Ohitorisama Movement คืออะไร

ในปัจจุบันนี้ การทำอะไรคนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ถึงขั้นว่าในญี่ปุ่นเทรนด์นี้มีชื่อเรียกเลยว่า “Ohitorisama Movement”

คำว่า ‘Ohitorisama’ Hitori (ฮิโตริ) มีความหมายว่า “คนเดียว” และ Sama มีความหมายว่า คุณ หรือ ท่าน (คำเรียกผู้อื่นอย่างสุภาพ) พอมารวมกันเป็นคำว่า Ohitorisama (おひとりさま) จึงมีความหมายตรงตัวได้ประมาณว่า “คุณคนที่อยู่คนเดียว”

สื่อถึงการออกไปเฉลิมฉลองด้วยตัวคนเดียว คำนี้ก็เริ่มกลายเป็นเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย อย่างในอินสตาแกรม ถ้าเราค้นหาคำนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นว่า おひとりさま เราก็จะเจอกับรูปที่ผู้คนมากมายเอามื้ออาหารที่พวกเขากินคนเดียวมาแชร์กันอย่างสนุกสนาน

เทรนด์การใช้ชีวิตตัวคนเดียว แบบ "Super Solo"

ข้อมูลชุดใหม่จากการสำรวจสำมะโนประชากรในหลายประเทศและฐานข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในปี 2023 มีประชากรกว่า 2,120 ล้านคนจากทั่วโลกที่ครองตัวเป็นโสด หรือประมาณ 1/4 ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว

เพิ่มขึ้นจาก 23% ในปี 1985 และคาดว่าจะเติบโตไปเป็น 35% ในปี 2050 อีกด้วย

โดยเหตุผลที่คนเลือกที่จะครองตัวเป็นโสดมีหลากหลายเหตุผลด้วยกัน

- การขยายตัวของสังคมเมือง ทำให้วิถีชีวิตที่วุ่นวายเร่งรีบ

- มุมมองเกี่ยวกับโลกและสังคมเปลี่ยนไป

- ความไม่พร้อมในการมีครอบครัว

- เศรษฐกิจที่ยังรุมเร้า ภาระทางการเงิน

- วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับตนเอง (Individualization)

- มุ่งมั่นในการทำงาน

- ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

- ไม่อยากสร้างภาระในชีวิตเพิ่ม

- ไม่อยากเป็นแม่บ้านหรือภรรยา ที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่เลี้ยงดูบุตร ผู้สูงอายุและสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว (โดยเฉพาะในญี่ปุ่น)

- ไม่ได้มองว่าการแต่งงานคือหลักประกันความมั่นคงในชีวิตหรือบรรทัดฐานในการใช้ชีวิตอีกต่อไป

เมื่อก่อนเราอาจจะคุ้นชินภาพของสังคมแบบกลุ่มญี่ปุ่นที่ทำอะไรเป็นทีม กลุ่มก้อนเพื่อนสนิทหรือคู่รัก แต่ในปัจจุบันสังคมในหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นด้วย มีคนเลือกโสดมากขึ้นด้วยหลากเหตุผลดังที่กล่าวไป จึงมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาไปกับกิจกรรมลำพังมากขึ้น

Ohitorisama เองก็เป็นหนึ่งในเทรนด์นี้ ไม่ว่าจะเป็น การรับออกไปประทานอาหารคนเดียว ดื่มที่บาร์คนเดียว และการเข้าร่วมทำกิจกรรมตามลำพัง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของเทรนด์นี้ก็คือการรับรู้ที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับการทำสิ่งต่างๆ ตามลำพัง สมัยก่อนสังคมโดยรวมอาจจะมองว่าการกินหรือออกไปข้างนอกคนเดียวถือเป็นเรื่องน่าอายหรือผิดปกติ แต่ในปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นเปิดรับแนวคิดเรื่อง “กิจกรรมเดี่ยว” มากขึ้นและมองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นวิธีหนึ่งในการเพลิดเพลินไปกับการอยู่ร่วมกับตนเอง

การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนที่อยู่ลำพัง กลายเป็น ‘ส่วนตัว’

ในเกาหลีใต้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ฮนบัพ’ (Honbap) หรือการนั่งทานข้าวคนเดียว ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยม จึงมีการปรับเมนให้เหมาะสำหรับทานคนเดียวได้ ขนาดจานอาจจะเล็กลง พออิ่ม ราคาไม่แพง

เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ธุรกิจต่างๆ กำลังปรับตัวเข้ากับเทรนด์นี้ ตัวอย่างเช่น ร้านคาราโอเกะและร้านอาหารพวกปิ้งย่างหรือชาบูที่จัดเพื่อนั่งทานคนเดียว กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (ในไทยเองก็เริ่มมีให้เห็นบ้างเช่นกัน)

ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้รู้สึกสะดวกสบายมากขึ้นในการใช้เวลาตามลำพัง และวัฒนธรรม "Super Solo" ของญี่ปุ่นยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งการอยู่คนเดียวไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งแย่ คนนั้นไม่มีเพื่อนคบ แต่เป็นโอกาสในการดูแลตัวเองและความสุขส่วนตัว

คนรุ่นไหนก็มีเวลาแบบ Ohitorisama ได้

ไม่ใช่แค่กลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวเท่านั้น เทรนด์นี้ครอบคลุมไปถึงประชากรสูงวัยที่มีอายุที่ยืนยาวก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมแบบโซโลฉายเดี่ยวเช่นกัน

เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มองข้ามไม่ได้ เพราะมีเงินเก็บมาแล้วในระดับหนึ่ง บางคนร่ำรวยและพร้อมนำมาใช้จ่าย ข้อมูลประชากรชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนเดี่ยว ยิ่งทำให้มีผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับคนเดียวเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 40 ภายในปี 2040

ในแถบประเทศเอเชีย ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดสูงสุด และอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก อยู่ที่ราว 15.5% ของประชากรทั้งประเทศ

การสำรวจของประเทศญี่ปุ่นเมื่อกลางปี 2022 ยังพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรวัย 30-40 ไม่มีความคิดที่อยากจะแต่งงานด้วยซ้ำ

นอกจากนั้นยังไม่พอหลังปี 2020 เป็นต้นมา อัตราหย่าร้างคนญี่ปุ่นสูงถึง 1 ใน3 ของคู่แต่งงานทั้งหมด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่คนเดียว ยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เทรนด์การใช้ชีวิตคนเดียวได้รับความนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย คนที่จะเข้าถึงเทรนด์ “Ohitorisama Movement” จึงเป็นใครก็ได้ ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนโสด คนที่หย่าร้าง รวมถึงคนที่รักอิสระและมีโลกส่วนตัวสูง และผู้สูงวัยอีกด้วย

ธุรกิจไม่สามารถละเลยกำลังซื้อของคนโสดได้อีกต่อไป

เหตุเพราะครัวเรือนเดี่ยวเพิ่มขึ้น และคนที่หย่าร้าง กลายมาเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อทางเศรษฐกิจ นักวิจัยของ Hakuhodo หนึ่งในบริษัทโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นบอกว่า “กำลังซื้อของคนโสดไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป ไม่มีประโยชน์ที่จะมุ่งเน้นธุรกิจเพื่อครอบครัวเท่านั้น” และอันที่จริงครอบครัวเดี่ยว (single-households) เป็นประเภทครัวเรือนที่เติบโตเร็วสุดในญี่ปุ่น

แบรนด์จำนวนมากให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ขึ้นมาสำหรับผู้ใช้ที่อาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น เช่น หม้อหุงข้าวและตู้เย็นขนาดเล็ก เพิ่มความสะดวกและการใช้งานที่เหมาะสม

อุตสาหกรรมบริการและความบันเทิงก็เช่น พวกเขาต้องเพิ่มกำลังเพื่อรองรับประชากรกลุ่มนี้ อย่างคาราโอเกะสำหรับคนเดียว บริษัท SEGA เป็นธุรกิจแรกที่นำเสนอห้องคาราโอเกะสำหรับ 1 คน บริการนี้เติบโตอย่างรวดเร็วจากตลาด Ohitorisama ที่โตขึ้น 30-40% สถาบันวิจัยยาโนะระบุว่าในปี 2018 คาราโอเกะสำหรับคนเดียวเติบโตถึง 21.6% หรือเป็นเงิน 45,000 ล้านเยน

ในปีเดียวกัน ตลาดการรับประทานอาหารเดี่ยวเพิ่มขึ้น 3.6% เป็นเงิน 7,913 ล้านเยน และอาหารพร้อมรับประทานสำหรับคนเดียวก็เพิ่มขึ้น 2.8% หรือเป็นเงิน 7,400 ล้านเยน โรงหนังหลายแห่งในเครือ TOHO Cinemas มีที่นั่งส่วนตัวที่เรียกว่า Premier Box Seats เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มาดูหนังคนเดียวได้รับประสบการณ์ดูภาพยนตร์ที่ดีที่สุด

ธุรกิจท่องเที่ยวคนเดียวก็กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัททัวร์ได้จัดเตรียมโปรแกรมสำหรับการเที่ยวคนเดียวเพิ่มขึ้น โดยบริษัท Hankyu Travel International มีโปรแกรมสำหรับคนโสดหลากหลาย

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นก็ยังได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเพิ่มขึ้นของประชากรซูเปอร์โซโล เพราะที่พักที่มีพื้นที่ขนาดเล็กเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้จะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและใกล้สถานีรถไฟ

แต่มนุษย์ก็ยังเป็นสัตว์สังคม

แม้การใช้ชีวิตคนเดียวแบบนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ในด้านการใช้ชีวิตคนเดียวก็ได้ทำให้เกิดตลาดใหม่ที่น่าสนใจขึ้นมา

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามนุษย์ก็ยังเป็นสัตว์สังคม และบางช่วงจังหวะก็โหยหาการสัมผัสอารมณ์และความใกล้ชิดจากคนอื่นๆ ซึ่งการอยู่คนเดียวทำให้เป็นสิ่งที่ยากสำหรับบางคนที่จะหาได้ ก่อให้เกิดเป็นธุรกิจจำนวนจากแนวคิด ‘การค้าทางอารมณ์’ (Emotional Commercialization) เช่น Cafe Hugs หรือคาเฟ่กอด ที่ให้บริการกับคนที่อยากใช้เวลาหนึ่งคืนหรือสองสามชั่วโมงบนตักของคนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษ เพื่อมอบสิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือการนอนหลับลงในอ้อมกอดใครสักคน ผู้คนที่เปล่าเปลี่ยวจะแวะที่คาเฟ่กอดเพื่อการสัมผัสทางกายภาพแทนที่จะกลับบ้านทันทีหลังเลิกงานและรู้สึกเหงา โดยปกติผู้คนจะต้องจ่ายเงินประมาณ 3,000 เยน (ประมาณ 721 บาท) สำหรับการกอด 20 นาที

Ohitorisama Movement เป็นเพียงภาพสะท้อนด้านหนึ่งของสังคมสมัยใหม่ กับสังคมที่ผู้คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ในอีกไม่นานนี้เทรนด์นี้จะส่งผลต่อสังคมในหลายๆ ด้าน เช่น เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และมันเป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่าเทรนด์นี้จะเติบโตต่อไปในทิศทางไหน ผู้คนจะลืมเลือนการเข้ากลุ่มไปเลยหรือในที่สุดผู้คนจะเริ่มโหยหาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น?

- เขียนและเรียบเรียงโดย กนกจันทร์ เรืองวัฒนานนท์