การเรียนพิเศษหรือติวเสริมเป็นสิ่งที่เด็กไทยและหลายประเทศคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการติวเพิ่มเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สร้างความมั่นใจและเสริมความรู้ในส่วนที่ขาดไป อาจสร้างความแตกต่างของผลลัพธ์ของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย

แม้บ้านเราจะไม่มีการเก็บสถิติที่ชัดเจนว่าการติวเสริมนี้ช่วยทำให้คะแนนสอบสูงขึ้นได้มากแค่ไหน แต่ที่อเมริกาบอกว่าการติวเสริมเพียงแค่ 20 ชั่วโมงส่วนตัวนั้นจะช่วยทำให้คะแนนสอบ SAT สูงขึ้นเฉลี่ย 112 คะแนนเลย ซึ่งคะแนนตรงนี้แม้จะไม่ใช่ทุกอย่างที่มหาวิทยาลัยใช้ตัดสินผู้เข้าสมัคร แต่มันก็สามารถสร้างความแตกต่างกับผลลัพธ์ได้อย่างมากเช่นกัน

ปัญหาคือไม่ใช่เด็กทุกคนที่สามารถเข้าถึงการติวเสริมแบบนี้ได้ นี่คือช่องว่างของการศึกษาระหว่างเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยและยากจน ซึ่งนับวันจะยิ่งกว้างและกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

ฟิล คัตเลอร์ (Phil Cutler) ก่อตั้งสตาร์ตอัป Paper ขึ้นมาในปี 2014 เพื่อช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์จากเมืองมอนทรีออลประเทศแคนาดาตั้งเป้าหมายที่จะทำให้เด็กนักเรียนทุกคนเข้าถึงการติวเสริมแบบส่วนตัวนี้ได้แบบฟรี ๆ หรือเสียเงินน้อยที่สุด

มูลค่าของบริษัทตอนนี้อยู่ที่ราว ๆ 1,500 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 51,000 ล้านบาท ล่าสุดเพิ่งระดมทุนเพิ่มไป 390 ล้านเหรียญโดยมีเจ้าใหญ่ ๆ อย่าง Google และ Softbank เข้ามาร่วมด้วย

คัตเลอร์บอกกับเว็บไซต์ CNBC ว่า

“ผมไม่เคยคิดที่จะสร้างธุรกิจขนาดใหญ่เลย ไอเดียของผมคือลองแก้ปัญหาให้กับนักเรียนที่โรงเรียนที่ผมได้ร่วมทำงานด้วยและทำสนามแข่งขันมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นดู”

ในโรงเรียนกว่า 400 แห่งทั่วเขตการศึกษาในอเมริกาเหนือใช้แพลตฟอร์มของ Paper มีติวเตอร์มากกว่า 3,000 คนเสนอการสอนแบบส่วนตัวแก่นักเรียนสำหรับหลักสูตรทุกประเภทและทุกระดับชั้นเลย มีบริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กหรือครอบครัวของเด็กเลยสักบาท เพราะ Paper ได้รับเงินจากเขตการศึกษา (เงินของรัฐบาล) ไม่ใช่จากนักเรียนนั่นเอง

จากไอเดียสู่ความเป็นไปได้

ตอนที่คัตเลอร์กำลังเรียนปริญญาตรีสาขาการศึกษาชั้นประถมวัยที่มหาวิทยาลัย McGill University เขามีโอกาสได้ติวเด็กนักเรียนในพื้นที่และได้เป็นอาจารย์เสริมให้กับโรงเรียนในเมืองมอนทรีออล สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ในตอนนั้นก็คือว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะส่วนใหญ่จะทำผลงานในโรงเรียนได้ดีกว่า ก่อนที่จะสร้างติวเตอร์ส่วนตัวด้วยซ้ำ

“ผมเริ่มเห็นระหว่างที่อยู่ในห้องเรียนแล้วว่ามันเป็นเด็กอีก 80%-90% ที่เหลือต่างหากที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เด็ก ๆ เหล่านี้ที่ไม่สามารถจ่ายค่าเรียนเสริมชั่วโมงละ 50 เหรียญได้ จะได้รับประโยชน์มากที่สุดหากได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม”

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยในปี 2013 คัตเลอร์จึงไปชวนเพื่อนคนหนึ่งชื่อว่า โรแบร์โต ซิปริอานี (Roberto Cipriani) มาช่วยกันทำความฝันตรงนี้ให้เป็นจริง ร่วมกันสร้างสตาร์ตอัปที่จะช่วยลดช่องว่างของการศึกษาและส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ซิปริอานีที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและพัฒนาซอฟต์แวร์เห็นความตั้งใจของคัตเลอร์ และเชื่อว่าผลิตภัณฑ์และแนวทางของธุรกิจจะช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้ จึงตัดสินใจมาทำงานในฐานะประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของบริษัท

ทั้งคู่ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มสำหรับติวเตอร์ชื่อว่า GradeSlam (ภายหลังมาเป็น Paper) และเข้าร่วมในโครงการ Real Ventures’ FounderFuel ซึ่งเป็นโครงการ “บ่มเพาะ” ธุรกิจที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่สตาร์ตอัปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นไอเดียให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาจนสามารถได้รับทุนสนับสนุนเริ่มต้นไปประมาณ 1.6 ล้านเหรียญ (ราว 55 ล้านบาท) ในอีกสามปีต่อมา

ในปี 2018 พวกเขาได้เริ่มทำงานกับเขตการศึกษาโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกที่ Laguna Beach Unified School District ของแคลิฟอร์เนียตอนใต้และขยายไปยังเมืองเออร์ไวน์รัฐแคลิฟอร์เนียที่อยู่ไม่ไกลออกไป

และหลังจากนั้นไม่นาน Covid-19 ก็เริ่มระบาด

การเติบโตของ Virtual Learning

สำหรับคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ช่วงปลายปี 2019 ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น โลกได้รู้จักไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดเร็วและรุนแรงจนทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นอัมพาตไปภายในเวลาไม่กี่เดือน การเดินทางหยุดชะงัก บริษัทห้ามให้พนักงานเข้าออฟฟิศ โรงเรียนหยุด และทุกอย่างก็ต้องโยกย้ายไปออนไลน์กับทั้งหมด รวมถึงการเรียนการสอนด้วย

ในอเมริกาตอนนั้นเด็กนักเรียนนักศึกษาต่างต้องหันไปพึ่งพาการเรียนออนไลน์ แม้จะมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมอบให้กับนักเรียนเพื่อเข้าถึงระบบการเรียนการสอนแบบใหม่ แต่ในครอบครัวรายได้ต่ำเงินเหล่านั้นก็ยังไม่เพียงพอ บางคนต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่เพราะของเดิมที่มีอยู่เก่าเกินไปและทำให้เวลาเชื่อมต่อกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่แล้วมีปัญหา

ตอนนั้น Paper อยู่ในจุดที่สามารถช่วยเหลือตรงนี้ได้พอดี เด็กหลาย ๆ คนที่บ้านไม่มีเงินเพื่อเรียนพิเศษเสริมก็เข้ามาในแพลตฟอร์มเพื่อเรียนเพิ่มแบบฟรี ๆ และก็ทำให้มันเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คัตเลอร์กล่าวว่า

“เราเห็นการใช้งานสูงมากจากสังคมตรงนี้ ซึ่งมันมีพลังอย่างมากเมื่อเห็นอะไรแบบนั้น”

เป้าหมายของคัตเลอร์ต่อไปคือการไปพาร์ตเนอร์กับทุกโรงเรียนรัฐบาลในอเมริกาเหนือซึ่งเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เพราะมีมากกว่า 18,000 แห่งแค่ในอเมริกาเพียงประเทศเดียว

อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องการโน้มน้าวเขตการศึกษาให้แบ่งเงินมาช่วยเหลือสนับสนุนตรงนี้ด้วย เพราะบางเขตการศึกษาก็เลือกที่จะไม่เข้าร่วมเพราะจะใช้เงินกับส่วนอื่น ๆ (อาหารกลางวัน, ความปลอดภัย ฯลฯ) หรือบางเขตก็มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานแพลตฟอร์มของ Paper โดยตอนนี้ค่าเฉลี่ยการใช้งานของเด็กอยู่ที่คนละ 40 เหรียญเท่านั้น

คัตเลอร์มองว่านี่เป็นจุดที่สมดุล ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ทำให้บริษัทอยู่รอดและมีกำไรเพียงพอ ในขณะที่มอบคุณค่าให้กับนักเรียนทุกคนด้วย

สุดท้ายแล้วปัญหาหรืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคัตเลอร์มองว่าไม่ใช่เรื่องราคาหรือตัวแพลตฟอร์มเอง แต่เป็นเรื่องของ ‘การรับรู้’ มากกว่า เขามองว่า “ท้ายที่สุดสิ่งที่ต้องเอาชนะให้ได้เมื่อกล่าวถึงเรื่องพวกนี้คือการรับรู้ ถ้านักเรียนไม่รู้ว่ามันมีอยู่ เขตการศึกษาซื้อไปแล้วแต่เอาวางไว้เฉย ๆ มันก็ไม่ดีสำหรับเรา ไม่ดีสำหรับพวกเขา เพราะฉะนั้นการสร้างการรับรู้คือสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด”