ด้วยการดิสรัปชันของเทคโนโลยียุคดิจิทัล เรามักได้ยินว่า “สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายลงเรื่อยๆ” เพราะคนเลือกอ่านหนังสือน้อยลงแล้วหันไปติดโซเชียลมีเดีย หรืออ่านหนังสือบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาเราจึงเห็นสำนักพิมพ์ หรือนิตยสารหลายเล่มต้องปิดตัวไปอย่างต่อเนื่อง

แต่สำหรับ ‘ขายหัวเราะ’ ความฮาเล่มละหลักสิบบาท ที่ไม่หวั่นแม้ยุคแห่งหนังสือแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่เดินหน้าปรับตัว สร้างโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ วันนี้ aomMONEY จึงอยากชวนมาถอดบทเรียนการปรับตัวของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ว่าแม้จะถูกดิสรัปโดยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่การปรับตัว และเดินให้ถูกจังหวะ ก็สามารถพาธุรกิจสิ่งพิมพ์ไปรอดได้ในยุคนี้

📺 ก้าวต่อไปของวิธิตากรุ๊ป กับการเป็นแบรนด์ Creative Content ไม่ใช่แค่ ‘ธุรกิจสิ่งพิมพ์’

“ขายหัวเราะไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์ แต่เป็นแบรนด์ เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่ในหนังสือ มันสามารถอยู่บนเสื้อก็ได้ อาหารก็ได้ ได้ทุกช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์” - พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหารวิธิตา กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์กับ BTimes

จุดเริ่มต้นของหนังสือการ์ตูน ‘ขายหัวเราะ’ มาจากสำนักพิมพ์ บันลือสาร ก่อตั้งโดย บันลือ อุตสาหวิจิต เมื่อปี 2498 โดย ขายหัวเราะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และประสบความสำเร็จตั้งแต่เล่มแรก ก่อนจะไม้ต่อให้ วิธิต อุตสาหจิต หรือ บก. วิธิต (บก. วิติ๊ด) และเพิ่มหนังสือการ์ตูนเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้น จนบก. วิธิต ได้รับฉายาว่าเป็นราชาแห่งการ์ตูนไทย และสำนักพิมพ์ บันลือ เองก็มียอดผู้อ่านการ์ตูนสูงที่สุดในไทยด้วย

ปัจจุบัน บันลือ กรุ๊ป ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิธิตา กรุ๊ป และได้หัวเรือใหญ่คนใหม่ เป็นคุณ พิมพ์พิชา อุตสาหจิต โดยมีภารกิจในการพาวิธิตา กรุ๊ป ฝ่าวิกฤตสื่อไปให้ได้ คุณพิมพ์พิชาจึงปรับกลยุทธ์แบรนด์ใหม่ โดยไม่ยึดติดกับการเป็นหนังสือการ์ตูนเพียงอย่างเดียว แต่ขยายอาณาจัการไปสู่โอกาสใหม่ๆ โดยใช้จุดแข็งในการออกแบบคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน มาสร้างเป็นกลยุทธ์ด้านอนิเมชันครีเอทิฟ และคาแรกเตอร์ดีไซน์ เพื่อสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ร่วมกับพาร์ตเนอร์มากมาย

“การ์ตูน และอารมณ์ขัน เป็นสองแฟกเตอร์ที่เรียกได้ว่าเฟรนด์ลี่กับทุกคน”

ปัจจุบัน เครือวิธิตา กรุ๊ป เดินหน้ามาแล้วกว่า 69 ปี ขยายอาณาจักรออกไปครอบคลุมสื่อคอนเทนต์ทุกรูปแบบ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ผ่านหลากหลายแบรนด์ เช่น

💡 บันลือ พับลิเคชันส์: หนังสือการ์ตูน เช่น ขายหัวเราะ หนูหิ่น ปังปอนด์ และหนังสือแบรนด์ แซลมอนบุ๊คส์ บันบุคส์ และบันลือบุ๊คส์ รวมถึง เพจ The MATTER และ M.O.M

💡 วิธิตาแอนิเมชั่น: พัฒนาตัวละคร และอุตสาหกรรมแอนิเมชัน โดยชูจุดแข็งในการออกแบบตัวละคร และคาแรกเตอร์ให้เหมาะกับคอนเทนต์ และพาร์ตเนอร์

💡 Salmon House: ผลิตภาพเคลื่อนไหว ทั้งภาพยนตร์ และวิดีโอบนแพลตฟอร์มออนไลน์

💡 Minimore: แพลตฟอร์มเนื้อหาออนไลน์ เช่น บทความ หรือบล็อกส่วนตัว

💡 PIXNIQ: ตลาดครบวงจรแห่งแรกสำหรับช่างภาพ

💡 EVENTURE: แพลตฟอร์มแชร์เนื้อหาอีเวนต์สนุกๆ

💡 INTEGRATED INSIGHTS: เครื่องมือการตลาดสำหรับแบรนด์ธุรกิจ

🤖 หนีจากวิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์มาได้ แต่มาเจอ AI ที่ทั้งเขียน ทั้งวาด ทีนี้จะรับมืออย่างไร?

มาถึงวันนี้ ทุกคนก็น่าจะคุ้นหู และรู้จักเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กันแล้ว เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปทุกวงการ และทุกสายอาชีพเลยทีเดียว ไม่เว้นแม่แต่วงการคอนเทนต์ และกราฟิก ซึ่งแน่นอนว่า วิธิตา กรุ๊ปเองก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน

โดยคุณพิมพ์พิชา ได้ให้สัมภาษณ์กับ BTimes ว่า ขายหัวเราะนั้นเคยฝ่าการดิสรัปของสื่อสิ่งพิมพ์มาแล้ว ทำให้มีภูมิคุ้มกันอยู่ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่พ้นได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่ในเมื่อเราฝ่ากระแสโลกไม่ได้ โจทย์คือทำอย่างไรจะสามารถสร้างโอกาสจาก AI ได้

แม้ AI จะมีความสามารถมากมาย แต่สุดท้ายคนที่กำหนดทิศทาง AI ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ จึงยังไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังมีโอกาส และศักยภาพใหม่ๆ ที่จะนำ AI เข้ามาช่วยพาไปให้ถึง โดยคุณพิมพ์พิชา ยกตัวอย่างเรื่องกำแพงภาษา เพราะความเป็นมุขตลก บางครั้งก็จะจำกัดโดยภาษา เช่น คนไทยเข้าใจ แต่คนต่างประเทศอาจจะไม่เก็ต ในส่วนนี้ AI จะช่วยแปลงเป็นภาษาที่ทุกคนสามารถเข้าใจ และสร้างเสียงหัวเราะร่วมกันได้

💰 รายได้แบรนด์ในเครือ ‘วิธิตา กรุ๊ป’

➡️ บริษัท บันลือ พับลิเคชันส์ จำกัด: ปี 2565 รายได้ 87.5 ล้านบาท กำไร 2.7 ล้านบาท
➡️ บริษัท แซลมอนเฮ้าส์ จำกัด: ปี 2565 รายได้ 110.5 ล้านบาท กำไร 3.6 ล้านบาท
➡️ บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด: ปี 2565 รายได้ 15.5 ล้านบาท ขาดทุน 2.9 ล้านบาท

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นี่คือตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจที่ aomMONEY นำมาฝากทุกคนกัน จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ที่หลายคนลงเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ยังไงก็ไม่รอด’ แต่หนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ และเครือวิธิตา กรุ๊ป ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ธุรกิจจะอยู่รอดได้ในทุกยุคสมัย เพียงแค่ต้องปรับตัวให้เป็น เอาตัวรอดให้ถูกสถานการณ์ มองหาโอกาสให้เจอแม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤต ไม่แน่ว่าอาจจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสก็ได้

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช