เชื่อว่า ยุคนี้ สมัยนี้ ใครๆ ต่างก็โหยหา "อิสรภาพทางการเงิน"
หลายคนอาจเข้าใจว่า เป็นภาวะที่ไม่ต้องทำงาน ก็มีเงินใช้แบบสบายมือ

แต่ถ้ายึดคำนิยามตามเกณฑ์ 4 ข้อ ของ Consumer Financial Protection Bureau หรือ สำนักคุ้มครองการเงินผู้บริโภค ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา แล้วล่ะก็ "อิสรภาพทางการเงิน" หมายถึง

✅1. สามารถควบคุมการเงิน ทั้งแบบ “วันต่อวัน” หรือ “เดือนต่อเดือน” ได้
✅2. สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินทั้ง “ระยะกลาง” และ “ระยะยาว” ได้
✅3. สามารถรับมือกับ “เหตุฉุกเฉิน” หรือ ผลกระทบที่ไม่ดีทางการเงินในอนาคตได้
✅4. สามารถเลือกใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยไม่ได้กังวลเรื่องเงิน

พูดง่ายๆ คือ สามารถใช้ชีวิตในแบบที่เราเลือกเองได้จะทำงาน หรือ ไม่ทำงานก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินตลอดชีวิต

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ คงเข้าใจกันแล้วล่ะว่า ทำไมใครถึงโหยหาการมีอิสรทางการเงิน เพราะมันหมายถึงการมีเงินใช้เลี้ยงดูตัวเอง หรือ ครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข โดยไม่เดือดร้อน ไม่ต้องดิ้นรนแข่งขัน สามารถเลือกทำงานในสิ่งที่ชอบ ที่มีความสุข มีเวลาพัฒนาตัวเอง โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยทางการเงิน ที่สำคัญ ยังมีเงินมากพอที่เก็บไว้รับมือกับเหตุฉุกเฉินในอนาคตด้วย

คราวนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วซิว่า ต้องมีเงินเท่าไร จึงจะเรียกว่า มีอิสรภาพทางการเงิน?

คำตอบ คือ ไม่มีจำนวนที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคน บางคนต้องการมีเงินเพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ บางคนอยากพอมีเงินเหลือกินเหลือเก็บ สามารถแบ่งไปใช้ทำกิจกรรมหรือสานฝันที่ต้องการ ขณะที่ บางคน กลับต้องการความมั่นคงให้กับชีวิต มีเงินยิ่งมากยิ่งดี ดังนั้น วิธีการหาเงินเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินของแต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป

แต่ถ้าจะลองวัดเป็นตัวเลขที่แน่นอนก็พอจะมีการศึกษาถึงเรื่องนี้อยู่บ้าง เช่น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า กลุ่มคนที่มีความสุขน้อยที่สุด ระดับความสุขของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นเมื่อทำเงินได้ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.5 ล้านบาท

รวมทั้ง Charles Schwab ผู้ให้บริการการเงินและการลงทุนชื่อดังของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับคำถามที่ว่ามีเงินเท่าไรถึงจะมั่งคั่ง พบว่า ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 78 ล้านบาท

ซึ่งจริงๆ แล้ว การมีอิสรภาพทางการเงิน ก็อาจจะยึดโยงกับตัวเลขของเงินเกษียณได้เช่นกัน เพราะเมื่อเรามีเงินที่เพียงพอสำหรับการไม่ต้องทำงานแล้ว ความสบายใจก็จะเกิดขึ้นได้

เช่น อยากมีเงินใช้หลังเกษียณแบบสบายๆ ไปจนถึงอายุ 85 ต้องมีเงินเท่าไร?

อาจเริ่มต้นด้วยการนำ "กฎคูณ 25 สำหรับการเกษียณอายุ" มาใช้ ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากมีเงินใช้หลังเกษียณ เดือนละ 20,000 บาท ให้คูณด้วย 12 เดือน จะได้จำนวนค่าใช้จ่ายรวมต่อปี 240,000 บาท จากนั้นนำไปคูณกับ 25 ก็จะได้จำนวนเงินเก็บที่ต้องมีเพื่อใช้หลังเกษียณ ซึ่งเท่ากับ 6,000,000 บาท แต่ต้องไม่ลืมคิดเงินเฟ้อเพิ่มเข้าไปด้วยนะ

ซึ่งตัวเลข 25 ก็มาจาก อายุเมื่อเกษียณ ลบด้วย อายุขัยที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ เช่น เกษียณตอนอายุ 60 ปี และคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึง 85 ปี ตัวเลขก็จะเป็น 25 แต่ถ้าคุณตั้งเป้าหมายจะมีเงินใช้หลังเกษียณ จนถึงอายุ 90 ปี หรือ 100 ปี ตัวคูณในเงินเก็บ ก็อาจเพิ่มเป็น 30 หรือ 40 ปี ตามลำดับ

สุดท้ายนี้ เชื่อว่า หลายคนน่าจะมองคำว่า "อิสรภาพทางการเงิน" แตกต่างไปจากเดิม แต่สิ่งที่สำคัญทุกคนต้องรู้ว่า "อิสรภาพทางการเงิน" เป็นสิ่งที่สร้างได้ แค่ต้องลงมือทำ และค่อยๆพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จทางการเงินที่ยั่งยืน