หลายคนที่อายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป คงเคยได้ยินคำที่ว่า “ประชากรกำลังจะล้นโลก” สมัยนั้นคำพูดนี้ดูแล้วไม่เกินจริง กลับกัน ดูมีความเป็นไปได้สูงมากซะอีก เพราะช่วงนั้นเองคนเริ่มตายยากขึ้นจากเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น แถมคนเกิดก็ยังเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทำให้ภาพของ “พีระมิดประชากร” ในตอนนั้น มีส่วนฐานที่ค่อนข้างกว้าง หมายถึง มีคนเกิดและคนวัยรุ่นเยอะ และมีส่วนยอดที่เริ่มแหลมสูงขึ้น หมายถึง คนแก่ที่ตายยากเพราะอายุยืนขึ้นนั่นเอง

หันกลับมามองภาพในปัจจุบัน สิ่งที่หายไปแล้ว คือ “อัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้น” กลับกัน สิ่งที่ยังอยู่ คือ “อัตราการตายที่น้อยลง” ซึ่งทำให้คนเรามีอายุยืนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนไทย

ข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุในปี 2565 มีประมาณ 12,698,362 คน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็น

-อายุ 60-69 ปี 7,120,271 คน (สัดส่วน 56.07%)
-อายุ 70-79 ปี 3,743,466 คน (สัดส่วน 29.48%)
-อายุ 80 ปีขึ้นไป 1,834,625 คน (สัดส่วน 14.45%)

ถือว่าค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับช่วงอดีตไม่กี่ปีมานี้ อีกทั้ง ข้อมูลจากกรมการปกครอง ยังชี้ให้เห็นว่า ล่าสุด ผู้ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี มีเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีก่อน ถึงประมาณ 7 พันคน เลยทีเดียว

คำถามที่ตามมา คือ ถ้าคนมีอายุยืนขึ้น เงินใช้จ่ายจะเพียงพอไหม และแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุทุกวันนี้มาจากไหนกันนะ

ข้อมูลจาก คปภ. ระบุว่า รายได้ของผู้สูงอายุในปัจจุบัน หลักๆ มาจากสวัสดิการของรัฐ เช่น เบี้ยคนชรา รวมทั้งระบบการออมและกองทุนทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ เช่น ประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กบข. เป็นต้น ซึ่งปัญหาของรายได้กลุ่มนี้ คือ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในปัจจุบัน

และถึงแม้ว่า ผู้สูงอายุบางคนอาจจะมีลูกหลานคอยดูแล แต่ก็ไม่เพียงพอเช่นกัน เพราะลูกหลานก็มีภาระเป็นของตัวเองที่ต้องจัดการด้วย หรือ รายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่เดิม ก็กลับเอามาใช้ไม่ได้ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น บ้าน หรือ ที่ดิน ถ้าขายไปและนำเงินมาใช้ก็จะไม่มีมรดกส่งต่อให้ลูกหลานอีก หรือแม้กระทั่ง ถ้าผู้สูงอายุคนไหนยังมีแรงอยู่ ก็มีรายได้จากการทำงาน แต่ก็อาจจะไม่มากเนื่องจากสุขภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย

และคำว่า “อายุยืน” นี่เองที่จะนำมาซึ่ง “ความเสี่ยง” ในด้านต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวผู้สูงอายุเอง แต่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่นด้วย ดังนี้

1. ความเสี่ยงที่เกิดกับ “ผู้สูงอายุเอง”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน “เรื่องเงิน” เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าวางแผนเก็บเงินมาไม่ดี แถมโชคดีมีอายุเพิ่มขึ้น แต่เงินไม่พอใช้ ก็เหมือนตายทั้งเป็น อีกทั้ง ยังมีความเสี่ยง “เรื่องสุขภาพ” ที่อาจจะป่วยง่ายขึ้น หรือถ้าโชคร้ายสุดๆ ก็คือการป่วยติดเตียง และไม่มีคนดูแล

2. ความเสี่ยงที่เกิดกับ “วัยทำงาน”

การที่คนอายุยืนขึ้น ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม และกลุ่มคนทำงานกลายเป็นคนกลุ่มน้อย ที่ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้น ลำพังรายได้ของคนกลุ่มนี้ก็แทบไม่พอต่อการเลี้ยงดูตนเอง ถ้าต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้วัยทำงานไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ และสุดท้ายเขาก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาด้านการเงินเช่นกัน

3. ความเสี่ยงที่เกิดกับ “หน่วยงานและองค์กร”

ถึงแม้ว่า การที่คนอายุยืนขึ้นจะทำให้บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของผู้สูงอายุไปได้ดี แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ามองในมุมตลาดแรงงาน กำลังแรงงานที่ตลาดต้องการ ไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจบางประเภทที่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน ต้องเจอกับภาวะของค่าจ้างแรงงานวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มสูงขึ้น

4. ความเสี่ยงที่เกิดกับ “ภาครัฐบาล”

กรณีผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการจัดสวัสดิการของรัฐ ให้กับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง รายได้จากภาครัฐกว่า 90% ที่มาจากการเก็บภาษีจะลดลง เนื่องจากผู้สูงอายุไม่ได้ทำงานแล้ว ซึ่งหมายความว่า รายได้ของรัฐก็จะลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

สุดท้ายแล้ว ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของ “อายุยืน” หรือ “อายุสั้น” แต่เป็นปัญหา “เรื่องเงิน” ที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในไทยมีรายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอกับการดำรงชีพให้มีคุณภาพ ทำให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงที่กระทบต่อภาคอื่นๆ ตามมา

ในส่วนของการแก้ปัญหานี้ คงต้องเป็นการร่วมมือกัน ทั้งภาคประชาชน หน่วยงาน องค์กร หรือแม้กระทั่งภาครัฐเอง ที่ต้องเข้มงวดกับปัญหานี้ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการแก้ระยะสั้น คือ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังพอมีกำลังอยู่ สามารถทำงานเพื่อหาเงินต่อได้ หรือจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ทำอยู่ คือ การให้สวัสดิการตามสมควร แต่ทางที่ดีควรเน้นไปที่การแก้ปัญหาระยะยาว คือ ปลูกฝังให้คนได้รู้จักเรื่องการวางแผนการเงิน รวมทั้งวางระบบการออมเพื่อการเกษียณให้แข็งแรงและจูงใจเพิ่มมากขึ้น