หลายคนน่าจะพอรู้ดีว่า ถ้าอยาก “รวย” มีทางเลือกหลักๆ อยู่ 2 ทาง คือ

💵 (1) ทำงานให้หนัก เพื่อสร้าง Active Income

💵 (2) ลงทุนให้มาก เพื่อสร้าง Passive Income

แต่การมีรายได้ที่มาก ก็ไม่ได้การันตีว่าความรวยจะเกิดขึ้นกับเราได้ทันที

เพราะความรวย ไม่ได้เกิดจากมูลค่าของ “รายได้” แต่เกิดจากมูลค่าของ “เงินเก็บ”

สิ่งนี้เป็นที่รู้กันดี และถูกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในกลุ่มของคนที่มีอาการ “Money Dysmorphia” หรือ คนที่เน้นเก็บเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนเกิดเป็นความเครียดและความวิตกกังวลในใจอยู่ตลอดเวลา

ลักษณะเด่นของคนกลุ่มนี้คือ มักจะมีการโฟกัสไปที่ “อนาคต” และมักจะหลงลืมความสุข “ปัจจุบัน” ไป

กล่าวคือ คนกลุ่มนี้ต้องการมีเงินเก็บให้ได้เยอะๆ ต้องสะสมความมั่งคั่งให้ได้มากที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตในวันข้างหน้า ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องที่ดีและน่าทำตาม ถ้าไม่ใช่เพราะว่า การทำเพื่อความสุขในอนาคตนั้น กลับมาเบียดบังความสุขในปัจจุบันจนเกินไป ซ้ำร้าย หากปล่อยให้อาการนี้อยู่กับเราไปเรื่อยๆ เราอาจกลายเป็นคนที่หาความสุขและสมดุลของชีวิตไม่ได้เลย

⛔️ อาการของ Money Dysmorphia เป็นอย่างไร สรุปให้ 4 ข้อ ดังนี้

➡️ 1. รู้สึกว่า “มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ”

คนที่อยู่ในภาวะ Money Dysmorphia มักรู้สึกว่า “ต้องมีเงินให้มากกว่านี้” ดังนั้น สิ่งที่คนกลุ่มนี้ทำ คือ การพยายาม “เพิ่มรายได้” ให้มากเข้าไว้ และ “ลดรายจ่าย” ให้น้อยที่สุด ด้วยการเลือกที่จะไม่จ่ายเงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย หรือบางคน แม้เป็นสิ่งที่จำเป็น ก็พยายามลดคุณภาพลง เพื่อให้มีรายจ่ายน้อยที่สุด จะได้เหลือเงินเก็บเยอะๆ

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าพฤติกรรมนี้ไม่มีทีท่าจะเบาลง แม้จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำร้าย มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

โดยที่สาเหตุส่วนหนึ่งของอาการนี้ อาจมาจากการ “มีเป้าหมายทางการเงินที่ไม่ชัดเจน” ผสมอยู่ด้วย เพราะการมีเป้าหมายไม่ชัดเจน หรือไม่มีเป้าหมายเลย ส่งผลให้ไม่รู้ว่า จำนวนเงินที่สมเหตุสมผลที่เราควรจะมีนั้น เป็นมูลค่าเท่าไหร่กันแน่

➡️ 2. รู้สึกว่า “ยอมไม่ได้ ที่คนอื่นมีเงินมากกว่า”

การเปรียบเทียบ เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่อย่าลืมความจริงที่ว่า “มนุษย์ทุกคนไม่เหมือนกัน” อย่างกรณีของมนุษย์ที่เป็นฝาแฝดกัน ความแตกต่างก็ยังสามารถพบเห็นได้

ดังนั้น การนำความมั่งคั่งของเรา ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ที่มีความั่งคั่งมากกว่า จะส่งผลให้ทำให้เรากดดันมากเกินไป จนสร้างเป็นความเครียดเพิ่มมากขึ้น

แต่ต้องบอกว่า ดูคนอื่นเพื่อเป็นบทเรียนหรือเป็นแรงบันดาลใจนั้น สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องนำมาดูว่า เรามีอะไรที่ต้องปรับปรุงหรือพัฒนาต่อได้บ้าง ตามปัจจัยที่เรามี

➡️ 3. รู้สึก “เครียดเมื่อนึกถึงเรื่องเงิน”

กล่าวคือ บางเวลาที่สมองได้คิดถึงเรื่องเงินขึ้นมา เราจะรู้สึกเศร้า รู้สึกกังวล หรือรู้สึกเครียดขึ้นมาทันที ไม่รู้จะหาทางออกยังไง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เงินที่เรามีอยู่ไม่รู้ว่าจะช่วยให้เราและครอบครัวผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้หรือไม่

สิ่งนี้เป็นผลมาจาก การประเมินความเสี่ยงของเหตุการณ์หรือความไม่แน่แน่นอนในชีวิตที่สูงเกินไป หรือการมองโลกหรือสิ่งต่างๆ ในแง่ร้ายจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงโอกาสที่สามามรถเกิดเหตุกาณ์เลวร้ายนั้นได้จริงๆ ทำให้รู้สึกวิตกต่อเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

➡️ 4. รู้สึก “ไม่อยากกลับเป็นเหมือนอดีต”

สุดท้าย บางคนอาจมีอาการรู้สึกวิตกกังวล เพราะมีประสบการณ์ด้านการเงินที่ไม่ดีในอดีต เช่น เคยฐานะทางการเงินไม่ดี ใช้ชีวิตลำบากมาก่อน วันหนึ่งพอสามารถสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้ก็กลัวว่า หากทำอะไรผิดพลาดไป ก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการที่เรายึดติดกับอตีตมาจนเกินไป ซึ่งการใช้อดีตเพื่อมาเป็นบทเรียนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่การใช้อดีตเพื่อมาสร้างแรงกดดันหรือความเครียด ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

✅ วิธีแก้ไขต้องใช้หลักการ Wealth Life Balance

ควรมีการถ่วงน้ำหนักระหว่างความสุขใน “อนาคต” กับ ความสุขใน “ปัจจุบัน” ให้พอดีกัน โดยใช้ความทุกข์ใน “อดีต” เป็นบทเรียนสอนใจ

กล่าวคือ ไม่ว่าคุณจะมีอาการของ Money Dysmorphia หรือไม่ หากอยากประสบความสำเร็จทางด้านการเงินแบบไม่เครียด ควรตั้งเป้าหมายทางการเงินให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะต้องเตรียมเงินหรือจัดสรรเงินสำหรับวันนี้และอนคตเท่าไหร่

โดยที่ต้องประเมินสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตตามความเป็นจริง ไม่มองโรคในแง่ร้ายจนเกินไป ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า เราทุกคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ควรเอาตัวเองไปเทียบกับใครจนเกินไป พยายามอยู่บนเส้นทางการเงินของตัวเอง แต่ใช้เรื่องราวผู้อื่นเป็นแรงบันดาลใจได้ และสุดท้าย ต้องยอมรับในตัวเอง ยอมรับสิ่งที่เคยเป็นมา ยอมรับว่า “อดีต” ก็คือบทเรียน และอตีตไม่ใช่แรงกดดัน

สุดท้ายแล้ว ต้องบอกว่า “น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี” ต้องทำให้เหมาะสม ดังนั้น สิ่งที่ยากที่สุดในเรื่องนี้คือ เรื่องของความเหมาะสมที่แต่ละคนต้องไปหาคำตอบดูว่า เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม เท่าไหร่คือพอดี เท่าไหร่คือจุดที่เรามีความสุขสำหรับเรากันแน่

เขียนโดย: วัฒนา มะสันเทียะ
ภาพ: ปัทมาภรณ์ รอดดารา