ท่ามกลางนโยบายการเงินของธนาคารกลาสงทั่วโลกยังมีความเข้มงวด เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การลดสภาพคล่อง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง บวกกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ มีความผันผวนหนัก 

นักลงทุนจึงพยายามมองหาสินทรัพย์ลงทุนที่มีความทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจหรือได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสชะลอตัว หนึ่งในนั้น คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ (Health Care)

องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่าธุรกิจสุขภาพทั่วโลกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก เช่น  สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีนเองเริ่มมีสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในแต่ละประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 - 30% ของประชากรทั้งหมด

เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นสิ่งที่ตามมา ก็คือ การรักษาพยาบาล การใช้ยา รวมถึงงบนโยบายสาธารณสุขที่ต้องสูงขึ้นตาม ประกอบกับประชากรในประเทศที่มีความมั่งคั่ง ทำให้มีกำลังจ่ายด้านสุขภาพ มองไปข้างหน้าหุ้นธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ มีโอกาสทำกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ

สามารถแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจย่อยได้เป็น 4 ประเภท 

(1) Pharma หรือกลุ่มยา - เป็นบริษัทที่คิดค้นและผลิตยาผ่านกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี

(2) Healthcare Service หรือกลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ - ได้แก่ โรงพยาบาลหรือบริษัทประกันเป็นต้น

(3) Biotech หรือกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ - กลุ่มบริษัทที่เน้นการวิจัย พัฒนา และผลิตยาผ่านกระบวนการที่ใช้สิ่งมีชีวิต

(4) MedTech - กลุ่มเครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์

จากกลุ่มธุรกิจย่อย พบว่าบริษัทแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะของการทำกำไรที่แตกต่างกัน โดย Pharma และ Healthcare Service เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างทำกำไรได้อย่างคงที่ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตหรือถดถอย คนป่วยก็ยังจำเป็นต้องใช้ยาหรือไปโรงพยาบาล

สำหรับกลุ่ม Biotech และ MedTech อยู่ในกลุ่มหุ้นกลุ่มเติบโต เนื่องจากกำไรของหุ้นกลุ่มจะอยู่ในระดับสูง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนา ยา วัคซีน หรือเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อมาสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพในอนาคต

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพในสั้น – กลาง

Resilience in High Inflation

หุ้นกลุ่มการแพทย์และดูแลสุขภาพโลก ถือว่ามีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอ มีความผันผวนของกำไรค่อนข้างต่ำ จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภคได้ดี (High Pricing Power) ดังนั้น เป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถทนทานต่อสภาพเงินเฟ้อสูงได้ดีกว่าตลาดโดยรวม

Resilience in Tightening Cycles

ในสภาวะปัจจุบันที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ต้องดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดต่อไป หุ้นกลุ่มธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ทนทานได้ดีในสภาวะดังกล่าวและสามารถสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้ในช่วงสภาพคล่องทางการเงินตึงตัวในอดีต เช่น ปี 2015, 2018, 2020 ก่อนวิกฤติโควิด

Resilience in Recession Risk

หุ้นกลุ่มธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นที่มีลักษณะ Defensive เนื่องจากมีแนวโน้มรายได้และกำไรที่ไม่อ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจมากนัก หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตกำไร พบว่ามีการเติบโตของกำไรค่อนข้างสม่ำเสมอ จึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีกว่าดัชนีหุ้นโลกทั้งก่อนเกิดและระหว่างเกิดเศรษฐกิจถดถอย

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพในระยะยาว

Structural Demand Growth

ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนเชิงโครงสร้างประชากรทั่วโลกที่มีจำนวนผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงและยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 39.2 ล้านคนเป็น 74.1 ล้านคนในปี 2030 ซึ่งประชากรกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทุกกลุ่มประชากร

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีชนชั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น โดย Brookings Institution คาดว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่มีประชากร 1 ใน 3 ของโลก จะมีสัดส่วนชนชั้นกลางมากกว่า 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 2030 โดยกลุ่มคนดังกล่าวมีความพร้อมในการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์มากขึ้น

Disruptive Technology

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ช่วยให้การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ใหม่ๆ ออกมาได้ดี และรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนให้ต้นทุนของการวิจัยพัฒนา รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์หลายอย่างมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น กระบวนการตรวจพันธุกรรมของมนุษย์ จากที่มีต้นทุนสูงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2001 แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อมูลดังกล่าวธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุน เพราะเป็นธุรกิจที่มีทั้งความเป็น Defensive และ Growth เนื่องจากทนทานต่อความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจได้ดี

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาดัชนี S&P500 Health Care สร้างผลตอบแทนรวม 5 ปี และ 10 ปีย้อนหลัง (1 พฤศจิกายน 2566) ทำได้ 8.77% ต่อปี และ 10.85% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับ MSCI World Health Care Index (USD) ให้ผลตอบแทนรวม 5 ปี และ 10 ปีย้อนหลัง (29 กันยายน 2566) ทำได้ 7.60% ต่อปี และ 10.63% ต่อปี ตามลำดับ

ดังนั้น ธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพถือว่ามีความปลอดภัยในระดับที่ดี หมายความว่า เหมาะกับการลงทุนในระยะยาว เพราะสามารถสร้างผลกำไรที่ดีให้กับนักลงทุน เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามตามมาคือ ถ้าสนใจควรลงทุนธุรกิจนี้ในลักษณะไหน คำตอบคือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ

กองทุนรวมกรุงศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ - สะสมมูลค่า (KFHEALTH-A) (บลจ.กรุงศรี)

กองทุนรวมกรุงศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ – สะสมมูลค่า เป็นกองทุนฟีดเดอร์ โดยลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ JPMorganFunds - Global HealthcareFund บริหารโดย JPMorgan Asset Manangement

โดยกองทุนนี้มีนโยบายการบริหารแบบ Active Management เน้นการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ และมีการกระจายตัวไปยัง 4 หมวดธุรกิจย่อย

- ธุรกิจยา (Pharmaceutical)

- ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

- ธุรกิจเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Technology)

- ธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพ (Healthcare Service)

สำหรับผลการดำเนินงาน KFHEALTH-A โดย 1 มกราคม – 1 พฤศจิกายน 2566 ให้ผลตอบแทนรวมติดลบ 5.21% ขณะที่ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย (ต่อปี) 3 ปี และ 5 ปี ทำได้ 6.24% และ 6.40% ตามลำดับ

เหมาะกับใคร

- นักลงทุนแบบเชิงรุกในการคัดเลือกการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

- นักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศเพื่อรับรายได้จากส่วนต่างจากการลงทุน

- นักลงทุนที่ต้องการสะสมผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว (ไม่มีการจ่ายเงินปันผล)

ทำไมต้องลงทุน

1.ธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ มีความทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจหรือได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสชะลอตัว

2.มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี จากผลการดำเนินงานของกองทุนรวม

3.ธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ เป็นธุรกิจที่ดึงดูด เนื่องจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวนผู้สูงอายุ อุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จของกองทุนในระยะยาว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารกสิกรไทย, บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.กสิกรไทย, บลจ.ทิสโก้, บลจ.กรุงศรี, MSCI World Health Care Index, S&P500 Health Care Index, Morningstarthailand