั่นหมายความว่าอัตราการเกิดของเด็กน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากร ซึ่งสุดท้ายจะนำมาซึ่งจำนวนประชากรที่ลดลงในอนาคต

เมื่อประชากรเกิดน้อยลง นั่นหมายความว่าบริษัทก็จะมีทางเลือกน้อยลงในการจ้างงานคนหนุ่มสาว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการแข่งขันในการจ้างงานเด็กจบใหม่ที่มีความสามารถและทำให้ค่าแรงแพงขึ้น เพราะฉะนั้นอีก 10-20 ปีข้างหน้าคำสาปวัย 35 อาจจะไม่มีอีกแล้ว เพราะถ้าไม่จ้างคนที่มีอายุมากขึ้น ไม่เพียงแต่ก็จะไม่มีคนทำงานในบริษัทเท่านั้น คนกลุ่มนี้ค่าแรงอาจจะถูกกว่าพนักงานหนุ่มสาวที่หายากอีกด้วย

แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม สำหรับ Millennials ชาวจีนในยุคนี้ คำสาปวัย 35 ถือเป็นการเอาพริกเกลือมาโรยบาดแผลแห่งความโหดร้ายของโชคชะตา เศรษฐกิจที่ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนยุคก่อนๆ ทำให้ยังไม่สามารถตั้งตัวได้ เงินเก็บที่มีไม่พอที่จะเกษียณ การถูกบีบให้ออกจากงานหรือโอกาสในการทำงานใหม่นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ โดยรวมแล้วก็ดูค่อนข้างสิ้นหวังไม่น้อย

มีโพสต์หนึ่งใน Weibo ที่น่าจะสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี บอกว่า

“ทั้งหมดที่เราสร้างขึ้นมาคือคนมากมายที่ไร้ซึ่งเป้าหมาย มันไม่ใช่ว่าคนอายุ 35 ปีไม่อยากทำงานหนัก แต่เพราะสังคมกีดกันพวกเขาออกมาซะมากกว่า”