มีคำถามเชิงปรัชญาคำถามหนึ่งที่โต้เถียงกันมาหลายร้อยหลายพันปีตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ว่า

โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ดีหรือเลว? ส่วนใหญ่ใจกว้างมีน้ำใจ (Generous) หรือ เห็นแก่ตัว (Selfish)?

นักบวชออกัสติน (Augustine) เสนอแนวคิดบาปกำเนิด (Original Sin) ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาด้วยความบกพร่องและเห็นแก่ตัว สามารถรอดพ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองเห็นด้วยกับความเห็นแก่ตัวในมนุษย์ แต่เชื่อว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ต้องอาศัยกฎหมายและสัญญาประชาคม ไม่ใช่พึ่งพาพระเจ้า

มีการทำแบบสำรวจในปี 2022 ในคนกว่า 22,534 คน จาก 30 ประเทศทั่วโลกพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเรารู้สึก “เชื่อใจคนอื่นเพียงแค่ 30%” เท่านั้น

เป็นตัวเลขที่มีฟังดูมีเหตุผลไม่น้อย

จากข่าวสารหรือสิ่งที่เราได้เห็น ได้ยิน ประสบกับตัวเองหรือคนรอบข้าง เป็นเรื่องปกติที่เราจะตัดสินว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว นักปรัชญา นักเขียน หรือนักเศรษฐศาสตร์มากมายบอกว่าผู้คนล้วนให้ความสนใจกับความต้องการของตัวเองก่อน (Self-Interest)

แต่เป็นไปได้ไหมว่ามุมมองนี้เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อาจจะไม่จริงซะทีเดียว? เป็นไปได้ไหมว่ามนุษย์อาจจะ ‘ใจกว้าง’ และคิดถึงคนอื่นมากกว่าที่เราคิด?

การทดลองลับ (Mystery Experiment)

ช่วงกลางปี 2020 มีคู่รักฐานะดีคู่หนึ่ง (ซึ่งไม่เปิดเผยนาม) ได้ติดต่อไปยัง TED องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ คริส แอนเดอร์สัน (Chris Anderson) ดูแลอยู่ว่าอยากจะบริจาคเงินให้กับบุคคลทั่วไปเป็นเงินราวๆ 2 ล้านเหรียญ​ หรือประมาณ 70 ล้านบาท

โดยมีข้อแม้ว่าอยากจะให้เงินก้อนนี้สร้างผลกระทบกับชีวิตของคนจริงๆ อย่างมีนัยสำคัญและขณะเดียวกันก็ต้องมีส่วนช่วยด้านศาสตร์ของธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้นด้วย

แอนเดอร์สัน จึงตัดสินใจไปร่วมมือกับนักจิตวิทยาอีกสามคน ไรอัน เจ. ดไวเออร์ (Ryan J. Dwyer), วิลเลียม เจ. เบรดี (William J. Brady) และ เอลิซาเบธ ดับเบิลยู. ดันน์ (Elizabeth W. Dunn) ออกแบบงานวิจัยหนึ่งขึ้นมา

ในเดือนธันวาคมปีนั้น แอนเดอร์สัน โพสต์ลงบนแพลตฟอร์ม X เพื่อหาคนเข้าร่วมการทดลองลับทางสังคมแบบไม่เคยมีมาก่อน (One-of-its-kind social experiment) ที่เขารู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้น แตกต่าง ใช้เวลานานนิดหน่อย แต่น่าจะเปลี่ยนชีวิตได้เลย

รายละเอียดไม่ได้บอกอะไรมาก เพียงแค่คุณต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป สื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่อง มาจากประเทศ 7 แห่งนี้ : อเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, อินโดนีเซีย, เคนยา และ บราซิล

หลังจากมีคนสมัครเข้ามา ทางทีมงานก็สุ่มคัดเลือกผู้เข้าร่วมการทดลอง 300 คนจาก 7 ประเทศดังกล่าว แล้วแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก 200 คน และกลุ่มที่สอง 100 คน

โดยทุกคนในกลุ่มแรกจะได้เงินก้อน 10,000 เหรียญ (ประมาณ 350,000 บาท)​ ไปใช้ได้ตามใจชอบเลย แต่ต้องใช้ให้หมดภายใน 3 เดือน ส่วนกลุ่มที่ 2 ไม่ได้เงินเลย

หลังจากนั้นทุกเดือน ทีมวิจัยก็จะมีการสอบถาม ให้คะแนนความสุขในชีวิตแต่ละคนว่าเป็นยังไงบ้าง

ผลการทดลอง

คงเดาได้ไม่ยากว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่จู่ๆ ได้รับเงินก้อน มีความสุขมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับเงินอยู่แล้ว หลังจากผ่านช่วงเวลาการใช้เงินตรงนั้นไป 3 เดือน ระดับความสุขที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็ยังคงอยู่

สิ่งที่น่าสนใจคือระดับรายได้ของคนที่ได้รับเงินก็เป็นปัจจัยต่อระดับความสุขที่เพิ่มขึ้นด้วย คนที่มีรายได้น้อยจะมีความสุขมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูง ซึ่งแทบจะไม่ได้มีความสุขมากขึ้นหรือบางคนไม่มีความสุขมากขึ้นเลย

แม้ผลลัพธ์ตรงนี้อาจจะไม่ได้หวือหวามา แต่มันช่วยสนับสนุนแนวคิดเรื่องการยกระดับความสุขและผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนให้กับคนที่มีรายได้น้อยด้วยการมอบเงินได้ หรือแนวคิดเรื่องรายได้พื้นฐาน (Universal Basic Income) ได้ด้วย

แล้วคนเอาเงินไปใช้กับอะไร?

หลังจากได้เงินไปแล้ว คนที่เข้าร่วมการทดลองต้องรายงานว่าเงินที่ได้เอาไปใช้กับอะไรบ้าง

ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ เพราะถ้าเราคิด/เชื่อว่ามนุษย์โดยพื้นฐานแล้วเป็นคนเห็นแก่ตัว เงินก้อนตรงนี้พวกเขาก็ต้องเอาไปใช้เพื่อซื้อของอะไรให้ตัวเองหมด จริงไหมครับ?

ผลที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างนั้นซะทีเดียว เพราะโดยเฉลี่ยแล้วคนที่ได้เงินไปจะใช้เงินประมาณ 6,400 เหรียญ (ประมาณ​ 2/3) โดยผลประโยชน์ไปตกอยู่กับคนอื่น โดยประมาณครึ่งหนึ่งใช้เพื่อคนในครอบครัว และที่เหลือถูกใช้กับคนที่ไม่ได้เป็นคนในครอบครัว (เพื่อน, คนแปลกหน้า, คนรู้จัก ฯลฯ) และบริจาคให้องค์กรการกุศลเฉลี่ย 1,700 เหรียญ

รวมๆ แล้วเงินที่ใช้กับตัวเองเพียง 1/3 เท่านั้น

คนที่ได้เงินไปเอาชวนเพื่อนไปทานข้าว ช่วยคนในครอบครัวที่สูญเสียคนที่รักไป หรือสนับสนุนองค์กรที่ฝึกอบรมความรู้ด้านการทำงานให้กับคนชายขอบเพื่อให้มีอาชีพที่มั่นคง

ดูแล้วมนุษย์เป็นคนใจกว้างไม่น้อยเลย

เราไม่ได้ ‘เห็นแก่ตัว’ อย่างที่คิด?

แต่เดี๋ยวก่อน เราอาจจะคิดว่า ‘เฮ้ย…ที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้ใช้เงินเพื่อทำให้ผลประโยชน์ตัวเองรึเปล่า?’ เหมือนไปช่วยคนอื่นเพื่อให้สถานะของตัวเองสูงขึ้นหรือได้รับการชื่นชมจากสังคม

นักวิจัยก็คาดถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยพวกเขาจะแบ่งกลุ่มคนที่ได้เงินออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งจะบอกว่าให้บันทึกค่าใช้จ่ายบนแพลตฟอร์ม X และอีกกลุ่มหนึ่งคือให้เก็บเรื่องค่าใช้จ่ายไว้กับตัวเอง

ซึ่งถ้าทำเพื่อเอาหน้า (ผลประโยชน์ของตัวเอง) คนที่โพสต์ลงโซเชียลก็อาจจะทำเยอะกว่า แต่ผลออกมาว่าทั้งสองกลุ่มนั้นใช้เงินเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่นเท่าๆ กัน ไม่มีอะไรแตกต่าง

โดยทั่วไปนักวิจัยสรุปว่า การใช้เงินกับผู้อื่นนั้นรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่า

และการศึกษาครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลออกมาแบบนี้ ช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นักสังคมวิทยาได้ออกแบบสถานการณ์ทดลองมากมาย เพื่อให้คนที่เข้าร่วมการทดลองสามารถเลือกได้ว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวก็ได้ หรือ จะใจกว้างและร่วมมือกับคนอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

ในหนังสือ “The Penguin and the Leviathan: The Triumph of Cooperation Over Self-Interest” โยชาย เบงค์เลอร์ (Yochai Benkler) นักเขียนชาวอิสราเอล - อเมริกัน ศาสตราจารย์ด้านการศึกษากฎหมายผู้ประกอบการที่ Harvard Law School ได้สรุปเอาไว้อย่างชัดเจน

ในการทดลองที่ผ่านมา คนประมาณ​ 30% จะแสดงความเห็นแก่ตัวออกมา แต่ “ประมาณครึ่งหนึ่งมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความร่วมมืออย่างเป็นระบบ มีนัยสำคัญ และคาดเดาได้”

เบงค์เลอร์ อธิบายต่อว่า “ประเด็นก็คือ ในการทดลองที่มีเยอะมากๆ ในกลุ่มคนที่หลากหลาย สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ คือ จากการศึกษาสังคมมนุษย์ในบริบทที่ควบคุมได้ พบว่าแทบไม่มีสังคมใดเลยที่คนส่วนใหญ่จะเห็นแก่ตัวตลอดเวลา”

มนุษยชาติมาถึงตรงนี้เพราะเราร่วมมือกัน

ถึงตรงนี้คุณอาจจะบอกว่า “เฮ้ยยย…สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้โลกอยู่ด้วยกฎใครดีใครได้เท่านั้นแหละ”

อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ศาสตราจารย์ที่ Wharton School of the University of Pennsylvania และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาองค์การ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “Give and Take”

เขาแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม

ผู้รับ (Takers) = คนที่เห็นแก่ตัว พยายามเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง (Self-Centered)
ผู้ให้ (Givers) = คนที่ทำเพื่อคนอื่น (Other-Centered)

สิ่งที่เขาพบก็คือว่าคนที่เป็นผู้ให้ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานที่มีผลการทำงานที่ไม่ดีนัก เพราะถูกเอาเปรียบและถูกใช้ประโยชน์จากคนที่เห็นแก่ตัวอยู่เสมอ

งั้นแสดงว่าการเป็นผู้รับจะส่งผลดีต่อหน้าที่การงานของเราใช่ไหม? ก็ไม่อีกนั่นแหละครับ

เพราะเมื่อไปดูกลุ่มที่ทำงานผลงานได้ดีมากๆ ในองค์กร สิ่งที่แกรนต์พบก็คือคนที่ทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพสูงก็เป็นผู้ให้อีกนั่นแหละ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง คนรอบข้าง มีเครือข่ายที่คอยสนับสนุน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ คนอยากทำงานด้วย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่แกรนต์แนะนำคือถ้าอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เราควรเป็น ‘ผู้ให้’ ที่รู้จักต้องรู้จักปกป้องตัวเองในบางสถานการณ์นั่นเอง

โดยธรรมชาติของมนุษย์ลึกๆ เราพร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือคนอื่น เห็นคนตกที่นั่งลำบาก เจอภัยธรรมชาติ บริจาคสิ่งของ เงินทองเท่าที่พอจะหาได้ เราต้องการเป็นที่รักของคนอื่น ไม่ใช่เพราะอยากให้เขารัก แต่ทำตัวให้มีคุณค่ามากพอที่จะได้ความรักและเคารพจากคนรอบข้าง

เพียงแต่ถามว่าสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบันทำให้การช่วยเหลือผู้อื่นหรือความเชื่อใจต่อคนอื่นๆ ยากขึ้นไหม? แน่นอนว่ายากขึ้น เราเห็นมิจฉาชีพที่หลอกเอาเงินคนอื่นเกลื่อนเมือง ภาพข่าวที่คนดีถูกเอาเปรียบ ฯลฯ กลายเป็นว่าสถานการณ์เหล่านี้ทำให้เราเชื่อใจคนอื่นน้อยลงไปด้วย

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเหตุการณ์ประตูเครื่องบิน Boeing 747 หลุดออกกลางอากาศ เป็นเหตุการณ์ที่น่าตกใจและโชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บ

เทรเวอร์ โนอาห์ (Trevor Noah) นักแสดงตลก นักเขียน และพิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวแอฟริกาใต้ แชร์ประเด็นนี้ในพอดแคสต์ของเขาว่าผู้หญิงที่นั่งตรงประตูที่หลุดออกกลางอากาศเล่าถึงตอนที่เกิดเหตุว่าผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่นั่งข้างๆ เธอร่วมใจกันดึงตัวเธอเอาไว้ไม่ให้หลุดไปเพราะแรงดันอากาศจากข้างนอก ‘ทันที’ โดยไม่ลังเลเลย

“ทุกครั้งที่เราคิดว่ามนุษยชาติเลวร้าย เรามักจะได้ข้อมูลที่ตรงกันข้ามเสมอ” โนอาห์กล่าว

มีนิทานเรื่องหนึ่งจากหนังสือ ‘Humankind’ (ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ) เล่าว่า

“ชายชราเล่าให้หลานชายฟังว่า ‘ภายในตัวปู่มีการต่อสู้ที่ไม่จบสิ้น มันเป็นการต่อสู้อันเลวร้ายระหว่างหมาป่าสองตัว ตัวหนึ่งชั่วร้าย - โกรธ อิจฉา อวดดี และขี้ขลาด อีกตัวหนึ่งดี - ใจเย็น รักใคร่ เห็นอกเห็นใจ ใจกว้าง ซื่อสัตย์ และน่าเชื่อถือ หมาป่าสองตัวนี้กำลังต่อสู้กันภายในตัวเจ้าด้วยเช่นกัน และภายในคนอื่นทุกคนด้วย’ หลังจากนั้นสักครู่ หลานชายถาม ‘แล้วหมาป่าตัวไหนชนะครับ?’ ชายชราอมยิ้มแล้วบอกว่า ‘ตัวที่เจ้าให้อาหารนั่นแหละ’”

การเห็นแก่ตัวบ้างในบางครั้งอย่างที่แกรนต์บอกก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่การใจกว้างยื่นมือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ช่วยทำให้มนุษยชาติยังคงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้สรุปว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนดี ใจกว้าง รักใคร่ คนอื่นตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันมันก็ฉายให้เห็นว่ามนุษย์ก็ไม่ได้เลวร้ายตลอดเวลาเช่นกัน

มันเป็นการต่อสู้ที่ไม่จบสิ้นของหมาป่าสองตัว สุดท้ายแล้วบางทีเราแค่ต้องเลือกว่าจะให้อาหารหมาป่าตัวไหนมากกว่ากัน