เด็กคนหนึ่งคลั่งไคล้ ดราก้อนบอล (Dragon Ball) และจริงจังกับการวาดมังงะโดยหวังว่า โตขึ้นเขาจะได้ไม่ต้องไปทำงาน จนสร้างความยิ่งใหญ่จากสิ่งที่เขาเขียนมายาวนานกว่า 25 ปี วันนี้ aomMONEY อยากหยิบเรื่องราวของชายผู้สร้าง ‘วันพีช’ (One Piece) อย่าง ‘เออิจิโร โอดะ’ (Eiichiro Oda) จนครองใจคนทั่วโลก มาแชร์ให้เพื่อนๆ อ่านกันครับ

ลูฟี่

‘เออิจิโร โอดะ’ ผู้วาดมังงะขวัญใจคนทั่วโลกอย่าง วันพีช วัย 48 ปี มีชีวิตคล้าย ‘ลูฟี่’ ตัวละครเอกที่เขาสรรค์สร้างขึ้นมาที่มักประกาศว่า ‘ฉันจะเป็นราชาแห่งโจรสลัดให้ได้!’ เพราะตัวโอดะเองก็ตั้งมั่นว่าจะเป็นนักวาดมังงะตั้งแต่ตอนอายุ 4 ขวบ โดยได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากการที่พ่อของเขามีงานอดิเรกคือการวาดภาพสีน้ำมันและความคิดที่ว่า “ถ้าได้เป็นคนวาดมังงะ ก็ไม่ต้องไปทำงาน”

แม้จะเป็นความเข้าใจผิดแบบเด็กๆ เพราะศิลปินมังงะก็ถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำงานหนักมากๆ แต่มันก็เป็นจังหวะที่ความฝันของเขาถูกจุดประกายขึ้นมา

ความหลงใหลในมังงะของโอดะทำให้เขาเลียนแบบตัวละครสุดโปรดหลายเรื่อง เช่น การสมัครเข้าชมรมฟุตบอลตอนอ่าน ‘กัปตันซึบาสะ’ และแรงบันดาลใจในการวาดและแต่งเรื่องราวของวันพีชนั้น ก็ได้มาจากมังงะเรื่อง ดราก้อนบอล ถึงขนาดกล่าวว่า “ไม่มีดราก้อนบอลก็ไม่มีวันพีช” เลยทีเดียว

เส้นทางสู่แกรนด์ไลน์

เออิจิโร โอดะจริงจังกับการวาดมังงะมาโดยตลอด จนกระทั่งตอนในวัย 17 ปี โอดะได้รางวัลจาก Shōnen Jump กับมังงะขนาดสั้นเรื่อง 'Wanted' ซึ่งนั้น ทำให้เขาที่ตัดสินใจลาออกจาก มหาวิทยาลัย คิวชู โทไก (Kyushu Tokai University ) ทั้ง ๆ ที่พึ่งเข้าเรียนในปีแรก เพื่อเข้าสู่เส้นทางของอาชีพนักวาดมังงะอย่างเต็มตัวในตำแหน่งผู้ช่วยนักวาดมังงะ

โอดะมีโอกาสฝากฝีมือในฐานะผู้ช่วยกับมังงะเรื่อง ‘Suizan Police Gang’, ‘Jungle King Tar-chan’ (ทาร์จัง เจ้าป่า) และ ‘Rurouni Kenshin’ (ซามูไรพเนจร) โดยระหว่างนั้นเขาก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ พัฒนาฝีมือจนได้เรื่องสั้นที่ชื่อว่า ‘Romance Dawn’ ตีพิมพ์ใน ‘Akamaru Jump’ ปี 1996 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น จนกลายมาเป็นวันพีช และได้ตีพิมพ์ตีใน Weekly Shōnen Jump ปี 1997 ในขณะที่เขามีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น

OnePiece

วันพีช เป็นเรื่องราวของเด็กน้อยนามว่า ‘มังกี้ ดี ลูฟี’ (Monkey D. Luffy) ที่มีความฝันว่าจะเป็นเจ้าแห่งโจรสลัด นำพาผู้อ่านสู่การผจญภัยที่สอดแทรกด้วยมุกตลก เรื่องราวการเติบโตของตัวละคร มีความเป็นดราม่า สอดแทรกการเมือง ตำนานต่าง ๆ เรียกได้ว่าครบรสจนได้รับความนิยมอย่างสูง และถูกตีพิมพ์ไปมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

กุมภาพันธ์ 2005 วันพีชถูกบันทึกว่าขายไป 100 ล้านเล่ม ปัจจุบันวันพีชตีพิมพ์และจำหน่ายไปแล้วกว่า 500 ล้านเล่ม ทำลายสถิติหนังสือที่ขายได้เยอะที่สุดโดยนักเขียนคนเดียวของ The Guinness World Record

นอกจากนี้ วันพีชก็ถูกสร้างเป็นอนิเมะ ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ อยู่บนสินค้าต่าง ๆ นำไปทำเป็นละครคาบูกิ และมีซีรีส์คนแสดงที่กำลังจะฉายบน Netflix สร้างชื่อเสียงและรายได้มากมายให้กับทั้งสำนักพิมพ์และตัวของโอดะเอง

โดยรายได้รวมของวันพีช ไม่ได้ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าแฟรนไชส์วันพีชมีมูลค่ามหาศาลดังนี้

ยอดขายจากมังงะ 6,000 ล้านดอลลาร์ (210,000 ล้านบาท)

ค่าลิขสิทธิ์อนิเมะและการสตรีมมิง 1,000 ล้านดอลลาร์ (35,000 ล้านบาท)

ค่าลิขสิทธิ์สินค้าต่าง ๆ 3,000 ล้านดอลลาร์ (105,000 ล้านบาท)

รายได้จากภาพยนตร์ที่ออกฉาย 120 ล้านดอลลาร์ (4,200 ล้านบาท)

ยอดขายวิดีโอเกมทั้งหมด 3,600 ล้านดอลลาร์ (126,500 ล้านบาท)

ซึ่งความนิยมในมังงะวันพีชยังมีแนวโน้มสูงขึ้น และแพร่กระจายไปในหลายช่องทาง จนมูลค่ารวมของแฟรนไชส์วันพีช น่าจะอยู่ที่ประมาณ 21,000 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 740,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ส่วนรายได้ของโอดะนั้นก็ไม่ได้มีการเปิดเผย (ขนาดหน้าตาของโอดะในปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการเปิดเผยเลย เป็นคนที่เก็บตัวและแทบไม่มีภาพในสื่อเลย) แต่มีรายการทีวีของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า ‘Baka Furi’ ได้ลองคำนวณรายได้ของโอดะ เมื่อปี 2020 โดยแบ่งออกได้ดังนี้

ค่าต้นฉบับ หน้าละ 50,000 เยน (12,000 บาท) แต่ละตอนมีประมาณ 20 หน้า ตีพิมพ์ปีละ 48 ตอน รวมเป็น 48 ล้านเยน (11.5 ล้านบาท)

มังงะรวมเล่ม ที่จำหน่ายเล่มละประมาณ 420 เยน โดยโอดะจะได้ 10% จากยอดขายตามจำนวนเล่ม ซึ่งแต่ละปีจะขายได้ประมาณปีละ 32 ล้านเล่ม คิดเป็น 1,350 ล้านเยน (325 ล้านบาท)

ค่าธรรมเนียมใช้บทประพันธ์ดั้งเดิม (Original usage fee) คือค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้ผู้เขียนกรณีนำบทประพันธ์ไปใช้งาน หลัก ๆ จะเป็นการสร้างอนิเมะและภาพยนตร์ โดยอนิเมะจะจ่ายตอนละ 300,000 เยน (72,000 บาท) และภาพยนตร์จะจ่ายเรื่องละ 1,000,000 เยน (240,000 บาท) โดยแต่ละปีจะมีอนิเมะประมาณ 50 ตอนและภาพยนตร์อีก 1 เรื่อง รวม 16 ล้านเยน (3,800,000 บาท)

ค่าลิขสิทธิ์อื่นๆ เช่น ส่วนแบ่งจากของเล่น สินค้าที่ระลึก โมเดล ฟิกเกอร์ กาชาปอง ฯลฯ โดยรวมแล้วอยู่ราว ๆ 1,500 ล้านเยน (360 ล้านบาท)

รายได้จากต่างประเทศ ทั้งค่าลิขสิทธิ์อนิเมะและภาพยนตร์ รายได้จากมังงะและอื่นๆ ประมาณ 200 ล้านเยน (48 ล้านบาท)

รวมรายได้ต่อปีของ เออิจิโร โอดะ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,100 ล้านเยนต่อปี (750 ล้านบาท)

นามิ

อีกเรื่องโรแมนติกของเออิจิโร โอดะที่อยากหยิบมาเล่าให้ฟังคือ เขาสามารถมัดใจ ‘นามิ’ หนึ่งในตัวเอกจากมังงะที่เขาเขียน ให้กลายมาเป็นภรรยาของเขาได้ (หือ?)

เรื่องของเรื่องคือ โอดะมีภรรยาชื่อ ‘ชิอากิ อินาบะ’ (Chiaki Inaba) อดีตนางแบบและทำงานในวงการบันเทิง ทั้งคู่การพบกันครั้งแรกที่กันในงาน JumpFest ปี 2002 โดยงานวันนั้นมีการแสดงละครเวทีเรื่อง ‘One Piece Spectacle Stage’ และชิอากิผู้ชื่นชอบในมังงะวันพีช ก็ได้รับบทเป็น นามิ ต้นหนสาวแสนสวย หลังการแสดงทั้งคู่ทำความรู้จักกัน ได้ออกเดต คบหา ดูใจ กระทั่งแต่งงานกันในปี 2004 ปัจจุบันพวกเขามีลูกด้วยกัน 2 คน

หากมองดี ๆ เรื่องราวของลูฟี่นั้นก็คล้ายกับชีวิตของเออิจิโร โอดะ ในเรื่องของการที่ลูฟี่เลือกเป็นโจรสลัดที่ใครก็คิดว่าแหกกรอบแหวกแนวกว่าอาชีพทั่วไป ส่วนเขาเองก็เลือกมุ่งมั่นในเส้นทางอาชีพนักวาดมังงะซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีการแข่งขันกันเยอะมาก ทำงานหนัก กว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้นั้นต้องมีทั้งความสามารถและความอึด

เพราะเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน มังงะถูกมองว่าเป็นเพียงความบันเทิงของเด็ก มีไว้เพื่อขายของเล่นกับพิมพ์บนซองขนมขบเคี้ยว แต่โอดะเองก็ก้มหน้าสรรค์สร้างผลงานอย่างยาวนาน จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนไป ตอนนี้มังงะถูกยกย่องว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เหมือนซีรีส์หรือภาพยนตร์ และผลงานรวมถึงลายเส้นของโอดะก็กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมป็อปที่สำคัญของโลกไปแล้ว

แม้การตามหาวันพีชและขึ้นเป็น ‘เจ้าแห่งโจรสลัด’ ของลูฟี่ ยังต้องดำเนินต่อไป แต่ความแน่วแน่และผลงานของโอดะนั้นถูกพิสูจน์ผ่านผู้คนที่ชื่นชอบวันพีชทั่วโลก และคงไม่ใช่การกล่าวเกินจริงไปนักที่จะประกาศว่า เออิจิโร โอดะ คือ ‘เจ้าแห่งมังงะ’ ที่ได้ทำตามความฝันของตัวเองในวัย 4 ขวบได้เรียบร้อยแล้ว

เรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา