จอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ (John D. Rockefeller) เคยเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่เชื่อไหมว่าคุณในตอนนี้มีสิ่งหนึ่งที่เขาไม่สามารถซื้อได้ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ประมาณ 100 ปีก่อน นั่นคือ เพนิซิลลิน (penicillin) ในยุคของเขาไม่มีสิ่งนี้ สิ่งที่ชัดเจนคือตอนนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะใด โดยรวมแล้วชีวิตเราก็ยังดีกว่าเขาในตอนนั้นอยู่ดี

แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มีเพนิซิลลินใช้กันหมดแล้ว นี่แหละคือประเด็น มนุษย์มักจะรู้สึกดีต่อเมื่อตัวเอง 'ดีกว่า' คนอื่นในวงสังคมที่ตัวเองอยู่ (ประเด็นนี้สำคัญเพราะเราจะไม่สนใจเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับกลุ่มมหาเศรษฐีเพราะวงสังคมไม่ได้ทับซ้อนกัน)

เราไม่เพียงต้องการจะร่ำรวย แต่เราอยากร่ำรวยกว่าคนรอบข้าง

มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel - ผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง ‘Psychology of Money’ [จิตวิทยาว่าด้วยเงิน]) แชร์ประเด็นนี้ไว้ในหนังสือเล่มใหม่ “Same as Ever” ว่า

“ถ้าคุณมองย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1950 แล้วถามว่า 'ความแตกต่างอะไรที่ทำให้ยุคนั้นดูดีเหลือเกิน?' คำตอบหนึ่งคือ เป็นเพราะ ช่องว่างระหว่างตัวคุณกับคนส่วนใหญ่รอบตัวคุณมีไม่มากนัก จึงทำให้มันเป็นยุคที่ความคาดหวังของคุณจะไม่สูงมาก เพราะมีน้อยคนในวงสังคมของคุณที่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าคุณมาก ๆ"

บ้านหลังเล็กให้ความรู้สึกที่ดี เพราะทุกคนก็มีบ้านหลังเล็กเหมือน ๆ กัน

การขาดการให้บริการทางการแพทย์ที่ดีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะเพื่อนบ้านของคุณก็อยู่ในสภาพเดียวกัน

การใส่เสื้อผ้ามือสองเป็นเรื่องที่รับได้ เพราะทุกคนใส่เหมือนกัน

การไปตั้งแคมป์ช่วงวันหยุดก็ถือเป็นการพักผ่อนที่ดี เพราะทุกคนทำเหมือนกัน

แต่เดี๋ยวนี้ การไปเที่ยวกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และกลายเป็นคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย ต้องตามร้านนั้น ต้องไปเที่ยวที่นี่ ร้านหรู ร้านดัง ร้านลับว่ากันไป

“มันเป็นยุคใหม่ยุคหนึ่ง ซึ่งไม่มีแรงกดดันทางสังคมที่หนักหนาจนทำให้คุณคาดหวังสิ่งที่เกินรายได้ของคุณ การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ความสุขเพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย ผู้คนไม่เพียงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พวกเขายังมีความรู้สึกที่ดีขึ้นด้วย” เฮาเซิลอธิบาย

คนเราไม่เพียงต้องการจะร่ำรวยเท่านั้น แต่เราอยากร่ำรวยกว่าคนรอบข้าง ของที่เคยเป็นของฟุ่มเฟือย เมื่อมีเพื่อนหรือคนข้างบ้านมีเหมือนกัน มันก็กลายเป็นของจำเป็นไปซะงั้น แม้โดยทั่วไปคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมานี้จะดีขึ้น แต่กลับมองเห็นได้ยาก เพราะเราไม่รู้สึกแบบนั้น

เมื่อปรับตามเงินเฟ้อแล้ว รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยในสหรัฐฯ อยู่ที่ 29,000 ดอลลาร์ในปี 1955, 42,000 ดอลลาร์ในปี 1965 และ 71,000 ดอลลาร์ในปี 2021 มีคนที่เป็นเจ้าของบ้านในปี 1950 น้อยกว่าในเวลานี้ถึง 12% และบ้านในตอนนั้นก็เล็กและไม่ได้สะดวกสบายแบบนี้

แต่ความพึงพอใจในชีวิตโดยทั่วไปในปัจจุบันกลับน้อยลง เพราะทุกคนเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เลวร้ายลงไปมากกว่าเดิม

อันที่จริงสภาพจิตใจยังหดหู่ถึงขนาดที่ในปี 2007 ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์หาคู่ [Match] บอกกับนิวยอร์กไทมส์ว่า เงิน 10 ล้านดอลลาร์ในซิลิคอนวัลลีย์แทบไม่มีค่าอะไรแล้ว

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคุณจะไม่ได้มีความสุขมากขึ้นด้วยการหารายได้หรือสมบัติมากขึ้น เพราะนั่นเท่ากับคุณยกมาตรฐานตัวเองให้สูงขึ้นไปด้วย มันเป็นอย่างนี้มาเสมอ

จัดการความคาดหวัง

แต่คุณสามารถมีความสุขได้ด้วยการจัดการความคาดหวัง ลดความคาดหวังเรื่องเงินลง วิธีที่เจ้านายปฏิบัติต่อคุณ แฟนอาจจะไม่ได้ดั่งใจทั้งหมด หรือสิ่งที่คนอื่นคิด เมื่อลดความคาดหวังลง เมื่อสถานการณ์มันดีกว่าที่คุณคิดคุณก็จะมีความสุขมากขึ้น

ร็อกกีเฟลเลอร์ไม่เคยต้องการยาแก้ปวด เพราะเขาไม่รู้ว่ามันมีอยู่

โซเชียลมีเดียในปัจจุบันได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ทุกคนบนโลกนี้ได้เห็นไลฟ์สไตล์ของผู้อื่นที่มักเกินจริง หลอกลวง หรือถูกแต่งเติม

"คุณเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นโดยดูจากฉากต่าง ๆ ของชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นมาของคนเหล่านั้น" เฮาเซิลอธิบาย “ที่ซึ่งมุมบวกถูกชูขึ้นมา และมุมลบถูกซ่อนให้พ้นจากสายตา”

นักจิตวิทยา โจนาธาน ไฮต์กล่าวว่า “สิ่งที่คนสื่อสารผ่านโซเชียล มีเดียนั้น ไม่เหมือนกับสิ่งที่คนจะสื่อสารเวลาพบหน้ากันจริง ๆ คุณเห็นรถยนต์ที่ผู้อื่นขับ บ้านที่ผู้อื่นอยู่ และโรงเรียนแพง ๆ ที่ผู้อื่นไปเรียนความเป็นไปได้ในการพูดว่า ฉันอยากได้สิ่งนี้ ทำไมฉันถึงจะมีไม่ได้ล่ะ? ทำไมเขามีแต่ฉันไม่มีล่ะ? มีเพิ่มขึ้นจากคนไม่กี่รุ่นก่อนมาก”

ในปี 1998 Sara J. Solnick (ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์) และ David Hemenway (ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสุขภาพ โรงเรียนสาธารณสุขฮาร์วาร์ดบอสตัน) ได้ทำแบบสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยใช้คำถามด้านล่างถามผู้เข้าร่วมการศึกษาประมาณ 257 คน

ถ้าให้เลือกระหว่าง

A : มีรายได้ปีละ 1.75 ล้านบาท โดยที่คนอื่นๆ มีรายได้ปีละ 875,000 บาท
B : มีรายได้ปีละ 3.5 ล้านบาท โดยที่คนอื่นๆ มีรายได้ปีละ 8.75 ล้านบาท

โดยในเหตุการณ์สมมุติทั้งสองสินค้าและบริการทุกอย่างมีราคาเท่ากัน

ซึ่งถ้าให้คิดตามหลักและเหตุผลแล้ว ‘B’ คือคำตอบที่คนควรเลือก เพราะได้เงินเยอะกว่าถึง 2 เท่าจริงไหมครับ?

คนอื่นได้เงินเยอะแค่ไหน ก็ไม่ควรมากระทบกับการตัดสินใจของเรา แม้คนอื่นจะหาเงินได้มากแค่ไหน ทางเลือก ‘B’ เราก็ยังได้เงินมากกว่าเดิมอยู่ดี

ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ 50% เลือก ‘A’ ได้เงินน้อยกว่าตราบใดที่เงินตรงนั้นมากกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น

คำกล่าวที่บอกว่า “คนรวยคือคนที่มีรายได้มากกว่าสามีของน้องสาวของภรรยาของเขา 100 เหรียญ” ของ Henry Louis Mencken (นักข่าวชาวอเมริกัน) คงจะเป็นจริงไม่น้อย

เมื่อ ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) ตำนานนักลงทุนเน้นคุณค่าถูกถามในวัย 98 ปีว่า "ดูเหมือนคุณมีความสุขและความพอใจอย่างล้นเหลือ แล้วเคล็ดลับในการมีชีวิตที่มีความสุขของคุณคืออะไร?"

เขาตอบว่า “กฎข้อแรกของชีวิตที่มีความสุขคือ คาดหวังให้น้อย ถ้าคุณมีความคาดหวังที่เหนือจริง คุณก็จะไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต คุณต้องมีความคาดหวังที่เป็นเหตุเป็นผล และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งดีและร้าย ตามความเป็นจริงของมันโดยไม่ใช้อารมณ์”

บทเรียนนี้ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เราต้องการเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ รึเปล่า? หรือเรากำลังพยายามจะเติมเต็มความคาดหวังว่า ‘เราจะต้องมี’ เหมือนคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ต้องการมันจริงๆ กันแน่?