นอกจากเทสลา (Tesla) จะได้ขึ้นชื่อว่ามีนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมแล้ว ภายใต้การบริหารของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ยังสามารถปรับตัวและมีความยืดหยุ่นสูง จะเห็นได้จากการที่สามารถลดราคาเทสลารุ่นต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งได้อย่างรวดเร็ว

จึงไม่แปลกที่เทสลา จะกลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกแซงทั้ง ‘Toyota’ และ ‘Daimler Motor Company’ ผู้ผลิต เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ไปเรียบร้อยแล้ว

เวลาเราพูดถึงเทสลา ชื่อของ มัสก์ ก็จะพ่วงมาด้วยโดยอัตโนมัติ จนหลายคนเข้าใจผิดคิดไปว่าบริษัทแห่งนี้มีเขาเป็นผู้ก่อตั้งเพียงคนเดียว แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่เลย ผู้ร่วมก่อตั้งเทสลามีด้วยกันถึง 5 คน แต่ทำไมคนที่ได้รับเครดิตผู้ก่อตั้ง รวมทั้งรวยมหาศาลจากเทสลาถึงมีเพียงมัสก์เพียงคนเดียว?

วันนี้ aomMONEY จะพาย้อนอดีตกลับไปดูจุดกำเนิด ความทะเยอทะยาน ขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ จนก้าวสู่การเป็นเบอร์ 1 ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของเทสลาและมัสก์

จุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นเทสลาเกิดขึ้นเมื่อ ‘มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด’ (Martin Eberhard) และ ‘มาร์ค ทาร์เพนนิง’ (Marc Tarpenning) สองผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ร่วมกันก่อตั้งบริษัท NuvoMedia สร้างเครื่องอ่าน E-Book ก่อนขายกิจการให้ Gemstar-TV Guide ในราคา 187 ล้านดอลลาร์ (6,920 ล้านบาท)

จากนั้นทั้งคู่ก็มีแนวคิดอย่างสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่และเทคโนโลยีชั้นสูง จึงก่อตั้ง ‘Tesla Motors’ (ปัจจุบันคือ Tesla Inc.) ในปี 2003 โดยนำ ‘tZERO’ รถสปอร์ตไฟฟ้าของบริษัท ‘ AC Propulsion’ ในช่วงต้นปี 2000 มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างรถยนต์ ‘Tesla Roadster’ รถยนต์สปอร์ตไฟฟ้าสมรรถนะสูงตัวแรกของบริษัท

แต่การพัฒนาต้องใช้เงินมหาศาล ทั้งคู่ถนัดเชิงนวัตกรรมมากกว่า เลยไม่สามารถหาทุนด้วยตนเอง จึงตัดสินใจระดมทุนในปี 2004 และนั่นทำให้มัสก์ที่พึ่งได้เงินจากการขาย PayPal ให้กับ eBay มีโอกาสก้าวเข้ามาในเทสลา โดยเขาลงทุนไป 6,500,000 ดอลลาร์ (240 ล้านบาท) จากเงินทุนที่ระดมได้ครั้งแรก 7,500,000 ดอลลาร์ (278 ล้านบาท) ส่งผลให้เขากลายเป็นประธานคณะกรรมการของเทสลาทันที

เมื่อเงินพร้อมเอเบอร์ฮาร์ดและทาร์เพนนิงจึงเพิ่มทีมงาน โดยมีการจ้าง เอียน ไรต์ (Ian Wright) และ เจ.บี. สเตราเบล (J.B. Straubel) เข้ามาช่วยออกแบบ, ทดสอบ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยี จนได้ขึ้นชื่อว่า ทั้ง 5 คนนี้ คือผู้ก่อตั้งเทสลาอย่างแท้จริง

เติบโตและแตกแยก

การได้ตัวมัสก์ที่หาเงินทุนเก่งเข้ามา ส่งผลให้การระดมทุนครั้งที่ 2 ได้รับเงินมากถึง 13 ล้านดอลลาร์ (481 ล้านบาท) และครั้งที่ 3 ได้ทุน 40 ล้านดอลลาร์ (1,480 ล้านบาท) โดยมี ผู้ร่วมก่อตั้ง Google อย่าง ‘เซอร์เกย์ บริน’ (Sergey Brin), ‘แลร์รี เพจ’ (Larry Page) และอดีตประธาน eBay ‘เจฟฟ์ สคอล’ (Jeff Skoll) ร่วมลงทุน และการระดมครั้งต่อ ๆ มาก็ได้เงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด ในทุกครั้งที่มีการระดมทุน มัสก์จะควักเงินร่วมลงทุนด้วยเสมอ

Tesla Roadster เปิดตัวในปี 2008 ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก แต่เทสลาเองกลับเกิดปัญหาด้านการคำนวณต้นทุนจากระบบลอจิสติกส์ ที่เอเบอร์ฮาร์ดบอกกับผู้ถือหุ้นและมัสก์ว่า ต้นทุนต่อคันของ Roadster อยู่ที่ 65,000 ดอลลาร์ (2,400,000 บาท) และขายประมาณ 100,000 ดอลลาร์ (3,700,000 บาท) แต่มัสก์คำนวณและพบว่า ต้นทุนต่อคันควรอยู่ที่ 140,000 ดอลลาร์ (5,180,000 บาท) เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ทำให้มัสก์มองว่าเอเบอร์ฮาร์ดหลอกลวงนักลงทุน จึงทำการจัดการประชุมลับระหว่างที่เอเบอร์ฮาร์ด กำลังนำเสนองานที่ Motor Press Guild สิงหาคมปี 2007 และโหวตเขาลงจากตำแหน่งซีอีโอและโทรแจ้งปลดเขากลางอากาศ สร้างความไม่พอใจ จนเอเบอร์ฮาร์ดตัดสินใจลาออกในปี 2008 และเครดิตการก่อตั้งเทสลาก็ดูเหมือนจะถูกมัสก์ยึดมาไว้กับตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด และ มาร์ค ทาร์เพนนิง (ลาออกจากเทสลาในปี 2008 เช่นกัน) กล่าวถึงมัสก์ในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2019 ว่า ‘เขา (อีลอน มัสก์) เป็นแค่นักลงทุนใน Series A (การลงทุนครั้งแรก) เป็นซีอีโอคนที่ 4 และประธานบริษัทคนที่ 2 เท่านั้น ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าทำไมเขาต้องบอกว่าคนอื่นว่าเขาเป็นผู้ก่อตั้ง’

เอเบอร์ฮาร์ดยื่นฟ้องมัสก์ ในข้อหาหมิ่นประมาท ผิดสัญญา และเลิกจ้างโดยมิชอบ แต่ก็เจรจาตกลงกันได้โดยเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่สำคัญในการเจรจาคือ มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด และ มาร์ค ทาร์เพนนิง จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งเทสลาร่วมกันกับอีลอน มัสก์, เอียน ไรต์ และ เจ.บี. สเตราเบลด้วย

มัสก์กุมอำนาจในเทสลาและก้าวขึ้นเป็นซีอีโอหลังการจากไปของ 2 ผู้ก่อตั้งดั้งเดิม ซึ่งอำนาจที่ได้เพิ่มขึ้นมานี่เอง ทำให้เขาร่ำรวยมากขึ้นไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2022 เขาจะได้หุ้นเทสลา คิดเป็นมูลค่ากว่า 56,000 ล้านดอลลาร์ ( ประมาณ 2 แสนล้านบาท) จากออปชันการซื้อหุ้นบริษัทที่ทำไว้ในปี 2018 หากบริษัทเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

แม้ดูเหมือนมัสก์จะพยายามหาผลประโยชน์จากเทสลาจนรวยแซงหน้าผู้ก่อตั้งคนอื่น ๆ แต่มองอีกมุมก็จะพบว่า เขาลงทุนและทุ่มสุดตัวกับเทสลามากเช่นกัน

หลายครั้งที่เกิดวิกฤตกับเทสลา อีลอนเองก็เข้าไปจัดการและแก้ไขสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี เช่น ในปี 2008 เทสลากำลังพัฒนา Tesla Model S ขึ้นมาใหม่เพราะ Roadster ไม่น่าจะตอบโจทย์อนาคตของบริษัทได้มัสก์ก็ทุ่มเงินเกือบทั้งหมดของเขาลงไปด้วยในการระดมทุนแต่ละครั้ง รวมแล้วกว่า 200 ล้านดอลลาร์ ( 7,400 ล้านบาท) เพื่อนำเงินไปพัฒนารถยนต์โมเดลใหม่

จากผู้ก่อตั้งที่มีด้วยกัน 5 คน ตอนนี้เหลือเพียงมัสก์เท่านั้นที่ยังอยู่กับเทสลา การวางแผนการจัดการที่ดี ปรับตัวและยืดหยุ่นสูง รวมทั้งทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปั้นเทสลา ทำให้เขามีรายได้จากบริษัทรถยนต์เบอร์ 1 ของโลกมหาศาล ต่างจากผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่น ๆ โดยทรัพย์สินรวมของผู้ก่อตั้งเทสลาแต่ละคนมีดังนี้

-เอียน ไรท์ ที่ลาออกเมื่อปี 2005 โดยขายหุ้นทั้งหมดหลังจากเข้าร่วมเพียง 1 ปี ตอนนี้มีทรัพย์สินมูลค่าราว 7,000,000 ดอลลาร์ ( 260 ล้านบาท )

-มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด หลังจากโดยอีลอน มัสก์โหวตปลดจากตำแหน่ง เขาลาออกและขายหุ้นไป ตอนนี้มีทรัพย์สินมูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์ (18,500 ล้านบาท)

-มาร์ค ทาร์เพนนิ่ง ลาออกปีเดียวกันกับมาร์ติน (2008) ตอนนี้เขามีทรัพย์สินมูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์ (7,400 ล้านบาท)

-เจ.บี. สเตราเบล อยู่กับเทสลาถึงปี 2019 คาดว่าเขาถือหุ้นประมาณ 0.12% ตอนนี้ เจ.บี. มีทรัพย์สินมูลค่าราว 1,300 ล้านดอลลาร์ (48,000 ล้านบาท)

-อีลอน มัสก์ ปัจจุบันถือหุ้นเทสลาประมาณ 13% ทำให้ตอนนี้เขามีทรัพย์สินรวมกว่า 260,000 ล้านดอลลาร์ ( 1 ล้านล้านบาท)

หมายเหตุ

อีลอน มัสก์ถูกจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกจากนิตยสาร Forbes ประจำเดือนกันยายน 2023 และยังมีความมั่งคั่งจากธุรกิจอื่นๆ นอกจากเทสลาด้วย เช่น SpaceX, X (Twitter เดิม), The Boring Company และอื่นๆ

เรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา