เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ด้วยเหตุผลสนับสนุน ดังนี้

💰เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าภาคการส่งออก และการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ราว 2.4% ในปี 2023 นี้ และ 3.2% ในปี 2024 โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล(Digital Wallet) อัตราการขยายตัวในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ลดลงจาก 4.4% ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนจากวงเงินที่ลดลงและการเลื่อนระยะเวลาเริ่มโครงการ

💰เงินเฟ้อยังมี และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และปัจจัยชั่วคราวโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน และราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาด โดยในปี 2023 นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% และ 1.2% ในปี 2024 โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล(Digital Wallet) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2024 จะอยู่ที่ 2.2% ลดลงจาก 2.6% จากประมาณการครั้งก่อน

ทำให้เห็นได้ว่าแม้ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่โดยรวมแล้วมีเสถียรภาพ และยังอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถคงไว้เท่าเดิมต่อไปได้

🏦มุมมองจาก SCB EIC

ทาง SCB EIC คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงไว้ที่ 2.5% ไปจนจบปี 2024 เพราะมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral Rates) และช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อย่างต่อเนื่อง

และสำหรับโครงการ Digital Wallet ทาง SCB EIC มองว่าอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ให้ขยายตัวสูงกว่าระดับศักยภาพ และลดเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ลง แต่จะเป็นผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในระดับศักยภาพอีกครั้งในภายหลัง

💰มุมมองการคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

➡️เศรษฐกิจไทย

ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ แต่ช้า อยู่ที่ 2.6% ในปี 2023 และ 3.0 ในปี 2024 นอกจากนี้ทาง SCB EIC ยังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเช่นกัน เป็น 3% จากประมาณการเดิน 3.5%

➡️เศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลกในปี 2023 คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ชะลอลงจาก 3% ในปีก่อนและมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% ในปี 2024 แต่ต้องเผชิญปัจจัยกดดันหลายด้าน เช่น ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และสภาพคล่องโลกที่เริ่มตึงตัวขึ้น

อย่างไรก็ดี ในตอนนี้ตลาดแรงงานทั่วโลกที่มีความยืดหยุ่นสูง การค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น และห่วงโซ่อุปทานโลกที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2024

โดย SCB EIC มองว่า สหรัฐ อังกฤษ และยุโรปจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันไปจนถึงกลางปี 2024 ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในแรงอิทธิพลที่ทำให้ทางกนง. ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะยังอยู่สูงกว่าระดับ Neutral Rate เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่ 2% ตลอดปี 2024 โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศหลักจะทยอยปรับลดลงเข้าสู่ Neutral Rate ได้ในช่วงปี 2025