หลายคนอาจคุ้นหูกับอัตราส่วนสำคัญอย่าง P/E (หรือ PE) มาบ้างแล้ว

แล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมหุ้นที่มี P/E สูง สะท้อนว่าหุ้นแพง?
ทำไมหุ้นบางตัวมี PE สูง แต่คนถึงยังซื้ออยู่?
แล้ว PE ต่างกับ PEG อย่างไร?

บทความนี้จะพาทุกท่านไปเข้าใจ PE และ PEG ให้มากขึ้น
2 ตัวนี้ใช้ต่างกันยังไง และทำไมการรู้จักแค่ PE อย่างเดียวอาจจะไม่ได้เพียงพอ

สิ่งที่เหมือนกัน คือ PE และ PEG คือ อัตราส่วนการเงินที่สะท้อนความถูกแพงของหุ้น

PE หรือ ชื่อเต็มๆ คือ "Price to Earning Per share(EPS)”

หาได้จาก ราคาหุ้น หารด้วย กำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ มูลค่าตลาด หารด้วย กำไรสุทธิ

แยกออกเป็น 2 ประเภทคือ

Trailing PE (PE ย้อนหลัง) เป็นการคำนวณโดยใช้กำไรในอดีต
Forward PE (PE ล่วงหน้า) เป็นการคำนวณโดยใช้คาดการณ์กำไรในอนาคต

สิ่งที่เราเห็นรายงานกันทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็น PE ย้อนหลัง เพราะมันคำนวณหาได้ง่าย ตัวเลขทุกอย่างมีหมดแล้ว ติดอยู่นิดเดียวตรงที่ค่า PE แบบนี้เป็นการยึดเอาสัดส่วนการเติบโตจากอดีตมาคำนวณ

ตีเป็นความหมายว่าเรากำลังมองสิ่งที่จะเกิดขึ้น ‘เหมือนกับ’ อดีตที่ผ่านมานั่นเอง ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ความจริงเสมอไป

เพราะฉะนั้นเราควรให้น้ำหนักกับ Forward PE หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต แต่แน่นอนว่า อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ ตัวเลขนี้จึงไม่ได้ถูกต้อง 100% เป็นเพียงมุมมองหรือวิจารณญาณของแต่ละคนเท่านั้น

P/E สะท้อนว่า ถ้าเราซื้อหุ้นในวันนี้ ต้องใช้เวลากี่ปีที่กำไรจะถึงจุดคุ้มทุน หรือ ราคาหุ้นที่ซื้อวันนี้เป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิ

ดังนั้น P/E ยิ่งน้อย จึงดูดีกว่า

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นนั้นมี P/E สูงไปหรือไม่??

คำตอบคือ ควรเปรียบเทียบกับ เพื่อนที่ทำธุรกิจคล้ายๆกัน ว่าโดยเฉลี่ยมี PE ประมาณเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามถ้าบริษัทที่เราสนใจมีค่า PE ที่สูงกว่าเพื่อน ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าแพง

เราควรใช้ PEG ในการคำนวณต่อว่า บริษัทที่เราสนใจนั้น แพงไปจริงหรือไม่ เพราะการที่บริษัทมีค่า PE สูงกว่าเพื่อน อาจเป็นเพราะบริษัทนั้นมีศักยภาพในการเติบโตสูงกว่า ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่เติบโตมักจะมีค่า PE ที่สูงไปแล้ว

“PEG ใช้สำหรับหาหุ้นราคาดี มีอนาคต”

หาได้จากการเอาค่า P/E หารด้วย อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในอนาคต

เนื่องจากการหาอัตราการเติบโต เป็นการคาดการณ์ตัวเลขในอนาคต จึงต้องอาศัยความชำนาญในธุรกิจ หรือประสบการณ์พอสมควร

หากใครไม่ค่อยชำนาญ อาจใช้ค่าเฉลี่ยการเติบโตของกำไรย้อนหลัง 3-5 ปี มาคำนวณ
แล้วนำโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ มาปรับอัตราการเติบโตให้เหมาะสมอีกที

PEG เท่าไหร่ถึงควรซื้อ?

PEG > 1 คือ หุ้นมี P/E สูงกว่าศักยภาพการเติบโต หรือมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่ควรเป็น
PEG = 1 คือ หุ้นมี P/E เท่ากับศักยภาพการเติบโต หรือมีราคาที่เหมาะสม
PEG < 1 คือ หุ้นมี P/E น้อยกว่าศักยภาพการเติบโต หรือมีราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น

ดังนั้น จุดซื้อที่ได้เปรียบคือ PEG น้อยกว่า 1

และนี่ก็เป็นคำตอบว่า ทำไมนักลงทุนบางคนยอมซื้อหุ้นที่มี PE สูง

เหตุผลก็เพราะ ส่วนใหญ่พวกเขาเห็นศักยภาพการเติบโตของหุ้นนั้นๆ และคาดหวังว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปได้อีก จากศักยภาพการเติบโตนั่นเอง

สรุปคือ ทั้ง PE และ PEG เป็นตัวสะท้อนความถูกแพงของหุ้น

แต่ PEG จะใช้กับหุ้นที่มีศักยภาพเติบโต เพราะโดยส่วนใหญ่หุ้นเหล่านี้จะมี PE ที่สูงไปแล้ว
และถ้าเราดูแค่ PE อย่างเดียว เราอาจพลาดโอกาสซื้อหุ้นเติบโตเหล่านั้นไปเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม การดูแค่ PE หรือ PEG นั้นไม่เพียงพอ เราควรดูข้อมูลเชิงคุณภาพอื่นๆประกอบการลงทุนด้วยเสมอ เพราะราคาหุ้นมักถูกขับเคลื่อนด้วยหลายปัจจัยนั่นเอง

เขียนและเรียบเรียงโดย : แพร-พัทธนันท์ เตชะเสน, CISA2 เจ้าของเพจ Investment Frappe และผู้เขียนหนังสือ 'งบการเงินหุ้น ที่คุณต้องอ่าน'