ใกล้เข้ามาแล้วกับเทศกาลยื่นภาษี เชื่อว่าตอนนี้ผู้ประกอบการหลายคนกำลังวางแผนบริหารภาษี พร้อมหาตัวช่วยการลดหย่อน เพื่อลดภาษีให้ได้มากที่สุดกันอยู่ โดย aomMONEY ขอย้ำอีกครั้งว่าต้องตรวจสอบรายละเอียดการยื่นภาษีให้ดี เพื่อไม่ให้ ‘กรมสรรพากร’ ต้องเรียกเราไปพบ และเพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์ของตัวเราเองด้วย

สำหรับผู้ประกอบการแล้ว กรมสรรพากรก็จะมีเกณฑ์การตรวจสอบภาษีที่แตกต่างจากบุคคลธรรมดา และยังมีความเข้มงวดมากกว่าด้วย มาดูกันว่า กรมสรรพากรมีวิธีไหนบ้างในการตรวจสอบรายได้ของเรา

✅ 1. ข้อมูลธุรกรรมเฉพาะที่สถาบันการเงินต้องรายงานต่อกรมสรรพากร

โดยกรมสรรพากรกำหนดให้สถาบันการเงิน ต้องรายงานบัญชีที่เข้าเกณฑ์ ดังนี้

➡️บัญชีที่มีเงินเข้าเกิน 3,000 ครั้งต่อปี
(นับเฉพาะเงินเข้า และรวมกันทุกบัญชีใน 1 ธนาคาร บัญชีร่วมก็นับรวม)

➡️บัญชีที่มีเงินเข้าเกิน 400 ครั้งต่อปี สำหรับผู้ที่มีเงินเข้าเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี
(นับเฉพาะเงินเข้า และรวมกันทุกบัญชีใน 1 ธนาคาร บัญชีร่วมก็นับรวม)

✅2. ข้อมูลจากระบบ Risk Based Audit System (RBA)

Risk Based Audit System (RBA) เป็นระบบที่สรรพากรนำมาใช้คัดกรองผู้ประกอบการและธุรกิจว่า ธุรกิจประเภทใดจัดอยู่ใน “กลุ่มที่ดี” หรือ ธุรกิจประเภทใดอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” เป็นการใช้เทคโนโลยีของสรรพากรยุค 4.0 ในการจัดเก็บภาษี โดยการนำข้อมูล IT มาใช้ในการวิเคราะห์ภาษีของแต่ละธุรกิจ ใช้ระบบในการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากข้อมูลทั้งภายในและภายนอกกรมสรรพากร ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

➡️(1) ข้อมูลการยื่นภาษีของบริษัทผ่านระบบสรรพากร
ได้แก่ ภ.ง.ด.50, ภ.พ.30, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53, ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2 เป็นต้น

➡️(2) ข้อมูลของบริษัทที่มีในบันทึกของหน่วยงานภายนอก
เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต การไฟฟ้า การประปา และข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

➡️(3) ข้อมูลของบริษัทจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังในอดีต 3-5 ปี

➡️(4) ข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดเก็บภาษีตามระบบงานของกรมสรรพากร
เช่น ระบบกำกับดูแล, ระบบวิเคราะห์และออกหมายเรียกตรวจสอบ, ระบบควบคุมการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล, ระบบคัดค้นข้อมูลรายตัว เป็นต้น

✅3. ระบบ Web Scraping

ระบบ Web Scraping เป็นระบบที่ใช้ในการดึงข้อมูลบางส่วนของเว็บไซต์ โดยเฉพาะพวก Marketing platform ต่างๆ เช่น ข้อมูลราคา และยอดขาย เพียงเท่านี้สรรพากรก็สามารถนำมาคำนวณและรู้รายได้ของธุรกิจเราได้

✅4. ระบบการให้ประชาชนแจ้งเบาะแส

ร้านค้าที่รับเงินสดอย่างเดียว โอนก็ไม่ได้ ต้องระวังให้ดีนะ จะโดนสรรพากรเข้ามาเยี่ยมร้านไม่รู้ตัว เพราะยิ่งคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับ ESG และความเท่าเทียมกันมากขึ้น อาจไม่พอใจที่พบเห็นบางคนเอาเปรียบคนอื่นด้วยการหนีภาษีอยู่ จึงทำการแจ้งกรมสรรพากรให้เข้ามาตรวจสอบก็ได้

✅5. การสุ่มตรวจ

สมัยก่อนเราอาจเคยได้ยินว่า สรรพากรไปนั่งนับชามก๋วยเตี๋ยว แต่ปัจจุบันค้าขาย online กันมากขึ้น สรรพากรก็ปรับตัวตามยุคสมัย ทำให้ต้องไปคอยสุ่มตรวจตามหน้าเว็บด้วยเช่นกัน Shopee, Lazada หรือ Tiktok ต้องมี “บัญชีพิเศษ” หมายความว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องมีบัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับได้รับจากผู้ประกอบการ

✅6. การขอข้อมูลจากผู้ประกอบการ

เนื่องจากสรรพากรเป็นหน่วยงานภาครัฐ และกฎหมายให้อำนาจสรรพากรในการขอข้อมูลจากผู้ประกอบการเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและเป็นข่าวเขย่าขวัญวันสิ้นปี คือ การให้ผู้ประกอบการ“อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม”

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เรียกได้ว่าเป็นอัปเดตใหม่ของปีนี้ คือ ‘การกําหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ’ นั่นเท่ากับว่าต่อไปนี้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่จดทะเบียนในไทย และมีหรือเคยมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท อย่าง Shopee, Lazada หรือ Tiktok ต้องจัดทำบัญชีพิเศษ เพื่อแจงรายได้ของร้านค้าบนแพลตฟอร์มตนเองต่อกรมสรรพากร

โดยกรมสรรพากรมองว่านี่จะเป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของการเก็บภาษีให้ถูกต้อง และเท่าเทียมกันทุกคนมากขึ้น ทั้งยังทำให้ช่องทางบนร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ใช้เป็นช่องทางหนีภาษีได้ยากขึ้น

ดังนั้น หากเราเป็นผู้มีเงินได้อยู่ คำแนะนำก็คือ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถ้าสรรพากรตรวจพบว่าเราละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการ จะมีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ พร้อมต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลา