‘ทำงานด้วยความกังวล จะถูกเลิกจ้างวันไหนก็ไม่รู้ แล้วจะทำงานให้ดีได้ยังไง?’

ท่ามกลางกระแสการเลิกจ้างของบริษัทเกมชั้นนำระดับโลก เช่น Microsoft และ Riot Game ไม่ว่าจะเพื่อหันไปโฟกัสยังส่วนที่ทำเงินได้ให้มากขึ้น หรือลดค้าใช้จ่ายลงเพื่อสู้กับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ล้วนชวนให้แฟนเกมบางคนระลึกถึง ‘ซาโตรุ อิวาตะ’ CEO Nintendo ผู้ลดเงินเดือนของตัวเองลง แทนที่จะเลิกจ้างพนักงาน

“การลดจำนวนพนักงานลง แน่นอนว่าจะทำให้บริษัทมีเงินมากขึ้น แต่มันแค่ระยะสั้นเท่านั้น เพราะขวัญกำลังใจของพนักงานจะลดลง แล้วพนักงานที่เอาแต่กังวลว่าตัวเองจะถูกเลิกจ้างคนไหนบ้างล่ะ ที่จะสามารถสร้างซอฟต์แวร์เพื่อสร้างความประทับใจให้คนทั้งโลกได้” - ‘ซาโตรุ อิวาตะ’ อดีต CEO Nintendo เข้ารับตำแหน่งในปี 2002 และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2015

📉 ย้อนรอยความผิดพลาดทางการตลาดของ Wii U ต้นเหตุวิกฤตของ Nintendo

ในปี 2013 Nintendo เปิดตัวคอนโซลเกมรุ่นใหม่ ในชื่อ Wii U ที่เป็นรุ่นอัปเกรดของ Wii ที่โด่งดัง แต่แม้ Wii U จะได้รับคำชื่นชมมากมาย แต่สุดท้าย Nintendo ต้องขาดทุนอยู่หลายปี เพราะทำการตลาดเครื่อง Wii U ได้ไม่ดีพอ

เพื่อเยียวยาวิกฤตครั้งนี้ ซาโตรุ อิวาตะ ได้ลดเงินเดือนของตัวเองลง 50% และคณะกรรมการบริหารจะลดเงินเดือนของตนลงราว 20-30% เช่นกัน

“ผมทราบดีว่าการตระหนักถึงผลกำไรเป็นความรับผิดชอบของผมในฐานะส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร” อิวาตะกล่าว

🎮Nintendo Switch เปิดตัวในฐานะ ‘ฮีโร่’ ของ Nintendo

ปี 2017 คือปีแห่งการเปิดตัวของ Nintendo Switch เครื่องเล่นเกมที่โด่งดัง และได้รับความนิยมจากฟังก์ชันการเล่นเกมที่ครบครัน ไม่ว่าจะเล่นคนเดียว (Single Player) หรือเล่นหลายคน (Multi Player) ทั้งยังรองรับอุปกรณ์เสริมหลายชนิด และระบบออนไลน์ โดยนับจากวันเปิดตัวจนถึงเดือนธันวาคมของปี 2023 Nintendo Switch มียอดขายกว่า 139 ล้านเครื่อง นับเป็นฮีโร่ที่ช่วยดึงสถานการณ์ของบริษัทให้กลับมาอยู่ในจุดที่ดีขึ้น

แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพนักงานถูกเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้

“แน่นอนว่า เราควรลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการทำธุรกิจ ซึ่งตอนนี้หลายบริษัทกำลังเลิกจ้างพนักงานจำนวนหนึ่ง เพื่อลดต้นทุนที่ว่า แต่พนักงานที่ Nintendo มีส่วนสำคัญอย่างมากในหน้าที่ของตนเอง ผมจึงมองว่าการเลิกจ้างพนังานกลุ่มหนึ่งจะไม่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของ Nintendo ในระยะยาว” อิวาตะกล่าว

Rohan Verma โค้ชเชิงกลยุทธ์การบริหารมองว่าการตัดสินใจของอิวาตะ อาจได้รับอิทธิพลมาจาก ‘วัฒนธรรมญี่ปุ่น’ ด้วย โดยปกติแล้ว เมื่อระดับผู้บริหารของบริษัททำผลงานได้ไม่ดีจนกระทบกับภาพรวมขององค์กร สิ่งที่พวกเขาจะทำคือการ ‘รักษาหน้าของตัวเอง’ ด้วยการลดค่าจ้าง หรือเลิกจ้างพนักงานแทน เพื่อกอบกู้วิกฤตระยะสั้น

แต่วัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมนั้นสอนให้ไตร่ตรองถึงความผิดพลาดของตนเอง และขอโทษอย่างเหมาะสม เพื่อวางแผนป้องกันในอนาคต การลดเงินเดือนของอิวาตะจึงอาจเป็นสิ่งที่เขามองว่าคือ ‘การขอโทษอย่างเหมาะสม’ เพราะหากมองกันให้ดี การลดเงินเดือนของคนไม่กี่คนคงไม่พอจะกอบกู้บริษัทไว้ได้ แต่สิ่งที่ได้แน่ๆ คือขวัญกำลังใจของพนักงานจนสามารถสร้าง Nintendo Switch ขึ้นมาจนสำเร็จได้

เขียน: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช